ยิ่งใช้ยิ่งได้ ไม่โดนไม่ปัง!ฟื้น"ช้อปดีมีคืน"สะพัดแสนห้าหมื่นล้านชัวร์
นับตั้งแต่เปิดโครงการ วันที่ 21 มิ.ย.2564 จนถึงสิ้นเดือน ส.ค.2564 โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” มีผู้สมัครใช้สิทธิเพียง 4.6 แสนสิทธิ์ จากที่ตั้งเป้าในเบื้องต้น 4 ล้านสิทธ์ และมาปรับลดลงเหลือ 1.4 ล้านสิทธิ์ คิดเป็นสัดส่วน 11.5% ของกลุ่มเป้าหมาย
ขณะที่ ผู้สมัครลงทะเบียนใช้สิทธิ 4.6 แสนสิทธิ์ แต่มาใช้สิทธิ์สะสมเพียง 68,157 คน คิดเป็นสัดส่วน 14.8% ของผู้สมัครใช้สิทธิ และเป็นเพียง 1.7% ของกลุ่มเป้าหมาย 4 ล้านสิทธิ เมื่อพิจารณายอดการใช้จ่าย ปรากฏว่า ยอดใช้จ่ายสะสมเป็นเพียง 1,352 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ 280,000 ล้านบาท และคิดเป็นการใช้สิทธิต่อคน 19,836 บาท
หากมองไปถึงสาเหตุความล้มเหลวของโครงการที่ไม่โดนใจคนไทย และ ไม่ปังเหมือนกับโครงการ “คนละครึ่ง” ปัจจัยที่ส่งผลให้ โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ล้มเหลวที่ชัดเจน ก็คือ คลำไม่ถูกเป้า เกาไม่ถูกที่คัน
แค่เริ่มต้น ก็ คลำไม่ถูกเป้า
โครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ เป็นหนึ่งในมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้สูง โดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Voucher) เบื้องต้นคาดว่าสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ชำระเงินผ่าน G-Wallet บนแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการร้านค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
“ยิ่งใช้ยิ่งได้” เป็นโครงการเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้สูง ซึ่งคนกลุ่มนี้ รู้ซึ้งถึงการใช้เงินอย่างคุ้มค่า แต่โครงการนี้ คลำไม่ถูกเป้า ไม่เข้าใจพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย เขามีกำลังซื้อมี สตังค์อยากใช้จ่าย ก็ไปตั้งเงื่อนไขมากมาย อั้นไว้ไม่ให้จับจ่ายเยอะ ผลตอบแทนคำนวณอย่างไร ก็ไม่คุ้มค่า
“ยิ่งใช้ยิ่งได้” ไม่คุ้มค่าอย่างไร? เริ่มต้นจากการเปรียบเทียบกับโครงการอื่นอย่าง โครงการ “คนละครึ่ง” ลงขัน 3,000 บาท ได้เพิ่มอีก 3,000 บาท คิดหลักการผลตอบแทน การลงทุน เห็นชัด ๆ ได้ 50% แต่ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ต้องลงทุน 60,000 บาท แต่ได้มาแค่ 7,000 บาท คณิตศาสตร์ง่าย ๆ ได้มาแค่ 11% กว่า ๆ และยังมีเงื่อนไขให้ใช้จ่ายได้วันละไม่เกิน 5,000 บาท แม้จะปรับเป็น 10,000 บาทต่อวันภายหลัง แม้จะได้ e-voucher คืน 10% ก็ไม่จูงใจให้คนกลุ่มที่มีรายได้สูง อยากจะจับจ่าย
ตัวอย่างง่าย ๆ หากอยากซื้อทีวี 20,000 บาท ภาครัฐกำหนดให้ใช้วันละ 10,000 บาท ได้สิทธิคืน e-voucher 10% = 1,000 บาท ซึ่งต้องรออีก 1 เดือน แต่ถ้าไม่ซื้อผ่านโครงการ แต่ซื้อโดยชำระผ่านบัตรเครดิต 20,000 บาท เขาจะได้สิทธิประโยชน์ จากเครดิตการ์ด จากการสะสมแต้ม ส่วนลดเพิ่มจากร้านค้าต่างๆ ซึ่งอาจได้ส่วนลดมากถึง 21% ทันที โดยไม่ต้องรอ
คลำไม่ถูกเป้า แล้ว ยัง เกาไม่ถูกที่คัน อีก
หนึ่งในเงื่อนไข โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” คือต้องซื้อผ่าน G-Wallet จากข้อมูล ETDA ล่าสุด ประชาชนจับจ่ายผ่าน Pure Wallet (โอนเงินสดเข้ากระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์) มีสัดส่วนเพียง 0.1% ในขณะที่จับจ่ายผ่านเครดิตการ์ดกว่า 40% ซึ่งในสัดส่วนนี้รวมทั้งการใช้ผ่าน Wallet ที่เชื่อมต่อบัตรเครดิตก็มีจำนวนไม่น้อย
และล่าสุด กระทรวงการคลังมีแนวคิด ที่ “เกาไม่ถูกที่คัน” ด้วยการเร่งเชื่อมแพลตฟอร์ม “ฟู้ดดีลิเวอรี่” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ แต่มาใช้สิทธิ์สะสม 68,157 คน คิดเป็น 14.8% ยอดใช้จ่ายสะสม 1,352 ล้านบาท คิดเป็นการใช้สิทธิต่อคน 19,836 บาท นี่ก็ชัดเจนกับแนวคิด “เกาไม่ถูกที่คัน” ตัวเลขก็บ่งบอกชัดเจนว่า การใช้จ่ายโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ของกลุ่มเป้าหมาย มีกำลังซื้อต่อคนใช้จ่ายสูงถึงเกือบ 20,000 บาท แต่การใช้จ่าย ฟู้ด ดีลิเวอรี่ เฉลี่ยต่อครั้งเพียง 120-150 บาท แล้วจะจูงใจให้เขาใช้จ่ายมาก ๆ ได้อย่างไร!!???!!
ฟื้น “ช้อปดีมีคืน”เงินจะสะพัด1.5แสนล้าน
กระตุ้นการจับจ่ายผ่านโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งเป็นมาตรการทางภาษีที่บุคคลสามารถนำการใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีของรอบภาษี ปีนั้น ๆ เป็นมาตรการเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้สูง และช่วยเหลือผู้ประกอบการ ร้านค้าที่จดทะเบียนในระบบ VAT โดยเป็นการซื้อสินค้าที่เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โครงการ “ช้อปดีมีคืน” ปี 2563 อาจจะยังไม่มีข้อมูลการใช้จ่าย เพราะ การกำหนดให้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2563 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2564 แต่หากอ้างอิงจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในปี 2558 และ ปี 2559 มีผู้เข้าโครงการ “ช้อปช่วยชาติ” ซึ่งเป็นโครงการลักษณะเดียวกัน ใช้จ่ายถึงกว่า 1.5 ล้านคน
สำหรับปีนี้ หากกระทรวงการคลัง เร่งพิจารณา โครงการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมากระตุ้นการจับจ่ายช่วงปลายปีต้อนรับการเปิดประเทศ โดยกำหนดให้สามารถจับจ่ายสินค้าได้ทุกประเภทโดยมีวงเงิน 100,000 บาท ในระยะเวลาอย่างน้อย 60 -75 วัน คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 150,000 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” มีเงินใช้จ่ายสะสมอยู่เพียง 1,352 ล้านบาท ดีกว่ากันเยอะ!!