ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน หลักการพื้นฐานสำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจจีน
ยังคงมีข่าวและพัฒนาการออกมาอย่างต่อเนื่องสำหรับความพยายามของจีนในการจัดระเบียบอุตสาหกรรมต่างๆ จากเดิมที่เราคาดกันว่า รัฐบาลต้องการลดการผูกขาดและกีดกันทางการค้าของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่
ในกลุ่มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce)และกลุ่มสังคมออนไลน์ (Social Media) ต่างๆ เริ่มขยับไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มการศึกษา โรงเรียนกวดวิชาพิเศษ กลุ่มเอนเตอร์เทนเมนท์ เกมส์ และและสื่อบันเทิงต่างๆ และยังรวมถึงกลุ่มที่มีการเก็บข้อมูลและใช้ข้อมูลผู้บริโภคไปในทางที่อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้าต่างๆ ด้วย
ซึ่งคำศัพท์ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลาย และเป็นคำอธิบายถึงนโยบายและความพยายามต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา คือ สิ่งที่เราเรียกว่า “Common Prosperity” หรือในบริบทภาษาไทยอาจแปลได้ว่าเป็น “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” ของคนในสังคม
ประเด็นเรื่องของความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกในปีนี้ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน ชุดที่ 13 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2564 ที่มีการรองรับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 14 และหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญในแผนดังกล่าว คือ การผลักดันการแก้ไขปัญหาในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำ และแนวโน้มที่กว้างขึ้นของความแตกต่างของรายได้ระหว่างสังคมเมืองและชนบท โดยมีเป้าหมายความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันเป็นพื้นฐานสำคัญ และจะเริ่มมณฑลตัวอย่างจากมณฑลเจ้อเจียง ที่มีขนาด GDP เป็นอันดับที่ 4 ของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง เจียงซู และชานตง
อ่านข่าว : กบข.ชี้ เศรษฐกิจจีนชะลอตัวระยะสั้น มั่นใจระยะยาวยังคงแข็งแกร่ง
ความเชื่อมโยงดังกล่าวกับนโยบายต่างๆ ในการจัดระเบียบเริ่มเด่นชัดขึ้น ในช่วงเดือนที่ผ่านมาหลังจาก หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลเผยแพร่บทความเกี่ยวกับความพยายามในการควบคุมอุตสาหกรรมต่างๆ นั้นว่าเป็นต้นทุนในระยะสั้นเพื่อความเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวของเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้คำนิยามของความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
ทำให้หลายส่วนที่มีความกังวลเกี่ยวกับรากฐานความเป็นระบบสังคมนิยมของจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเพิ่มความกังวลมากขึ้นไปอีก ก่อนจะมีความพยายามในการทำความเข้าใจในภายหลังเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น ทั้งจากสื่อหนังสือพิมพ์ของรัฐฯ หรือ สุนทรพจน์ ของ ปธน. สีจิ้นผิง ในงานสัมมนา ซึ่งสรุปภาพรวมคือการทำความเข้าใจในความหมายของความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันว่าไม่ได้หมายถึงการทำให้ทุกคนเท่าเทียมตามลักษณะของแนวคิดเสมอภาคนิยม (Egalitarianism) ที่เชื่อในความเท่าเทียมกันของทุกคนในสังคม ไม่มีนโยบายการปล้นคนรวยเพื่อนำมาให้คนจนแต่อย่างใด
แต่เป็นเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ของผู้คนในสังคม และการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน ก่อให้เกิดการแบ่งปันทางโอกาส และยังคงยึดมั่นในหลักการของความโปร่งใสเป็นหลัก โดยจากการรวบรวมของสำนักข่าว Bloomberg พบว่ามีการพาดหัวข่าวเรื่องของ Common Prosperity ในสำนักพิมพ์ China’s People Daily ซึ่งเป็นสื่อของภาครัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นมากผิดปรกตินับตั้งแต่ไตรมาสที่สองเป็นต้นมา
โดยที่มาของคำว่า Common Prosperity (共同富裕)นั้นจากการสืบค้นข้อมูลพบว่ามีการพูดถึงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กันยายน 1953 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญ (Slogan) เพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับวันครบรอบปีที่ 4 ของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (วันที่ 1 ต.ค. ของทุกปี) ซึ่งแต่เดิมมักจะถูกพูดถึงควบคู่ไปกับระบบสังคมนิยมในทำนองที่ว่าระบบสังคมนิยมจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรื่องร่วมกัน (社会主义的路是农民共同富裕的路)ก่อนจะค่อยมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงยุด 1970 จากการนำของประธานาธิบดี เติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) ที่เน้นการปฏิรูปและการค่อยๆ เปิดประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเปิดโอกาสให้คนบางกลุ่มรวยขึ้นก่อน (Get Rich First) รองรับการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนถ่ายจากสังคมเกษตรกรรมไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม เพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในอนาคต
ซึ่งการที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อาจจะเป็นช่วงเวลาดังกล่าวที่เปิดโอกาสให้คนบางกลุ่มรวยขึ้นก่อนจากเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ เน้นการใช้แรงงานในช่วงต้น ไล่เรียงมาถึงการเติบโตของเทคโนโลยีและการพัฒนาสินค้าทุนในปัจจุบันที่สามารถทัดเทียมกับกลุ่มประเทศตะวันตก การขยับจากประเทศที่มีรายได้ต่ำเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง รายได้ต่อหัวของประชาชนเติบโตต่อเนื่องอย่างก้าวกระโดด
แต่จีนก็ยังคงไม่ทิ้งคำนิยามพื้นฐานที่ยังคงเน้นเรื่องของความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ดังนั้นจากนี้ไปอาจจะเป็นช่วงเวลาดังกล่าวที่ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมกันจะต้องลดลง หลังจากช่องว่างเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การเปิดโอกาสให้คนกลุ่มที่เหลือเติบโตและลดช่องว่างที่ถูกทิ้งไว้ตามคำนิยามของความเจริญรุ่งเรื่องร่วมกันจะเป็นสิ่งที่ภาครัฐฯ ให้ความน้ำหนักอย่างจริงจังนับจากนี้เป็นต้นไป
ดังนั้น กับคำถามที่ว่าความพยายามควบคุมและจัดระเบียบต่างๆ นั้นจะสิ้นสุดลงแล้วหรือยัง เราคงคาดเดาได้ว่าประเด็นดังกล่าวคงไม่น่าจะสิ้นสุดในเร็ววัน เพราะเรื่องของความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันนั้นเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบสังคมและเศรษฐกิจในจีน และจะโดนผนวกเข้าไปเป็นประเด็นสำคัญของนโยบายต่างๆ ในอนาคต
แต่ทั้งนี้ก็คงเป็นไปเพื่อความยั่งยืนในระยะยาวของเศรษฐกิจและสังคม และหากประสบความสำเร็จก็จะเพิ่มความมั่นคงและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจจีนอีกมากในอนาคต และท้ายที่สุดเราก็คงได้แต่มองดู แอบถอนหายใจ และเอาใจช่วยกันต่อไปสำหรับเศรษฐกิจไทยที่นับวันปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำมีแต่จะกว้างขึ้นกันครับ
หมายเหตุ บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ผูกพันหรือเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด