ทำไมการ ‘นอกใจ’ จึงกลายเป็นปัญหาระดับชาติของจีน? จน ‘รัฐบาล’ ต้องควบคุม!

ทำไมการ ‘นอกใจ’ จึงกลายเป็นปัญหาระดับชาติของจีน? จน ‘รัฐบาล’ ต้องควบคุม!

การ “นอกใจ” ไม่ใช่แค่ปัญหาทางสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นปัญหาหลักที่ “รัฐบาลจีน” ให้ความสำคัญ เพราะนำไปสู่การทุจริตหรือคอร์รัปชันในแวดวงราชการ นอกจากนี้ยังลามไปสู่การ “หย่าร้าง” ในสังคม ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนประชากรในจีน จนรัฐจึงต้องออกกฎหมายใหม่เพื่อควบคุม

หนึ่งในประเด็นคำถามเรื่องราวสังคมจีนที่ผู้เขียนถูกถามจากคนไทยมากมายก็คือ มุมมอง “ความรัก” ของคนจีน ทัศนคติการเลือกคู่ครองว่าเขาเลือกคู่ครองกันอย่างไร? มีสเปกแบบไหน? ใช้ปัจจัยอะไรส่งผลต่อการเลือกคู่ครอง? และไฮไลท์ที่ทุกคนอยากรู้ก็คือ เรื่องการ “นอกใจ” ของคนจีน ว่าเกิดเป็นดราม่ารายวันบ่อยบนโลกออนไลน์เหมือนบ้านเราหรือไม่? ซึ่งเรื่องการนอกใจนั้น “อ้ายจง” ต้องบอกว่า ถือเป็นประเด็นระดับชาติที่รัฐบาลจีนต้องหันมาควบคุมเลยทีเดียว!

ก่อนที่เราจะมาพูดถึงเรื่องการ “นอกใจ” เรามาดูสเปกของคนจีนกันก่อนว่า เขาเลือกคู่ครองกันอย่างไร รวมถึงทัศนคติความเชื่อในปัจจุบันที่ส่งผลต่อการใช้ “ชีวิตคู่

คนจีนเชื่อว่า การแต่งงาน-การมีชีวิตคู่ถือเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญมากที่สุดในชีวิต ซึ่งเป็นความเชื่อสืบเนื่องมาตั้งแต่อดีต จึงทำให้เกิดแรงกดดันให้มีคู่ครองจากครอบครัวสูงมาก แต่เมื่อมาถึงยุคนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบททางสังคม หากอยู่กันไม่ได้ก็แยกทางกัน ซึ่งนี่ส่งผลถึงการเพิ่มประชากรของจีนตามนโยบายรัฐ

การเลือกคู่ของชาวจีน

หนุ่มสาวชาวจีนส่วนใหญ่มีสเปกในฝันกันอย่างไร ข้อมูลส่วนนี้ผู้เขียนสรุปจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ใช้ชีวิตในจีน จากการพูดคุยกับเพื่อนชาวจีน และข้อมูลผลสำรวจจาก “เจินอ้าย – ZhenAi” แพลตฟอร์มออนไลน์หาคู่ชื่อดังในประเทศจีน เมื่อช่วงปี 2563

สาวในอุดมคติของหนุ่มจีน ต้องเข้าข่าย 6 ข้อต่อไปนี้ ได้แก่

1. ผิวขาว

2. รูปร่างสูง ผอม

3. หน้าตาสวย

4. การศึกษาดี

5. อายุประมาณ 22-23 ปี มากสุดไม่เกิน 30 ปี

6. ประหยัด แม้ว่าหนุ่มจีนจะขึ้นชื่อเรื่องความใจป๋า เปย์อย่างหนักกับคู่รัก แต่พวกเขาก็อยากให้คนที่มาเป็นแฟนสาวมีความประหยัดด้วยเหมือนกัน

หนุ่มในอุดมคติของสาวจีน โดยภาพรวมไม่ค่อยต่างจากสเปกของฝ่ายชายเท่าไหร่นัก นั่นคือ
1. มองเรื่องรูปร่างสูง 
2. การศึกษาดี 
3. บุคลิกภายนอกดูดี 
4. ประหยัด 
5. หน้าที่การงานมั่นคง และนิสัยดี 
6. เอาใจเก่ง ตามใจเก่ง ซึ่งถือเป็นข้อที่สำคัญมากเลยทีเดียว

คนจีนให้ความสำคัญด้านรายได้ 

ประเด็นเรื่อง “รายได้” มีผลต่อการจีบเป็นแฟนของหนุ่มสาวชาวจีนอย่างมาก ยุคนี้เป็นยุคของความเท่าเทียมของชายหญิงในจีนอย่างแท้จริง หากดูจากตัวเลขผลสำรวจในแพลตฟอร์ม “เจินอ้าย” พบว่า ผู้ชายส่วนใหญ่ประมาณ 52% มองว่า ชายหญิงที่เป็นคู่รัก ควรหาเงินได้เท่ากันแล้วนะ กล่าวคือ ต้องช่วยกันทำมาหากินได้ 

ส่วนมุมมองของสาวจีน ตัวเลขค่อนข้างใกล้กัน แต่มุมมองต่างกันเลย คือ ประมาณ 54% ของหญิงจีนที่ตอบผลสำรวจมองว่า ชายต้องหาเงินได้มากกว่าแฟนสาว 2 เท่า ซึ่งมีอีก 30% คิดถึงขั้นที่ว่า แฟนหนุ่มที่จะคบด้วย ต้องมีรายได้มากกว่าเธอ 3 เท่าเลยนะ

ถ้าหากเดือดร้อนเรื่องเงินในขณะที่เป็นแฟนกัน คนจีนมองว่า ยืมเงินได้ ถ้าจำเป็นจริงๆ แต่ให้ยืมไม่เกิน 5,000 หยวน (ประมาณ 22,500 บาท)

ส่วนในเรื่องของระยะเวลาการคบกันในฐานะแฟน และจบด้วยเรื่องราวการแต่งงาน ส่วนใหญ่มองว่า คบกัน 3 ปี ก็แต่งงานกันได้แล้ว หากคบหากัน 3 ปีแล้วยังไม่แต่งงานกัน ก็ขออนุญาตแยกทาง

เรื่องการ “นอกใจ” ในสังคมจีน 

มาถึงจุดสำคัญกันบ้าง “คนจีนเจ้าชู้ มีปัญหาการนอกใจหรือไม่?” ความเป็นจริงแล้ว เรื่องราวของการเจ้าชู้ หรือ นอกใจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเป็นคนเชื้อชาติไหน สัญชาติใด อาศัยอยู่แห่งหนตำบลใดบนโลกใบนี้ เป็นเรื่องของพฤติกรรมและการควบคุมตนเองของแต่ละคน 

ในประเทศจีนมีปัญหาเรื่องการ “นอกใจ” ไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วง 10-20 ปีมานี้ ดังที่เราเคยได้เห็นคลิปหรือข่าวจากประเทศจีนในหน้าสื่อไทย อันมีเนื้อหาตบตีแย่งชิงทำร้ายร่างกายกันระหว่างภรรยาหลวงและภรรยาน้อย ถือเป็นไวรัล-กระแสสังคมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงสังคมออนไลน์จีนช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ ก่อนที่ “รัฐบาลจีน” จะสั่งไปที่แต่ละแพลตฟอร์มให้แบนเนื้อหาเหล่านี้เสีย เนื่องจากทำให้เกิดความวุ่นวายและสร้างบรรยากาศที่เป็นตัวอย่างไม่เหมาะสมในสังคมจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นตัวอย่างไม่ดีให้แก่คนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นอนาคตของชาติ และนี่คือจุดเริ่มต้นแรกๆ ของการจัดระเบียบโลกออนไลน์จีน ซึ่งนำมาสู่มาตรการ “ชิงหล่าง” กวาดล้างเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับบันเทิงจีน ที่เป็นประเด็นร้อนทั่วโลก ณ ขณะนี้

