การดำเนินการ 'กระทรวงการต่างประเทศ' จัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ
การดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศ จัดหาวัคซีนและยารักษาโควิด-19 มีต่อเนื่องครอบคลุมการเจรจาหลายประเทศ โดยประสานใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุข
ที่ผ่านมา ได้มีความร่วมมือกับจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ และยังอยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือ เพื่อการสรรหาวัคซีนจากอินเดีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง และไทยก็ได้รับไมตรีจิตจากหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมาด้วย
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างความร่วมมือกับ "ภูฏาน และ เยอรมนี" เป็นการเฉพาะ เนื่องจากการเจรจาเพื่อสรรหาวัคซีนส่วนใหญ่จะเป็นกับประเทศพัฒนาแล้ว แต่ภูฏานเป็นประเทศกำลังพัฒนา เป็นประเทศที่ไทยมีความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างใกล้ชิด เช่นผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ Thailand International Cooperation Agency (TICA) ด้านการบริหารทรัพยากรน้ำและการชลประทาน เป็นต้น
ส่วนเยอรมนีก็บริจาคอะไรแตกต่างจากวัคซีน คือยา Monoclonal antibody หรือแอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ออกแบบมาให้มีความจำเพาะต่อความต้องการ ใช้รักษาโควิด-19 มีทั้งแบบผสมและไม่ผสม และเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลง ยับยั้งการติดเชื้อภายในร่างกายผู้ป่วยลงได้ ผลการวิจัยพบว่า ช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสในร่างกาย ลดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตได้ต้องให้เร็วตั้งแต่ระยะแรกในการป่วย
ประเทศไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ผลักดันเจรจาความร่วมมือเชิงแลกเปลี่ยนวัคซีน (vaccine swap) กับหลายประเทศ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย และเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เห็นชอบในหลักการให้จัดทำความตกลงแลกเปลี่ยนวัคซีนระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลภูฏาน
ภูฏานประสงค์จะมอบวัคซีนของบริษัท Astra Zeneca ที่ผลิตในสวีเดน จำนวน 150,000 โดส แก่ประเทศไทย บนพื้นฐานของการส่งมอบคืนในอนาคต ตามข้อตกลงไตรภาคี ระหว่างรัฐบาลภูฏาน รัฐบาลไทย และบริษัทฯ โดยวัคซีนจำนวนดังกล่าวจะหมดอายุภายในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งกรมควบคุมโรคจะใช้ฉีดหมดภายในต้นกันยายน 2564 นี้ และมี 19,070 โดสที่หมดอายุก่อนตุลาคมแต่ได้ใช้ฉีดช่วง 22-25 สิงหาคม 2564 ไปหมดแล้วด้วย
การรับมอบยา Monoclonal antibody จำนวน 1,000-2,000 ชุด จากกระทรวงสาธารณสุขเยอรมัน เป็นการบริจาคให้ไทยโดยไม่มีเงื่อนไข
ยาดังกล่าวเป็นของบริษัท Regeneron ที่มีประสิทธิภาพสามารถลดอาการป่วยหนักและการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ได้ถึง 50-70% โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้กำหนดแนวทางการใช้และกระจายยาต่อไป รัฐบาลไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
กระบวนการขนส่งมายังไทยและส่งคืน จะขอสนับสนุนจากกองทัพอากาศ ส่วนภาษีนำเข้าและส่งออก รวมทั้งค่าธรรมเนียม ครม. ได้เห็นชอบให้การยกเว้น
สำหรับยาจากเยอรมนี ประเทศไทยในฐานะผู้รับบริจาค ไม่ต้องชำระค่าตอบแทนสำหรับยา แต่จะต้องรับผิดชอบในการรับมอบจาก Bundeswehrapotheke (ร้านขายยาทหาร) และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ค่าขนส่ง ค่าจัดเก็บ ทั้งนี้การมอบยาดังกล่าวเป็นแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยจะนำไปใช้ในโรงพยาบาลที่ได้รับการจัดสรรเท่านั้น ไม่สามารถส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นได้
การจัดทำ vaccine swap กับรัฐบาลภูฏานและการรับมอบยำรักษาโควิด-19 จากรัฐบาลเยอรมนี ในครั้งนี้ เป็นผลจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่ได้ผลักดันเชิงรุกเพื่อแสวงหาความร่วมมือกับนานาประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาทุกระดับทุกช่องทางเพื่อแสวงหาวัคซีนและยารักษาโควิด-19 จากต่างประเทศ
การดำเนินการลักษณะดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการทูตวัคซีน (vaccine diplomacy) เป็นวิธีการเจรจาระหว่างหลายประเทศทั่วโลก ตัวอย่างเช่น สองประเทศที่ทำการแลกเปลี่ยนครั้งแรกในโลก คืออิสราเอลและเกาหลีใต้ โดยอิสราเอลได้ส่งวัคซีน Pfizer จำนวน 700,000 โดสให้แก่เกาหลีใต้เป็นการเบื้องต้นในล็อตแรก
ขณะที่โรเมเนียเจรจากับเกาหลีใต้เพื่อส่งวัคซีน Moderna จำนวน 450,000 โดสให้เกาหลีใต้ เช่นกัน นอกจากนี้ ก็มีการแลกหรือหารือความเป็นไปได้เพื่อการแลกวัคซีนระหว่างประเทศต่างๆ เช่น นอร์เวย์-ลิทัวเนีย แอฟริกาใต้-อินเดีย และออสเตรเลีย-สิงค์โปร์ ซึ่งบางประเทศประสบความสำเร็จบางประเทศยัง
ในปัจจุบันยังคงมีหลายประเทศที่มีวัคซีนเกินความจำเป็น ขณะที่บางประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาขาดวัคซีน แต่ตราบใดที่ยังมีความไม่เท่าเทียมในด้านนี้ การดำเนินการการทูตวัคซีนจะยังคงมีความสำคัญต่อไป ซึ่งในบริบทนี้ กระทรวงการต่างประเทศของไทยจะไม่ละเว้นความพยายามเพื่อสรรหาวัคซีนต่อไป