ศรีลังกา จากโควิดสู่วิกฤติการเงิน

ศรีลังกา จากโควิดสู่วิกฤติการเงิน

อาทิตย์ที่แล้วมีแฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” จากเชียงใหม่ส่งข้อความมาว่า ศรีลังกาเกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารและเงินตราต่างประเทศ อยากให้ช่วยวิเคราะห์ว่าปัญหาเกิดได้อย่างไร

ผมต้องขอบคุณมากเพราะรู้ว่าเศรษฐกิจศรีลังกามีปัญหาแต่ไม่ได้ตามจนทราบว่าเกิดวิกฤติ วันนี้จึงขอเขียนเรื่องนี้เพื่อตอบคำถามแฟนคอลัมน์จากเชียงใหม่และแชร์ความคิดผมเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ทุกท่านทราบ 

    ศรีลังกากับไทยผูกพันกันมายาวนานในเรื่องพุทธศาสนา ตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยที่มีพระสงฆ์จากศรีลังกาเข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนา จากนั้นพุทธศาสนาในไทยและศรีลังกาก็ใกล้ชิดกันมาตลอด มีพระจากศรีลังกามาจำพรรษาที่ประเทศไทย มีพระไทยไปศรีลังกา มีการสร้างวัดไทยในศรีลังกาซึ่งผมก็เคยไปกราบนมัสการ 

    โดยส่วนตัวผมคุ้นเคยกับคนศรีลังกา สมัยเรียนหนังสือที่อังกฤษและออสเตรเลียก็มีเพื่อนนักศึกษาเป็นคนศรีลังกา สมัยสอนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ ก็ไปศรีลังกาหลายครั้งเพื่อสัมภาษณ์นักศึกษาที่ต้องการรับทุนมาเรียนปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ ตอนอยู่ไอเอ็มเอฟก็มีเพื่อนนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นชาวศรีลังกา ตอนอยู่ที่แบงก์ชาติก็รู้จักนายธนาคารกลางจากศรีลังกา ล่าสุดตั้งแต่ปี 2011 ที่เป็นศาสตราจารย์พิเศษสอนหลักสูตรปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮิโตะสึบะชิ (Hitosubashi) ประเทศญี่ปุ่น ก็มีนักศึกษาจากศรีลังกาเป็นลูกศิษย์ ดังนั้น พอทราบว่าศรีลังกาเกิดวิกฤติจึงอดห่วงไม่ได้

    ปัญหาเศรษฐกิจของศรีลังกาเป็นผลจากสงครามกลางเมืองในประเทศ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนานถึง 26 ปี (1983-2009) ทำให้ประเทศไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม สินค้าออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าพื้นฐาน คือ ชา เสื้อผ้าและการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ เมื่อไม่มีอุตสาหกรรมในประเทศ ทุกอย่างรวมถึงน้ำมันและอาหารก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากอินเดีย ทำให้เศรษฐกิจศรีลังกาอ่อนไหวมากกับการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่จะมาใช้จ่าย

อ่านข่าว : ปฏิวัติอาหารออร์แกนิกคุกคามอุตฯใบชาศรีลังกา

นักการเมืองศรีลังกาหลังสงครามการเมืองจบก็คงเหมือนนักการเมืองไทยที่มาจากการเลือกตั้ง คือมุ่งคะแนนเสียงโดยใช้อำนาจทางการเมือง นำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทำอย่างใหญ่โต หนี้ต่างประเทศของศรีลังกาจึงเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ล่าสุดเป็น 47.3 พันล้านดอลลาร์ ณ ไตรมาสสองปีนี้ หนี้ต่างประเทศที่สูงจะนำไปสู่ปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ถ้าการลงทุนที่รัฐบาลทำไปไม่สามารถทำให้ความสามารถในการหารายได้จากการส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้น เพราะรายได้จากการส่งออกของศรีลังกามีเพียงปีละ 9-10 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมรายได้จากการท่องเที่ยว ขณะที่ประเทศต้องใช้เงินตราต่างประเทศจำนวนมากเพื่อนำเข้าสินค้า ผลคือดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศขาดดุลต่อเนื่อง 

    เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 และ 2021 สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศก็แย่ลงเป็นลำดับ  
    หนึ่ง รายได้จากการท่องเที่ยวที่เคยมีปีละ 3 พันล้านดอลลาร์ก็หายไปจากภาวะท่องเที่ยวที่หยุดชะงัก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเคยเป็นตัวสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ 
    สอง ผลผลิตภาคการเกษตรอาจลดลงกว่าครึ่งในปีนี้ จากนโยบายรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตเพื่อส่งเสริมการผลิตพืชผลเกษตรแบบธรรมชาติที่จะขายได้ในราคาสูงในตลาดโลก แต่เกษตรกรปรับตัวไม่ทัน การผลิตจึงลดลงกว่าครึ่งกระทบทั้งรายได้ การส่งออกและความเพียงพอของอาหารที่จะบริโภคในประเทศ 
    สาม การระบาดของโควิดรอบสองที่รุนแรงในปี 2021 ทำให้มีความจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะยาและเครื่องมือแพทย์ กดดันให้ประเทศขาดดุลการค้ามากขึ้น เงินรูปีจึงอ่อนค่าลงมาก การอ่อนค่าของเงินรูปีส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศปรับสูงขึ้น เพราะต้นทุนการนำเข้าสินค้าแพงขึ้น กระทบกำลังซื้อและความเป็นอยู่ของประชาชน

