ผลสำรวจ "อุตฯ ดิจิทัลไทย สะท้อนปรับตัวสู่สังคมดิจิทัล

ผลสำรวจ "อุตฯ ดิจิทัลไทย สะท้อนปรับตัวสู่สังคมดิจิทัล

เปิดผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ประจำปี 2563 ทั้ง 3 อุตสาหกรรมหลัก ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ และบริการด้านดิจิทัล พบ สังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราเริ่มเข้าสู่สังคมดิจิทัลมากขึ้น

สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa โดย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานฯ แถลงผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล ประจำปี 2563 ซึ่งเป็น การสำรวจมูลค่าอุตสาหกรรมในสามกลุ่มคือ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ และบริการด้านดิจิทัล

การสำรวจข้อมูลครั้งนี้ สถาบันไอเอ็มซี ซึ่งผมทำงานอยู่นั้นได้สำรวจฯ ให้กับ depa ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ช่วงปีแรกๆ ของการสำรวจเน้นสุ่มตัวอย่างและส่งแบบสอบถาม แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ การสำรวจมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเนื่องด้วยข้อมูลภาครัฐมีการเปิดเผยมากขึ้น

ผู้วิจัยจึงสามารถใช้ข้อมูลขนาดใหญ่จากหน่วนงานต่างๆ เช่น ข้อมูลงบการเงิน ข้อมูลการนำเข้าส่งออก ข้อมูลการจ้างงาน ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมมาใช้ในการประเมินสถานภาพอุตสาหกรรม และเขื่อมั่นว่าในปีต่อๆ ไปเมื่อข้อมูลเริ่มดีขึ้นและมีการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ มากชึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลในเรื่องต่างๆ ก็จะมีความแม่นยำยิ่งขึ้น และนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้นได้
 

ผลสำรวจมูลค่าอุตสาหกรรมทั้ง 3 ด้านปี 2563 พบ มีการเติบโตต่อเนื่องถึง 7.76% สวนทางภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ กล่าวคือ มูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลเพิ่มจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 603,695 ล้านบาท เป็น 650,514 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลเติบโตมากถึง 44.42% มูลค่า 244,836 ล้านบาท แต่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ กลับมีมูลค่าลดลงเหลือ 131,297 ล้านบาท (หดตัวลง 2.61%) และอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ ลดลงเหลือ 274,381 ล้านบาท (หดตัวลง 8.34%)

สาเหตุที่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มูลค่าลดลง ส่วนหนึ่งเพราะพฤติกรรมใช้ซอฟต์แวร์ของผู้บริโภคมุ่งสู่การใช้บริการ “คลาวด์คอมพิวติ้ง” มากขึ้น แทนการซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์แบบเดิม และบริการคลาวด์คอมพิวติ้งเหล่านี้มักมีผู้ให้บริการที่อยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถติดตามรายได้ที่ชัดเจนได้ แต่คาดว่า ปีนี้ที่กรมสรรพากรมีนโยบายให้บริษัทต่างประเทศเหล่านี้มาจดทะเบียนในประเทศ และมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะทำให้ได้ข้อมูลส่วนที่ขาดหายไปนี้ได้

ส่วนอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะมีผลกระทบจากเศรษฐกิจปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคลดการจัดหาอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มูลค่าลดลงไปอย่างมากคือ มูลค่าของการอุปกรณ์การเก็บข้อมูล (Storage) และเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์ (Printer) ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวโน้มของเทคโนโลยีที่ผู้บริโภคหันไปเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์คอมพิวติ้งมากขึ้น และการลดการใช้กระดาษการทำงานออนไลน์ก็ทำให้ความจำเป็นในการพิมพ์เอกสารลดน้อยลง
 

อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลในความหมายของการสำรวจครั้งนี้ จะหมายถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เราใช้บริการอยู่ เช่น แพลตฟอร์มการซื้อของออนไลน์ แพลตฟอร์มบริการการส่งสินค้า แพลตฟอร์มบริการสื่อออนไลน์ แพลตฟอร์มบริการการเงินด้าน Fin Tech แพลตฟอร์มบริการด้านการแพทย์ เป็นต้น โดยมูลค่าอุตสาหกรรมจะดูจากรายได้ของบริษัทที่ให้บริการแพลตฟอร์มเหล่านั้นโดยตรง

ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่แพลตฟอร์มเหล่านั้นมีรายได้ที่เพิ่มขี้นอย่างมากในปีที่แล้ว เพราะ สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราเข้าสู่สังคมดิจิทัลมากขึ้น คนสั่งสินค้าออนไลน์มากขึ้น ใช้บริการส่งของมากขึ้น ใช้บริการสื่อออนไลน์ รวมถึงการใช้บริการการเงินออนไลน์ ทั้งนี้ข้อมูลอุตสาหกรรมที่สำรวจยังเน้นเฉพาะบริษัทที่ทำแพลตฟอร์มแบบนี้โดยตรง แต่ยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึงธุรกิจปกติทั่วไป ที่เริ่มหันไปเพิ่มช่องทางการให้บริการออนไลน์อีกช่องทางหนี่ง ที่อาจยังไม่สามารถแยกรายได้ออกมาได้อย่างชัดเจนว่ารายได้จากบริการออนไลน์เป็นสัดส่วนมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้เพราะว่าข้อมูลงบการเงินของธุรกิจต่างๆ ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ระบุไว้

ผลการสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราเริ่มเข้าสู่สังคมดิจิทัลมากขึ้น ผู้คนหันมาใช้บริการดิจิทัลมากขึ้น และเชื่อว่าแม้ในอนาคตเราจะพ้นวิกฤติโควิดไป แต่หลายอย่างอาจไม่กลับมาแบบเดิม 100% แล้ว วิกฤติโควิดทำให้ผู้คน มีความคล่องตัวขึ้นกับการใช้ชีวิตและการทำงานออนไลน์ และจะคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีจนกลายเป็นเรื่องปกติ

แม้แต่เรื่องของ สังคมไร้เงินสด ที่เราคิดว่าอีกนานกว่าบ้านเราจะถึงจุดนั้น แต่การล็อกดาวน์ก็ทำให้การจับจ่ายใช้สอยกลายเป็นระบบออนไลน์มากขึ้น คนก็หันมาชำระเงินแบบออนไลน์ ไม่ใช้เงินสด จ่ายผ่านระบบพร้อมเพย์บ้าง โอนเงินทางธนาคารบ้าง ผ่านบัตรเครดิตบ้าง จนหลายๆ คนแทบไม่ได้จับเงินสดเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งก็ไม่แน่ว่าในอนาคตผู้คนบางส่วนอาจเริ่มมีคำถามคล้ายกับผู้คนในประเทศจีนว่า “ใช้เงินสดครั้งล่าสุดเมื่อไหร่”

ข้อมูลต่างๆ เริ่มสะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในบ้านเรามารวดเร็วกว่าที่คิดมาก คงถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องเริ่มปรับตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มที่ และจะต้องใช้อยู่ตลอดไปแม้จะพ้นวิกฤติโควิดแล้วก็ตาม