ภาพเศรษฐกิจและมุมการลงทุนปลายปี 2021
แล้วเรากำลังเข้าสู่ไตรมาสสี่ สุดท้ายของปีนี้ บทความ "มุมคิดมหภาค" จะขอฉายภาพเศรษฐกิจของภูมิภาคหลักของโลกและมุมการลงทุนปลายปี 2021 ดังนี้
ความเป็นไปของฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว (DM):
ธนาคารกลางสหรัฐ: เฟดมีแนวโน้มจะเริ่มลดการซื้อพันธบัตรหรือทำ QE Taper ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งถือว่าเร็วกว่าคาดเล็กน้อย โดยที่น่าจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือนจนสิ้นสุด QE ของรอบนี้ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 3 ปีหน้า จากการที่หลายคนมองว่าจีดีพีสหรัฐจะเติบโตน้อยกว่าคาด และอัตราเงินเฟ้อจะออกมาสูงกว่าคาด อย่างไรก็ดี อย่างไรก็ดี หากมีการสะดุดในส่วนของเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐในกลางเดือนตุลาคมนี้ ก็อาจทำให้แผนเปลี่ยนไปจากนี้ได้
ธนาคารกลางยุโรป: แม้อีซีบีจะออกตัวลด QE ก่อนเฟด โดยคริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบี ประกาศลดมูลค่าการซื้อพันธบัตรต่อเดือนในโครงการ QE ในส่วนสู้โควิด (PEPP) จากการประชุมอีซีบี วันที่ 9 กันยายน 2021 ทว่าอีซีบีน่าจะยังต้องใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจนานกว่าเฟดไปอีกอย่างน้อย 1 ปี
เยอรมัน: การเลือกตั้งผู้นำเยอรมันใหม่ในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ มีโอกาสเพิ่มขึ้นที่พรรค SPD ภายใต้การนำของโอลาฟ โชลท์ซ รัฐมนตรีคลังเยอรมัน จะได้เก้าอี้ในสภาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ มีผลในเชิงลบต่อตลาดหุ้นของเยอรมันเล็กน้อย เนื่องจากพรรค SPD เน้นรัฐสวัสดิการมากกว่าพรรค CDU ของอังเจล่า แมร์เคิล ผู้นำเยอรมันและหัวหน้าพรรค CDU อย่างไรก็ดี ผมยังมองว่าโอกาสที่อามิน ลาร์เช็ตต์ ทายาททางการเมืองของนางแมร์เคิลจะนำพรรค CDU ชนะการเลือกตั้งยังมีอยู่ไม่น้อย
ญี่ปุ่น: การสรรหาผู้นำใหม่ของญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ แน่นอนว่าจะเป็นผลดีต่อนโยบายการกระตุ้นของภาครัฐและเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงต่อไป รวมถึงธนาคารกลางญี่ปุ่นน่าจะมีแรงจูงใจมากขึ้นที่จะออกมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินใหม่ๆออกมาอีกชุดหนึ่ง อาจจะเป็นไปได้ว่าจะออกมาภายในสิ้นปีนี้หรืออย่างช้าในช่วงต้นปีหน้า
ในภาพรวม เศรษฐกิจฝั่ง DM ค่อนข้างจะเป็นบวก โดยที่มีความเสี่ยงอยู่ตรงการปรับโทนลงจาก โหมดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินอย่างสุดโต่งท่ามกลางโควิด 19 ค่อยๆกลับเข้าสู่ โหมดการใช้ดอกเบี้ยเป็นอาวุธ อย่างที่เป็นเศรษฐกิจยามปกติที่เราคุ้นเคยกัน
ฝั่งประเทศกำลังพัฒนา (EM):
จีน: นโยบายเศรษฐกิจพยายามที่จะปรับโทนจากที่ใช้มาตรการกระตุ้นภายในประเทศ อาทิ การลด RRR หรือ อัตราส่วนสำรองต่อเงินฝากที่บังคับโดยทางการ และ มาตรการดอกเบี้ยต่ำในบางจุด จากธนาคารกลางจีน มาสู่การใช้มาตรการด้านต่างประเทศ อาทิ การเปิดให้เงินทุนต่างชาติและเงินทุนจากคนรวยในประเทศไหลเข้าออกจากจีนมากขึ้น เพื่อหลักเลี่ยงฟองสบู่
รวมถึงการเริ่มปล่อยให้มีการ default ของตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของจีนให้ไม่จ่ายดอกเบี้ย
