ความเท่าเทียมในการลงทุนส่วนบุคคล
เมื่อพูดถึงโลกของการลงทุนส่วนบุคคล เคยคิดกันไหมครับว่าเรื่องความเท่าเทียมและเสมอภาค เป็นสิ่งหนึ่งที่เราควรให้ความสำคัญ เรื่องนี้มีประเด็นอะไรน่าสนใจลองมาดูกัน
จากหน้าข่าวต่างๆ เราทราบว่าประเทศไทยมีนักลงทุนหน้าใหม่ใน 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้นถึงกว่า 1.15 ล้านบัญชีเลยทีเดียว ซึ่งก็มาจากปัจจัยหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น การเปิดพอร์ตแบบ DIY ผ่านแอพพลิเคชั่นที่ง่ายขึ้น คนไทยเริ่มฝึกฝีมือผ่านการซื้อ LTF RMF มั่นใจในเรื่องการลงทุนมากขึ้น ดอกเบี้ยธนาคารที่ต่ำมากสู้เงินเฟ้อไม่ไหว การเวิร์คฟรอมโฮมที่ทำให้มีเวลาว่างในการศึกษา ลองฝึกซื้อขายหุ้นที่มีเหล่า influencer ให้คำแนะนำมากมาย รวมถึงการดีดขึ้นของตลาดคริปโตที่น่าดึงดูดใจ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นคนไทยเปิดพอร์ตการลงทุนส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเยอะขนาดนี้
นอกจากนี้แล้ว ณ ข้อมูลสิ้นเดือนมิถุนายน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บอกว่า นักลงทุนรายย่อยยังมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 คิดเป็นสัดส่วน 47.18% ของมูลค่าการซื้อขายรวม เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากต้นปีอยู่ระดับ 40% ต้นๆ ซึ่งถือว่านักลงทุนรายย่อยเป็นสัดส่วนหลักที่ช่วยพยุงตลาดหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง
แล้วเกี่ยวอะไรกับความเท่าเทียม ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัย ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ผมพยายามค้นหาสัดส่วนของนักลงทุนส่วนบุคคลแยกตามเพศสภาพชายและหญิง ไม่ปรากฏว่ามีบันทึกเอาไว้ ที่ผมอยากเห็นตัวเลขเพราะผมเชื่อว่าในโลกของการลงทุน เพศชายยังเป็นเพศที่มีบทบาทในการกำกับทิศทางสูงกว่าเพศหญิง ดูง่ายๆ จากผู้บริหารสูงสุดของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ในไทย ผมประเมินคร่าวๆ คิดว่าเพศชายมากว่าเพศหญิงเยอะ
นอกจากนี้ สังคมไทยเรายังเพิ่งเริ่มให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศได้ไม่นาน สมัยก่อนบุคลากรที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำหรือมาร์เก็ตติ้งถูกหล่อหลอมขึ้นมาในโลกที่เพศสภาพถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสนิทสนมเพื่อประโยชน์ ถ้าสมัยก่อนนักลงทุนส่วนใหญ่เป็นผู้ชายก็หนีไม่พ้นที่สถาบันการลงทุนก็จะให้ความสำคัญกับมาร์เก็ตติ้งที่เป็นสตรีเพศ ซึ่งผมเชื่อว่าความคิดแบบนี้ได้ถูกทลายหายไปเยอะแล้ว แต่ผลที่เกิดขึ้นมายาวนานก็คือการเข้าถึงนักลงทุนสตรีเพศในอดีตที่ผ่านมาอาจไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร ทำให้กลายเป็นช่องว่างที่ใหญ่พอตัว เราอาจต้องมานั่งคิดกันว่าจะทำยังไงให้สตรีเพศมีบทบาทในโลกของการลงทุนมากขึ้นกว่านี้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจหรือสร้างความเชื่อมั่นให้มากขึ้น ก็อาจทำให้มีนักลงทุนสตรีเพศเพิ่มขึ้นอีกเยอะ
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของนักลงทุน “รายใหญ่” และ “รายย่อย” ปกติเวลาเราอ่านหน้าข่าวหุ้น คำว่า “ขาใหญ่” “เจ้า” มักจะโผล่มาเป็นประจำ ทำให้นักลงทุนรายย่อยเข็ดขยาดจากการโดนเทหรือปั่นหุ้นก็เยอะ อีกทั้งเรื่องของการล็อกหุ้นออกใหม่ หรือ หุ้นกู้ ต่างๆ ที่ผลตอบแทนดี แทนที่รายย่อยจะมีโอกาสได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกลับกลายเป็นว่าต้องตกเป็นเบี้ยล่างของคนกลุ่มเดิมๆ ล็อกได้ในจำนวนเยอะกว่าก่อนคนอื่นหรือในราคาดีกว่าเพื่อปล่อยตอนตลาดซื้อขายเปิดจริง
จะดีกว่าไหมถ้าหากการลงทุนถูกสร้างกลไกให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันมากขึ้น ณ ตอนนี้ระบบออโตเมชั่นหรือเทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการรายบุคคลได้ในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะสั่งอาหาร ไม่มีหรอกครับที่รายใหญ่ไหนสามารถล็อกร้านหรือล็อกคนส่งก่อนคนอื่นได้ หรือเรื่องของการสตรีมมิ่งดูหนัง ก็ไม่มีการล็อกเหมือนกัน ใครเป็นสมาชิกก็เรียกดูหนังได้พร้อมๆ กันหลายๆ คน ไม่มีปัญหา
ดังนั้น ผมว่าการลงทุนส่วนบุคคลก็ไม่ต่างจากแพลตฟอร์มการลงทุนแบบเดิมๆ อย่าง “หุ้นกู้” หรือ IPO ก็ควรที่จะถูก democratize ให้ทุกคนมีสิทธิ์ของการเข้าถึงได้เท่าเทียมกัน แน่นอนครับ ในส่วนของส่วนงานหลังบ้านต้องวุ่นวายมากขึ้น เพราะการบริการรายย่อยย่อมมีรายละเอียดที่เยอะกว่าขายรายใหญ่ ขาประจำเยอะ แต่ในโลกปัจจุบันผมเชื่อว่าไม่มีเทคโนโลยีอะไรที่แก้ไขเรื่องนี้ไม่ได้
อย่าลืมนะครับว่า การลงทุนส่วนบุคคลก็เป็นเรื่องของความเสี่ยง ที่แต่ละบุคคลพร้อมที่จะรับเพื่อสร้างโอกาสความมั่งคั่งให้กับตัวเองได้ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการกระจายความมั่งคั่ง เราก็ควรสนับสนุนให้การลงทุนทุกเรื่องมีความเท่าเทียมและเสมอภาคให้มากที่สุดครับ.