ปัญหาการนอกใจในจีน 

ปัญหาการนอกใจปะทุขึ้นมาสู่กระแสความสนใจของคนทั่วไปในช่วงปี 2555 หรือราว 11 ปีที่ผ่านมา เมื่อคนจีนบางส่วนเริ่มจัดแคมเปญรณรงค์ในช่วงเทศกาล “ชีซี่เจี๋ย” หรือวันวาเลนไทน์ - วันแห่งความรักของคนจีน (วันรำลึกตำนานความรักหนุ่มเลี้ยงวัวสาวทอผ้า) ติดป้ายบิลบอร์ดข้างถนนที่เมืองสือเจียจวง มณฑลเหอเป่ย รวมถึงตามสถานที่อื่นๆ และบนเว็บไซต์ ด้วยข้อความ “不要出轨情人节 让爱回家” แปลเป็นไทยว่า “ไม่ต้องการวันแห่งความรักที่เป็นวันแห่งการนอกใจ คืนความรักกลับสู่ครอบครัว (ตัวจริงของเรา) เถอะนะ"

ที่มาของแคมเปญคือ ต้องการให้วันแห่งความรักเป็นวันแห่งความรักที่แท้จริง ใครนอกใจกันก็ขอให้เลิกทำแบบนี้ซะ และในวันวาเลนไทน์ (รวมถึงวันแห่งความรักของจีน 七夕 เทศกาล ชีซี) เป็นวันที่มีสถิติการนอกใจสูงอีกด้วย

จะว่าไปคนจีนค่อนข้างกลัวกับการ “นอกใจ” ไม่น้อยทีเดียว ถึงขั้นมีสิ่งของต่างๆ ที่ห้ามให้แก่กัน เหตุจากสื่อถึงการโดนสวมเขาหรือนอกใจ ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ “หมวกสีเขียว” ที่หนุ่มจีนจะกลัวมาก แม้ปัจจุบันจะไม่ค่อยสนใจมากเท่าสมัยอดีต

“หมวกสีเขียว กลายเป็นสัญลักษณ์แทนการโดนสวมเขา เกิดขึ้นจาก 2 ตำนานหลักๆ ตำนานแรก ในสมัยจีนโบราณ สีเขียวถือเป็นสีบ่งบอกสถานะทางสังคมระดับต่ำ เป็นสีผ้าโพกศีรษะของผู้ชายที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้หญิงขายบริการ และอีกหนึ่งตำนานที่ได้รับการกล่าวถึงไม่แพ้กันคือ เคยมีหญิงงามนามหนึ่งที่มีสามีอยู่แล้ว แต่แอบไปคบหากับพ่อค้าขายผ้าในละแวกบ้านในช่วงที่สามีต้องออกไปค้าขายนอกเมืองเป็นประจำ โดยนางทำหมวกผ้าสีเขียวให้สามีสวมทุกครั้งหากต้องออกนอกเมือง เมื่อชายชู้เห็นสามีของแม่นางคนนี้สวมหมวกสีเขียว เป็นอันรู้กันว่า ไปหาหญิงงามผู้นี้ได้ ทางสะดวก“

จากงานวิจัยของศาสตราจารย์ Pan Suiming สถาบันวิจัยสังคมวิทยาทางเพศของจีน พบว่า ชายจีนมีอัตราการนอกใจสูงกว่าผู้หญิง และตามสถิติตั้งแต่ปี 2543 - 2558 อัตราการนอกใจของชายจีนอยู่ที่ 20.3% ขณะที่ผู้หญิงมีอัตราการนอกใจโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7.9% เพิ่มขึ้น 226.8% ส่วนชายจีน เพิ่ม 188.9% ในรอบ 15 ปี (2543 – 2558)