ในภาพรวม เศรษฐกิจจีนไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากวิกฤติโควิดมากนัก จึงหันมาปรับนโยบายด้านสังคม โดยการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อเน้นความเท่าเทียมของประชาชนชาวจีนทั่วประเทศ
ด้านมุมมองในการลงทุน สำหรับในไตรมาสสี่ ปี 2021 ผมยังมองว่าความร้อนแรงของตลาดหุ้นในฝั่ง DM จะลดลงจากช่วงเกือบ 9 เดือนแรกของปีนี้ ที่ตลาดหุ้น DM โดยรวมขึ้นไปประมาณร้อยละ 14-18 ทั้งนี้ ผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19 ต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในฝั่ง DM ได้ลดลงมาเป็นอย่างมาก แม้จะยังไม่นิ่งเสียทีเดียว ส่งผลให้มาตรการการกระตุ้นทั้งด้านนโยบายการเงิน และการคลังของธนาคารกลางและรัฐบาลค่อยๆมีการลดขนาดของโครงการลงเช่นกัน จะมากหรือน้อยแล้วแต่ว่าตัวเลขเศรษฐกิจรวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อ ในประเทศนั้นๆ จะออกมาดีมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ การที่กูรูหลายคนมองอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของสหรัฐและยุโรปแม้ว่าจะสูงขึ้นมากในปีนี้ ทว่ายังมองว่าปรากฏการณ์เงินเฟ้อดังกล่าวเป็นแค่เพียงชั่วคราว อันส่งผลมาจากปัจจัยราคาน้ำมัน ปัจจัยด้าน Supply Disruption และภาคบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวและค้าปลีก ที่เพิ่งเปิดเป็นครั้งแรกหลังปิดมากว่า 1 ปี
ผลกระทบทั้งหมดต่อเงินเฟ้อที่สูงแบบผิดปกติในขณะนี้ น่าจะเริ่มซาลงราวในช่วงกลางปีหน้านั้น จนสถานการณ์เศรษฐกิจน่าจะกลับมาเป็นเหมือนช่วงปกติมากขึ้น ตรงนี้ จะส่งผลให้ธนาคารกลางหลักอย่างเฟดและอีซีบี กล้าที่จะออกจากโหมด QE เร็วขึ้น จนฝั่งสหรัฐภายใต้เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีหน้า อันเป็นผลให้ตลาดหุ้นฝั่ง DM อาจต้องลดค่า P/E เฉลี่ยของตลาดลงจากช่วงวิกฤติโควิด
หากเปรียบเทียบระหว่างกัน ต้องบอกว่าเศรษฐกิจยุโรปยังไม่ได้ออกจากวิกฤติโควิดแต่อย่างใด และยังต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรที่จะไปถึงจุดนั้น ทว่าวิวัฒนาการของการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรป เป็นไปในทิศทางและด้วยความเร็วที่ดีกว่าคาด ในขณะที่ ทางสหรัฐเองถือว่าเศรษฐกิจได้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นกว่าทางยุโรปไปหนึ่งขั้นแล้ว โดยอย่างน้อยโอกาสที่จะกลับไปสู่โหมดถดถอย ถือว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ ณ ตรงนี้
กระนั้นก็ดี ยังไม่แน่นอนว่าทิศทางเศรษฐกิจจะดีเช่นนี้ขึ้นไปเรื่อยๆหรือไม่ โดยส่วนหลักต้องขึ้นกับคุณภาพการจัดการของ Delta Variants จากหน่วยงานสาธารณสุขฝั่งยุโรปในช่วงเวลาถัดไป ซึ่งตรงนี้ จะเป็นตัวบอกของแนวโน้มของตลาดหุ้นทั่วโลกในปี 2022
ส่วนด้านการลงทุนของตลาด EM เอง ในภาพรวม ก็ยังไม่น่าสนใจเท่าไหร่นัก จากการที่สถานการณ์โควิดของฝั่ง EM ยังแรงกว่า DM
สำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วงปลายปี ยังน่าจะถูกโควิดระลอกนี้และต่อไป เป็นตัวดึงทำให้เกิดความผันผวน รวมถึงฟันด์โฟลว์จากต่างชาติไม่ได้ไหลเข้าฝั่งอาเซียนมากเท่าไหร่นัก จากการที่สถานการณ์โควิดที่ดูยังหนักกว่าภูมิภาคอื่นๆของโลก.