ผลของ QE tapering ที่มีต่อตลาดหุ้นไทย
ในช่วงเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นและอัตราว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาหรือ Federal reserve (Fed)
เตรียมที่จะลดระดับวงเงินในโปรแกรม Quantitative Easing (QE) หรือ QE Tapering ในช่วงปลายปีนี้ เช่นเดียวกับ ที่เคยทำ QE Tapering แล้วในปี 2013 หลังเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่ง QE Tapering ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในเชิงบวกและลบ รวมถึงส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย
ในช่วงเดือนพ.ค.ปี 2013 หลังจาก FED มีการประกาศกรอบเวลาการทำ QE Tapering ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้นไปยังตลาดพันธบัตร ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง 22.37% และใช้เวลา 97 วันในการฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับก่อนการประกาศ QE Tapering ซึ่งนานกว่าประเทศอื่น ๆ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่กล้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในขณะนั้น
หากเปรียบเทียบเหตุการณ์ในปี 2013 กับสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่าในปี 2013 ตลาดพันธบัตรรัฐบาลเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการปรับตัวของตลาดหุ้นจากเหตุการณ์ Taper tantrum ดังนั้น หากเปรียบเทียบการปรับตัวของตลาดหุ้นจากการประกาศกรอบเวลาการทำ QE Tapering สามารถอ้างอิงได้ว่าในปัจจุบันตลาดหุ้นจะมีการปรับตัวลงน้อยกว่าในปี 2013 เนื่องจากผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลของประเทศไทย 10 ปีปรับตัวขึ้น 83 bps ในช่วงต้นปี 2021 แตกต่างจากปี 2013 ที่นักลงทุนไม่มีการเตรียมพร้อมรับการทำ QE Tapering มาก่อน จึงทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมาก
นอกจากนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงหลังจากการประกาศ QE Tapering ครั้งก่อนเนื่องจากกระแสเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากประเทศไทยไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยสาเหตุที่ว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าเศรษฐกิจในประเทศไทย ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นได้เร็วกว่าไทย ซึ่งเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบันค่าเงินบาทอ่อนตัวลงแล้ว 363 bps โดยมีจุดสูงสุดที่ 33.46 บาทเมื่อกลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องจากการระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศที่รุนแรง
แต่อย่างไรก็ตาม เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงไตรมาส 4/2021 ถึงต้นปี 2022 จากการที่ Dollar Index อ่อนตัวลงจากการทำ QE Tapering ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนธ.ค. 2021 นอกจากนี้ ค่าเงินบาท ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับที่เกินกว่าค่าเฉลี่ย 200 วันถึง 166 bps นอกจากผลต่อตลาดหุ้นและค่าเงินแล้ว การทำ QE Tapering ยังส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยหลังจากการทำ QE Tapering ครั้งก่อนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของทุกประเทศอ่อนตัวลง
แม้ FED จะเตรียมประกาศมาตรการ QE Tapering ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2021 ซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ต่างจากในปี 2013 ที่เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ปัจจัยที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในช่วงหลังวิกฤติ COVID-19 คือ ภาคการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหลังวิกฤติต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์
โดยในช่วงปี 2002-2004 หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ปริมาณการส่งออกของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจาก 63.9 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. 2002 สู่ 96.1 พันล้านดอลลาร์ในช่วงปลายปี 2004 จากนั้น SET ปรับตัวขึ้นตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดย SET ปรับตัวจาก 364.55 จุดไปสู่ 668.10 จุด หรือปรับตัวขึ้นมากกว่า 80% ในเวลาเพียง 2 ปี ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2010-2012 หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงต้นปี 2021 SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนที่ปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการอ่อนค่าของเงินบาท โดยการส่งออกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีในระยะถัดไป
นอกจากนี้กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลให้ดัชนี SET ปรับตัวดีขึ้นต่อไป ในทางกลับกันภาคการบริการอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช้ากว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากในการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อภาคบริการอย่างหนัก ต่างจากวิกฤติแฮมเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น เห็นได้จากภาคบริการมีการเติบโต 0.22% เทียบกับภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว -0.55% โดยหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เศรษฐกิจไทยใช้เวลาเพียง 4 ไตรมาสในการกลับมาสู้จุดเดิมก่อนเกิดวิกฤติ
การที่ FED ทำ QE Tapering จะส่งผลทำให้ SET ปรับตัวลดลงเนื่องจากปัจจัยที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ถึงกระนั้น SET จะไม่ปรับตัวลงมากเหมือนในปี 2013 เนื่องจากตลาดหุ้นปรับตัวลงสะท้อนการทำ QE Tapering ไปแล้วในช่วงต้นปี โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลประโยชน์จากการทำ QE Tapering คือ อุตสาหกรรมการเงิน, อุตสาหกรรมเทคโนโลยี, และอุตสาหกรรมที่ทนทานต่อสภาวะตลาดผันผวน (Defensive sector) เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์จากการที่ค่าเงินเฟ้ออ่อนตัวลง ซึ่งคาดว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้จากการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและการฟื้นตัวของภาคบริการหลังจากการระบาดของ COVID-19