บทบาทรัสเซียในอินโดแปซิฟิก ตอนแรก ภาพรวม
รัสเซีย เป็นประเทศใหญ่ที่มีปฏิสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาค "อินโดแปซิฟิก" มาเป็นเวลานาน ทั้งที่ตามสภาพภูมิศาสตร์และความสนใจทางยุทธศาสตร์ในอดีต รัสเซียให้ความสำคัญไปที่ยุโรปและเอเชียตะวันออกมากกว่า
ความเกี่ยวข้องที่สำคัญของรัสเซียต่อภูมิภาคนี้ที่สำคัญในอดีตนั้นสืบมรดกมาจากโซเวียต โดยในยุคทศวรรษ 1960-80 โซเวียตมีความสัมพันธ์อันดีกับอินเดียและพม่าในเวลานั้น เพื่อต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐ ฯ ในมหาสมุทรอินเดีย อีกทั้งโซเวียตยังสนับสนุนประเทศคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนสู้รบเพื่อขยายอุดมการณ์คอมมิวนิสต์
หลังโซเวียตล่มสลาย รัสเซียอยู่ในภาวะสร้างชาติใหม่ ในยุค 1990 ต้องพึ่งพาชาติตะวันตกและจัดการปัญหาความมั่นคงภายในหลายประการในสมัยของอดีตประธานาธิบดี Boris Yeltsin ความสำคัญของภูมิภาคสองมหาสมุทรจึงลดลงไป มีเพียงรักษาความสัมพันธ์ผ่านการค้า รวมทั้งการค้าอาวุธเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับจีนเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่เริ่มสหัสวรรษใหม่ เพราะมีองค์ประกอบสอดคล้องหลายประการ เช่น ประธานาธิบดี Vladimir Putin ผู้นำที่มีลักษณะกึ่งอำนาจนิยม ขณะที่ระบอบคอมมิวนิสต์เป็นระบอบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งสองชาติไม่ต้องการให้สหรัฐ ฯ เป็นมหาอำนาจขั้วเดียว และรัสเซียต้องพึ่งพาจีนทางด้านเศรษฐกิจ ขณะที่จีนต้องพึ่งพารัสเซียด้านเทคโนโลยีและพลังงาน
รัสเซียให้ความสนใจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2557 ที่ความสัมพันธ์กับยุโรปและสหรัฐ ฯ เสื่อมทรามอย่างหนัก เนื่องจากการที่รัสเซียผนวกไครเมียและสนับสนุนฝ่ายแบ่งแยกดินแดนในยูเครน เป็นเหตุให้ชาติตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย นโยบาย The Turn To Asia ของรัสเซียเริ่มเป็นรูปธรรมตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าว โดยรัสเซียให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้น เช่น แถลงการณ์ Sochi Declaration 2016 ประกาศความพยายามในการเชิญอาเซียนเข้าร่วมกับสหภาพเศรษฐกิจ Eurasia ที่รัสเซียจัดตั้ง ตลอดจน เพิ่มความร่วมมือในด้านต่าง ๆ กับจีน เวียดนาม ลาว เมียนมา อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ความร่วมมือนี้เพิ่มขึ้นอีกในช่วงไวรัส COVID-19 ระบาดสองปีมานี้
ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซียฉบับใหม่ที่ประธานาธิบดี Putin ลงนามเมื่อ 2 ก.ค.64 กล่าวถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของเอเชียต่อรัสเซีย โดยเน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับอินเดียและจีน การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงกับประเทศสมาชิกอาเซียน การไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาไต้หวันและทะเลจีนใต้ แต่ก็ไม่ยอมรับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของฝ่าย QUAD และแนวทางจัดระเบียบโลกของสหรัฐ ฯ (Rules-Based Order)
ในยุทธศาสตร์ฉบับปี 2564 นี้ ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเอเชียที่ไม่ปรากฏในฉบับปี 2558 อย่างน้อย 2 ประเด็นคือ การให้ความสำคัญต่อ ความเป็นหุ้นส่วนแห่งมหายูเรเซีย (The Great Eurasia) ที่รัสเซียพึ่งจัดตั้งขึ้นในปีนี้ โดยเป็นพัฒนาการขององค์กรความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นของสหภาพเศรษฐกิจ Eurasia และฉบับใหม่นี้ยังเน้นย้ำการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน สองคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอัฟกานิสถานที่กลุ่มตาลีบันมีแนวโน้มเป็นปรปักษ์กับรัสเซีย ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการขยายความสัมพันธ์กับเอเชียมากขึ้น และมีความร่วมมือกับจีนและอินเดียในการแก้ไขปัญหาในเอเชียกลางอย่างเป็นรูปธรรม
อนึ่ง ยุทธศาสตร์ฉบับใหม่แสดงความเป็นปรปักษ์กับสหรัฐ ฯ และ NATO อย่างเด่นชัดขึ้น ปฏิเสธโอกาสที่จะร่วมมือกับสหภาพยุโรป และให้ความสำคัญต่อปัญหาโลกร้อนและความกินดีอยู่ดีของพลเมืองรัสเซียอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ มีการประเมินว่ารัสเซียจะแสดงบทบาทเด่นด้วยตนเองในหลายโอกาส โดยไม่จำเป็นต้องควบคู่ไปกับจีนด้วย
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวสอดคล้องกับผลของการประชุม รมว.กต.อาเซียน-รัสเซีย วาระพิเศษครบรอบ 25 ปีสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่าง 2 ฝ่ายเมื่อ 6 กค.64 ที่เห็นพ้องกันในการร่วมต่อต้านการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 การส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวระหว่างกัน ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย และความพยายามทางการทูตของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาเมียนมา
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันน้ำหนักของการดำเนินนโยบายของรัสเซียในภูมิภาคยังให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์แบบทวิภาคีเป็นหลัก เนื่องจากหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียหลายประเทศเป็นปรปักษ์กัน เช่น จีน อินเดียและเวียดนาม ความก้าวหน้าของการพัฒนาความสัมพันธ์กับแต่ละชาติไม่เท่าเทียมกัน เช่น รัสเซียมีความร่วมมือกับเวียดนามและเมียนมาสูงกว่าชาติอื่นในอาเซียน โปรดติดตามตอนหน้าที่เกี่ยวกับจีนและอินเดียนะครับ.