สร้างมาตรฐานค่า GP ใหม่ ถ้าทำได้จริง...ก็ดีสิ
“สร้างมาตรฐานในการกำหนดค่า GP” อาจเป็นอีกหนึ่งข้อเสนอที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการที่ขายสินค้าผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade)
ข้อเสนอดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากข่าวที่ทราบกันในวงกว้างว่า หน่วยงานภาครัฐได้มีการพิจารณาเพื่อควบคุมค่า GP กับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มส่งอาหารหรือฟู้ดดิลิเวอรี่ (Food Delivery)
ค่า GP หรือ Gross Profit มีความหมายตรงตัวคือ “กำไรเบื้องต้น” แต่ค่า GP ในที่นี้มิได้หมายถึงกำไร หากแต่หมายถึง “ส่วนแบ่งการขาย” ซึ่งก็คือ ร้อยละของส่วนต่างระหว่างราคาขายปลีกในร้านค้าปลีกฯ และราคาที่ทางผู้ประกอบการส่งให้ร้านค้าปลีกฯ และหารด้วยราคาขายปลีกในร้านค้าปลีกฯ ราคาทั้งหมดที่นำมาคำนวณนี้ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
หรือกล่าวโดยง่าย ค่า GP ก็คือ ร้อยละของราคาสินค้าที่วางขายในร้านค้าปลีกฯ นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ค่า GP ของแพลตฟอร์มส่งอาหาร ก็คือเงินส่วนแบ่งจากยอดขายต่อครั้งที่เจ้าของแพลตฟอร์มส่งอาหารเรียกเก็บจากร้านอาหารเพื่อเป็นค่าดำเนินการต่าง ๆ หรือค่า GP ของร้านค้าปลีกฯ ก็คือ เงินส่วนแบ่งจากยอดขายต่อชิ้นที่ร้านค้าปลีกฯ เรียกเก็บจากผู้ประกอบการ เพื่อเป็นค่าดำเนินการ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ทางร้านค้าปลีกฯ ได้ตกลงร่วมกับผู้ประกอบการไว้
กล่าวถึงค่า GP ของร้านค้าปลีกฯ โดยมากแล้วร้านค้าปลีกฯ แต่ละแบรนด์ (Brand) จะคิดค่า GP กับผู้ประกอบการแต่ละรายไม่เท่ากัน แม้ผู้ประกอบการเหล่านั้นจะขายสินค้าประเภทเดียวกันผ่านทาง ร้านค้าปลีกฯ ก็ตาม เช่น ผู้ประกอบการ ก. และผู้ประกอบการ ข. วางขายแชมพูซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกันผ่านร้านค้าปลีกฯ แบรนด์หนึ่ง ทางร้านค้าปลีกฯ มักจะกำหนดค่า GP ให้ผู้ประกอบการทั้งสองรายไม่เท่ากัน
ปัจจัยของการกำหนดค่า GP ที่ต่างกันนั้นมีด้วยกันหลายประการ แต่หนึ่งปัจจัยสำคัญคือ ปริมาณสินค้าของผู้ประกอบการรายใดที่เป็นที่ต้องการของตลาด หรือกล่าวอีกนัยยะหนึ่งคือ ขายได้ในปริมาณที่มากกว่าในระยะเวลาที่เท่ากันเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น ก็มักจะได้รับการกำหนดค่า GP ที่ต่ำกว่า
ซึ่งโดยส่วนใหญ่สินค้าที่สามารถขายได้ในปริมาณที่มากกว่า มักจะเป็นสินค้าของผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ประกอบการรายใหญ่นั้นมีทุนทรัพย์มากพอในการทำโฆษณา (Advertising) การทำส่งเสริมการขาย (Promotion) เป็นต้น
จากตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น สมมุติว่าผู้ประกอบการ ก. เป็นผู้ประกอบการรายที่ใหญ่กว่า ผลิตแชมพูยี่ห้อ A ในขณะที่ผู้ประกอบการ ข. ผลิตแชมพูยี่ห้อ B ทางร้านค้าปลีกฯ มักจะคิดค่า GP ในการวางขายแชมพู ยี่ห้อ A ต่ำกว่าค่า GP ของการวางขายแชมพูยี่ห้อ B เช่น คิดค่า GP แชมพูยี่ห้อ A ร้อยละ 20 ของราคาขาย และคิดค่า GP แชมพูยี่ห้อ B ร้อยละ 40 ของราคาขาย
ทางร้านค้าปลีกฯ มักจะให้เหตุผลทางธุรกิจว่า เนื่องจากแชมพูยี่ห้อ A เป็นที่ต้องการของตลาดและขายออกได้เร็วกว่าแชมพูยี่ห้อ B
ข้อเสนอของบทความนี้ก็คือ หน่วยงานภาครัฐควบคุมให้ร้านค้าปลีกฯ ต้องกำหนดค่า GP ในสินค้าประเภทเดียวกันกับผู้ประกอบการทุกรายเท่ากัน แต่จะเป็นสัดส่วนของราคาขายเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับร้านค้าปลีกฯ แต่ละแบรนด์จะเป็นผู้กำหนด เน้นย้ำว่าต้องเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน เช่น แชมพูและครีมนวดผม ไม่จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน น้ำแร่และน้ำดื่มทั่วไป ไม่จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน เป็นต้น
หากสามารถควบคุมค่า GP ได้ตามข้อเสนอข้างต้น สถานการณ์ที่น่าจะเกิดตามมาก็คือ ร้านค้าปลีกฯ จะไปลดค่า GP ของผู้ประกอบการรายเล็กให้ลงมาเท่ากับค่า GP ของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะยากที่ร้านค้าปลีกฯ จะเพิ่มค่า GP ของผู้ประกอบการรายใหญ่ให้เท่ากับผู้ประกอบการรายเล็ก เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่น่าจะยินยอม และอาจไม่ส่งสินค้าเข้าไปขายผ่านร้านค้าปลีกฯ แบรนด์นั้น ๆ ก็เป็นได้
กล่าวได้ว่าข้อดีสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก หากข้อเสนอดังกล่าวนี้กระทำได้จริง คือ ผู้ประกอบการรายเล็กที่มีเหตุและผลย่อมนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนที่ลดลง (จากตัวอย่างข้างต้น ค่า GP ของผู้ประกอบการ ข. จะลดจากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 20 ของราคาขาย) ไปพัฒนาคุณภาพสินค้าของตน หรือทำการส่งเสริมการขายเพื่อผลักดันให้ความต้องการสินค้าของตนเพิ่มสูงขึ้นในตลาด ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นธรรม และที่สุดแล้วประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นย่อมตกแก่ผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม หากข้อเสนอดังกล่าวนี้กระทำได้จริง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ร้านค้าปลีกฯ จะสร้างเงื่อนไขต่าง ๆ เพิ่มขึ้นให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก เพื่อชดเชยกับรายได้ที่อาจลดลง แต่นั่นก็เป็นประเด็นที่ต้องศึกษา วิเคราะห์ และหาทางออกที่เป็นธรรมร่วมกันต่อไป