สัญญาณเตือนภัยระดับ “สีแดง” จุดแตกหักของวิกฤติภูมิอากาศโลก
สวัสดีครับ ในรอบปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ นอกจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีความรุนแรงและยืดเยื้อกว่าเดิมจากไวรัสกลายพันธุ์แล้ว
ปีนี้ยังถือได้ว่าเป็นจุดแตกหัก (Make or Break) ของผู้นำโลกที่จะต้องตัดสินใจเข้าร่วมรับมือกับภาวะฉุกเฉินของสภาพภูมิอากาศ (Global Climate Emergency) ในระดับที่มีความเข้มข้นและจริงจังมากยิ่งขึ้น จากอุณหภูมิโลกที่ไต่ระดับสูงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจากกิจกรรมของมนุษย์ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างสุดขั้วในหลายพื้นที่ (Human-Induced Climate Change) ที่ยกระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาทิ ไฟป่าที่ลุกลามไปทั่วพื้นที่ไซบีเรียกว่า 2.8 ล้านเอเคอร์ (ประมาณ 7 ล้านไร่) น้ำท่วมจากฝนตกหนักครั้งใหญ่ในรอบพันปีที่มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน ฝนตกหนักในประเทศต่างๆในยุโรปที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก และการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิใต้มหาสมุทรและความเป็นกรดของทะเล โดยรายงานของสหประชาชาติ ระบุว่ามีความเป็นไปได้สูงที่โลกเราอาจจะไม่สามารถกู้สภาวะอากาศกลับคืนสู่สภาพเดิมได้อีกต่อไป (Irreversible)
คณะกรรมการของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้ตอกย้ำถึงปัญหาดังกล่าวผ่านรายงานล่าสุดเพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศของโลกได้เข้าสู่ระดับ “สีแดง” แล้ว (Red Alert) โดยชี้ว่าภายในปี 2573 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิโลกในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเพดานที่กำหนดไว้ตั้งแต่การประชุม COP21 หรือความตกลงปารีส (Paris Agreement) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 6 ปีที่แล้ว หากเป็นไปตามนี้จริง จะเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมถึง 10 ปี
ถึงวันนี้ คงเป็นที่ทราบกันดีว่าเพราะเหตุใดโลกเราจึงเดินมาสู่เส้นทางแห่งภาวะวิกฤตเช่นนี้ แต่ปัญหาที่ยังต้องการคำตอบคือเรายังมีทางออกที่เป็นไปได้หรือไม่ ดูจากตัวเลขอาจเห็นว่าการกดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินระดับเพดานที่ 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้ในอีก 20 ปี เป็นเรื่องที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน อุณหภูมิโลกได้สูงเพิ่มขึ้นถึง 1.2 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นักวิทยาศาสตร์กว่า 200 คนจาก 65 ประเทศที่ได้ร่วมกันจัดทำรายงาน IPCC จากการทุ่มเทศึกษาข้อมูลวิจัยต่างๆ กว่า 8 ปี ได้ชี้ให้เห็นถึงทางแก้ปัญหา โดยสรุปเป็นแนวทางไว้ว่า หากแต่ละประเทศสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เรายังจะสามารถชะลออุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสได้ ไม่เพียงแค่ใน 20 ปี แต่ชะลอได้ยาวนานถึงปี 2593 หรืออีก 30 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว ซึ่งจะต้องอาศัยการเปลี่ยนผ่าน (Transition) ครั้งใหญ่ จากการเลิกพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติของสังคม อาทิ การสนับสนุนการผลิตและลงทุนในพลังงานทางเลือก การปรับเปลี่ยนวิธีการเดินทางสู่การใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้า การลดการอุดหนุนทางการเงินในอุตสาหกรรมถ่านหิน การลดการทำลายผืนป่า รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านของโลกอย่างเป็นไปได้ และเกิดผลกระทบเชิงบวกกับมวลมนุษย์และระบบนิเวศทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน
การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนในการต่อสู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความคาดหวังจากประชาคมโลกเป็นอย่างมากว่า ในการประชุม COP26 หรือการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ผู้นำจาก 196 ประเทศทั่วโลกที่จะมาร่วมงานจะสามารถผนึกกำลังกันเพื่อผลักดันให้เกิดการชะลอเวลาที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะทะลุเพดานที่ตั้งไว้ให้ได้ และหากยังไม่เริ่มทำตอนนี้ อาจจะสายเกินไปที่จะกอบกู้สภาพภูมิอากาศโลกให้กลับมาเหมือนเดิมได้อีก (Now or Never)
ภาคการธนาคารไทยซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ มีส่วนร่วมในกระบวนการต่อสู้ระดับโลกนี้ได้โดยตรง ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Low Carbon Transition) ผ่านการพิจารณาให้สินเชื่อที่มีความรับผิดชอบ คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ (Climate Finance) ซึ่งเป็นการอาศัยวิกฤตโรคระบาดให้เป็นโอกาสในการสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม (Build Back Greener) ทั้งนี้ การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเกิดผลตอบแทนทางด้านเม็ดเงินหรือด้านชื่อเสียงเท่านั้น แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีการจัดการอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง ในขณะเดียวกันยังสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับคนรุ่นหลัง ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาวต่อไปครับ