 

รัฐบาลแก้ปัญหาเงินเฟ้อโดยเข้าควบคุมการขายเงินดอลลาร์และให้ธนาคารพาณิชย์ขายเงินดอลลาร์ในอัตราเงินรูปีเทียบกับเงินดอลลาร์ที่แข็งกว่าที่ควรจะเป็น ผลคือผู้นำเข้าไม่สามารถซื้อเงินดอลลาร์ได้เพราะไม่มีเงินดอลลาร์ขาย การนำเข้าสินค้าจึงติดขัด เกิดภาวะสินค้าจำเป็นขาดตลาด และเมื่อรวมกับผลผลิตเกษตรที่ลดลงก็นำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหารและสินค้าจำเป็นอย่างที่เป็นข่าว

    ล่าสุด รัฐบาลได้ออกมาตรการฉุกเฉินโดยอาศัยเสียงข้างมากในสภา ใช้ทหารเข้าควบคุมโกดังสินค้า เพื่อควบคุมราคาและนำสินค้าที่จำเป็นมาขายให้กับประชาชนในราคาควบคุม แต่นี่ไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ สินค้าจะหายไปจากตลาด จะไม่มีสินค้าขาย มีแต่ป้ายราคาควบคุมให้เห็น
 
    วิกฤติในศรีลังกาจึงเป็นกรณีคลาสสิกของวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้จ่ายเกินตัวของภาครัฐที่สร้างหนี้ต่างประเทศที่สูงเกินความสามารถของประเทศที่จะชำระ ล่าสุดฐานะการคลังของประเทศขาดดุลสูงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ และเมื่อความสามารถในการหารายได้ของประเทศถูกกระทบ เช่น การท่องเที่ยว ประเทศก็ขาดเงินตราต่างประเทศที่จะชำระหนี้ รวมถึงที่จะใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้านำเข้า เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น นำประเทศสู่ภาวะขาดแคลนอาหารและสินค้าที่จำเป็น ประเมินว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกามีเพียง 2.8 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมซึ่งเพียงพอที่จะชำระค่าสินค้านำเข้าไม่ถึง 2 เดือน ขณะที่ภาระหนี้ต่างประเทศที่ศรีลังกาต้องชำระให้กับเจ้าหนี้ต่างประเทศช่วง 12 เดือนข้างหน้ามีมากถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ ชัดเจนว่าศรีลังกาคงต้องพยายามกู้เงินจากทุกทางเพื่อแก้ปัญหาและอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงวิกฤติการเงินได้ 

    ต่อคำถามว่าวิกฤติที่เกิดในศรีลังกาแก้ได้ไหม คำตอบคือได้ เพราะคนศรีลังกาที่มีความรู้ความสามารถมีมากทั้งในศรีลังกาและต่างประเทศ คนเหล่านี้มีประสบการณ์ที่สามารถช่วยประเทศได้ และที่ต้องทำในการแก้ปัญหาคงไม่พ้นสามเรื่อง 

    หนึ่ง ประชุมเจ้าหนี้ทุกรายเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันให้มีการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้หรือลดหนี้ เพื่อให้ภาระหนี้ในอนาคตของศรีลังกาเหมาะกับความสามารถในการหารายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่ลดลง
    สอง รัฐบาลยกเลิกมาตรการควบคุมต่างๆ ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน เพราะ ของที่มีขายแต่แพงจะดีกว่าไม่มีของขาย เพื่อให้เศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ แต่ที่สำคัญคือควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งเป็นต้นเหตุของวิกฤติ 
    สาม ปล่อยกู้ระยะสั้นเพิ่มเติม ให้ศรีลังกามีสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศที่จะซื้อสินค้าที่จำเป็น เพื่อผ่อนคลายภาวะขาดแคลน โดยเฉพาะอาหารและอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการลดการแพร่ระบาดของโควิด เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อได้

    ทั้งสามข้อนี้ต้องทำพร้อมกันและจะทำพร้อมกันได้ง่ายขึ้น ถ้าเป็นความร่วมมือของเจ้าหนี้ทุกคนผ่านโครงการช่วยเหลือของไอเอ็มเอฟที่จะให้เงินกู้ใหม่ภายใต้เงื่อนไขของการรักษาวินัยทางการคลังและการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะเป็นทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับ แต่ที่ต้องตระหนักคือ สมัยนี้ไม่มีนักการเมืองคนไหนอยากให้ประเทศของตนเข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟ เพราะเหมือนเป็นการประกาศให้โลกเห็นถึงความล้มเหลวของตนในการบริหารประเทศ จึงอาจจะพยายามหลีกเลี่ยงโดยวิ่งเข้าหาประเทศพี่เบิ้มเพื่อขอความช่วยเหลือแบบประเทศต่อประเทศแทน

    ในทางเศรษฐศาสตร์ ไม่มีอะไรที่จะได้มาฟรีๆ โดยไม่มีต้นทุน ดังนั้น ทางเลือกพี่เบิ้มอาจเป็นการหนีเสือแล้วไปเจอสิงโต คือ ประเทศอาจมีต้นทุนที่ต้องจ่ายที่แพงมากถึงขั้นสูญเสียอธิปไตยในดินแดนบางส่วนของประเทศ เพื่อแลกกับการช่วยเหลือ

    ดังนั้นอะไรจะเกิดขึ้นและผลจะออกมาอย่างไรคงต้องตามดู.