เหตุผลที่การ “นอกใจ” เป็นปัญหาระดับชาติของจีน

การนอกใจ ไม่ใช่แค่ปัญหาทางสังคม ยังเป็นปัญหาหลักที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญและนำมาเป็นประเด็นจัดระเบียบข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ มีการรายงานสอดคล้องกับการศึกษาของสถาบันวิจัยสังคมวิทยาทางเพศของจีนที่ระบุไปข้างต้น ในช่วงเวลาเดียวกันในรอบ 15 ปี 2543 - 2558 

ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐจีน มีปัญหาภรรยาน้อยสูงมาก ซึ่งถูกระบุว่า การมีภรรยาน้อย หรือภรรยานอกสมรส นำไปสู่การทุจริตหรือคอร์รัปชัน เพราะต้องการนำเงินหรือสินทรัพย์ต่างๆ ไปเอาอกเอาใจภรรยานอกสมรสเหล่านี้ ซึ่งเคยมีบางคดีเกี่ยวกับทุจริต-คอร์รัปชัน เผยถึงการได้รับสินบนของภรรยานอกสมรส-คนสนิทของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐจีนด้วย

ทำให้ปี 2550 จีนเริ่มพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นครั้งแรก โดยออกกฎให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐต้องรายงานผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานตนเอง หากมีการเปลี่ยนแปลงสถานะสมรส

ในยุคสมัยใหม่ คนจีนเริ่ม “No สน No แคร์” อยู่ได้ โดยไม่มีคู่ หรือถ้า ชีวิตคู่ ไปไม่สวย ไม่ส่งผลต่อชีวิตในทางที่ดี ก็พร้อมหย่าร้าง ไม่ดึงดัน หรือฝืนความสัมพันธ์ต่อไป (หากมีลูกด้วยกัน หลายคู่ยังคงตัดสินใจอยู่บ้านเดียวกัน เนื่องจากราคาอสังหาริมทรัพย์สูง และ ต้องการดูแลลูกไปจนกว่าลูกจะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย แล้วจึงค่อยแยกทางกันอย่างสมบูรณ์)

ปัญหาการ “หย่าร้าง” ในจีน

ตั้งแต่ 2542 เป็นต้นมา อัตราการหย่าร้างในจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 1.85% ในปี 2542 สูงขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ที่ราว 3.36% ในปี 2562 แต่ตั้งแต่โควิด-19 

ในปี 2563 และปีนี้ 2564 การหย่าร้างกลับมาลดน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก “กฎหมายจีนฉบับใหม่ปี 2564” กำหนดให้มีระยะเวลารอคอย 30 วัน ถึงจะได้รับการอนุมัติหย่าร้าง เพื่อให้ไปทบทวนอีกครั้งว่าอยากหย่าจริงๆ หรือไม่ และสามารถถอนคำร้องการหย่าในช่วงเวลานี้ได้ด้วย 

แต่หากอีกฝ่ายยังคงอยากที่จะหย่า ก็ต้องยื่นคำร้องอีกครั้ง ทำให้มีความซับซ้อนและยุ่งยากในการหย่าเพิ่มมากขึ้น เพราะทางรัฐจีนต้องการลดอัตราการหย่าร้าง เนื่องจากส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนประชากร 

ซึ่งการออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการหย่าร้างในครั้งนี้ของประเทศจีน มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มีความเห็นหลากหลาย แต่ที่ผู้เขียนพอจะจำได้ เมื่อครั้งไปอ่านความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ มีอยู่หนึ่งความเห็นที่ยังคงติดอยู่ในห้วงความคิดจนถึงตอนนี้คือ ผู้หญิงคนหนึ่งระบุว่า “มันยุ่งยากเกินไป เราอยากหย่า ก็ต้องได้หย่าสิ เพราะใจเราไม่อยู่กับอีกฝ่ายแล้ว โดยเฉพาะถ้าอีกฝ่ายทำผิดทางใจอย่างรุนแรง อย่างเช่น การนอกใจ…”