จาก Digital Bank สู่ Digital Lending ตอบโจทย์ SMEs ไทยหรือไม่?

จาก Digital Bank สู่ Digital Lending ตอบโจทย์ SMEs ไทยหรือไม่?

Digital Banking โดยเฉพาะ Digital Lending จะสามารถตอบโจทย์ SMEs ไทยหรือไม่ มีหลายสาระน่าสนใจ แต่ประเด็นสำคัญน่าจะที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย โครงสร้างของสังคมไทยแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีผลต่อปัญหาของการให้บริการการภาคการเงิน

ตอนที่ผมเกษียณจากธนาคารกรุงไทยเมื่อหลายปีก่อน ผมได้นำเสนอความรู้ผ่านคอลัมน์นี้หลายครั้ง ถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีทางการเงินในสังคม Digital Economy ที่จะเป็น Mega Trend ที่สำคัญของโลก เพราะการทำธุรกรรมผ่านมือถือจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น E-Wallet หรือ Mobile Wallet ระบบการชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านแอพ ที่จะทำให้การใช้จ่ายซื้อของสะดวกมากยิ่งขึ้น รัฐบาลมีการพัฒนาระบบ 'พร้อมเพย์' หรือ 'พร้อมจ่าย' เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนจ่ายเงิน แจกบัตรคนจนจำนวนมากเพื่อให้ GDP ขยายตัว ธนาคารพาณิชย์ไทยปรับตัวรองรับเศรษฐกิจดิจิตอลด้วยการปิดสาขาเป็นจำนวนมาก เพราะการบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มีต้นทุนที่ถูกกว่ามาก ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ต้องไปสาขา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้นำเสนอบทวิเคราะห์เรื่อง 'Digital Bank ความท้าทายอยู่ที่การหารูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของไทย' ว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางโดยเฉพาะฝั่งเอเชีย ได้ทยอยออกเกณฑ์ใบอนุญาต Digital-Only Banking License ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของธนาคารพาณิชย์ที่สามารถทำธุรกิจการเงินได้โดยไร้สาขานั่นเอง โดยนอกเหนือจากประเทศจีนแล้ว ได้แก่สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์มุ่งส่งเสริมการแข่งขันระหว่างการให้บริการทางการเงิน เปิดโอกาสให้ธุรกิจอื่น เข้ามาแข่งขันในตลาดด้วย ตอบโจทก์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน ลดต้นทุนดำเนินงานของสาขา และที่สำคัญคือเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) จากสถาบันทางการเงินในเงื่อนไขที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า SMEs หรือกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินแบบดั้งเดิมได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ามีสาระที่น่าสนใจ ดังนี้ 1.ขอบเขตธุรกิจของ Digital Bank ในฝั่งเอเชียที่ทำการศึกษา สามารถรับฝากเงินและให้สินเชื่อกับประเภทลูกลูกค้าบางกลุ่มตามใบอนุญาต เช่นประเทศสิงคโปร์ Monetary Authority of Singapore (MAS) ได้ออกในอนุญาตแบบ DIgital Full Bank License (DFB) และ Digital Wholesale Bank License (DWB) สำหรับให้บริการกลุ่มลูกค้ารายย่อย ลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้ากลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่บุคคลรายย่อย 2.ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตของแต่ละประเทศส่วนใหญ่เน้นไปที่ธุรกิจ e-Commerce TechFin โทรคมนาคมและเทคโนโลยี รวมถึงการให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ และแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการต่อยอดธุรกิจ Digital Bank

ประเด็นที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญมากคือ ประเด็นที่ 3 เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย โครงสร้างของสังคมไทยแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีผลต่อปัญหาของการให้บริการการภาคการเงิน อาทิ ไทยยังคงเป็นสังคมเกตรกร มีจำนวนครัวเรือนเกษตรกรอยู่ราว 8.1 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 36 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งนับเป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก ไทยมีแรงงานนอกระบบเป็นจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 53.7 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด และไทยมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 10.3 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด กลุ่มประชากรตามโครงสร้างสังคมไทยดังกล่าว ส่วนใหญ่มักมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตอลอย่างอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการเข้าถึงบริการ Digital Bank รวมไปถึงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงินของสถาบันการเงินในระบบ โดยเฉพาะบริการทางด้ายสินเชื่อ

ประเด็นที่ 4. เป็นโจทย์ที่ทางการไทยพยามแก้ไขมาตลอด คือการเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคประชาชน โดยเฉพาะบริการทางด้านสินเชื่อ ปัจจุบันคนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินในด้านเงินฝากและบริการชำระเงินระดับสูง แต่การเข้าถึงสินเชื่อยังเป็นอุปสรรคใหญ่ โดยไทยยังคงมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีข้อจำกัดที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสินเชื่ออยู่มาก (Unserved และ Underserved) โดยกลุ่ม Unserved หรือกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการด้านสินเชื่อ มักติดปัญหาเรื่องรายได้ ที่ไม่แน่นอน หรือติดปัญหาทางด้านพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลสาขาการให้บริการแบบการเงินดั้งเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ในจำนวนนี้คงอยู่ในภาคเกษตรหรือแรงงานนอกระบบ

ขณะที่กลุ่ม Underseved หรือกลุ่มที่ไม่ต้องการใช้บริการสินเชื่อ อาจติดปัญหาด้านการขาดความรู้และความเข้าใจด้านการเงิน (Financial Literacy) หรือผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีในตลาด ปัจจุบันอาจมีเงื่อนที่ไม่ยืดหยุ่นและไม่ตอบโจทย์ตามความต้องการและความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ที่แท้จริงของคนกลุ่มนี้

การเกิด Digital Bank อาจสามารถเข้ามาแก้ปัญหาตรงจุดนี้ เพราะมีความพร้อมของ Ecosystem ด้านข้อมูลที่ดี โดยเฉพาะที่เป็นกลุ่ม FinTech ที่ให้บริการโทรคมนาคมแพลตฟอร์ม e-Commerce หรือ Social Network จะมีต้นทุนในการบริหารความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้น้อยกว่าสถาบันการเงินดั้งเดิม

Digital Banking โดยเฉพาะ Digital Lending จะสามารถตอบโจทย์ SMEs ไทยหรือไม่ยังมีรายละเอียดที่จะนำเสนอตอนต่อไปครับ.....