“เงินหยวนดิจิทัล” ที่เป็นทั้ง "สกุลเงิน" และ "ระบบชำระเงิน"

“เงินหยวนดิจิทัล” ที่เป็นทั้ง "สกุลเงิน" และ "ระบบชำระเงิน"

เงินหยวนดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของรัฐบาลจีน เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการการเงินโลก จีนจะกลายเป็นประเทศใหญ่รายแรกๆ ที่ออกเงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC หรือ Central Bank Digital Currency)

เงินหยวนดิจิทัล ที่ออกโดยธนาคารกลางของรัฐบาลจีน เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการการเงินโลก จีน จะกลายเป็นประเทศใหญ่รายแรกๆ ที่ออกเงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC หรือ Central Bank Digital Currency) ซึ่งจีนมองมากไปกว่าความเป็นสกุลเงินดิจิทัล ที่มีค่าเทียบเท่าเงินหยวนปกติ แต่ยังรวมถึงการทำบริการการชำระเงินด้วย ดังนั้นจีนจึงใช้คำว่า DC/EP (Digital Currency / Electronic Payment) แทนที่จะเรียกแค่ว่า CBDC

หลายคนอาจสงสัยว่า เมื่อจีนเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแล้ว ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่แทบไม่ได้แตะเงินสด ชำระเงินผ่านระบบ Alipay และ WeChat ที่ครองส่วนแบ่งตลาดการชำระเงินออนไลน์ไปมากกว่า 90% ของระบบการชำระเงินในประเทศจีน จึงมีคำถามต่อไปว่า เงินหยวนดิจิทัล จะมาสร้างความแตกต่างและเกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเดิมได้เพียงใด

AliPay และ WeChat เป็นระบบในการชำระเงิน แต่เปรียบเสมือนกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่ยังต้องเอาเงินสดจริงไปฝากไว้ในบัญชี ต้องมีการเคลื่อนย้ายเงินสดหลังบ้านในระหว่างบัญชี และยังต้องมีธนบัตรเงินหยวนทั่วไป ที่ต้องพิมพ์ออกมาและเปลี่ยนมือของผู้ถือเงินสด กระเป๋าเงินดิจิทัล จะเป็นเสมือนบัญชีออนไลน์ทำให้เราเห็นยอดเงินคงเหลือ และมีบริการทำให้สามารถนำไปชำระเงินค่าสินค้าและบริการ

แต่เงินหยวนดิจิทัล จะไม่มีธนบัตรปกติทั่วไปให้ถือครอง จะเป็นรูปแบบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคาร และเป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพ (Stable coin) ผูกกับเงินหยวนปกติ กล่าวคือ หนึ่งหยวนดิจิทัลจะมีค่าเท่ากับหนึ่งหยวนทั่วไป และนำมาใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ผู้ที่ใช้ต้องมีกระเป๋าเงินดิจิทัลในการเก็บเงิน ซึ่งแอพกระเป๋าเงินนี้ จะออกโดยธนาคารพาณิชย์ หรือผู้ให้บริการระบบชำระเงินอย่าง Alipay และ WeChat นอกจากนี้ หากผู้ใช้ไม่ต้องการใช้ระบบมือถือก็ใช้บัตรสมาร์ทการ์ดเก็บเงินหยวนดิจิทัลและใช้ชำระเงินได้

ธนาคารกลางจีนจะทำหน้าที่ออกเงินหยวนดิจิทัล แต่จะส่งไปให้กับธนาคารพาณิชย์สำรองเงินไว้ เสมือนการสำรองเงินทั่วไป ซึ่งธนาคารพาณิชย์ยังทำหน้าที่เดิมในการกระจายเงินสู่ประชาชนและธุรกิจทั่วไป รวมถึงรับฝากเงินและทำธุรกรรมต่างๆ
 

ประชาชนสามารถนำเงินในบัญชีที่ตัวเองมีอยู่มาใส่ในกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่เป็นโมบายแอพในการใช้ระบบ DC/EP นี้ได้ การนำเงินหยวนดิจิทัลมาใส่กระเป๋าเงินนี้ จะต่างกับกระเป๋าเงินดิจิทัลแบบเดิมของ Alipay ที่ใช้เก็บเงินหยวนทั่วไป เพราะนั่นคือยอดเงินในบัญชี แต่กรณีนี้คือเงินสกุลดิจิทัลจริงๆ ที่อยู่ในแอพกระเป๋าเงิน ซึ่งไม่ได้ผูกอยู่กับบัญชีธนาคารใดเสมือนว่ามีธนบัตรเงินหยวนในกระเป๋าเงินของเรา

เมื่อชำระเงินหรือโอนเงินหยวนดิจิทัลไปให้กระเป๋าเงินของบุคคลอื่น และหากผู้รับชำระเงินนำหยวนดิจิทัล ย้ายกลับไปฝากเข้าบัญชีตัวเองที่อยู่ต่างธนาคารกัน ก็จะมีการเคลื่อนย้ายเงินสำรองของธนาคารต้นทาง ไปยังอีกธนาคารหนึ่งแบบออนไลน์ โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายเงินสดทั่วไปแบบเดิม เพราะเป็นเงินสกุลดิจิทัล ลดการใช้เงินสดที่เป็นธนบัตร และทำธุรกรรมได้รวดเร็วขึ้น

ปัจจุบันมีธนาคารหลายแห่งในจีน ออกโมบายแอพที่เป็นกระเป๋าเงิน เพื่อให้ลูกค้านำเงินหยวนดิจิทัลไปใช้งานได้ ขณะเดียวกัน ทาง AliPay และ WeChat ได้เพิ่มช่องทางให้ระบบชำระเงินตัวเอง สามารถจ่ายด้วยเงินหยวนดิจิทัล นอกจากจ่ายเงินจากเงินหยวนปกติ ที่มีอยู่ในบัญชี AliPay และ WeChat ในแบบเดิม

จีนใช้เวลาพัฒนาระบบเงินหยวนดิจิทัลตั้งแต่ปี 2014 โดยสถาปัตยกรรมของระบบเงิน DC/EP มีอยู่ 3 องค์ประกอบคือ หนึ่งเหรียญ สองคลังเก็บเงิน และสามศูนย์กลาง (One Coin, Two Repositories, Three Centers)

หนึ่งเหรียญหมายถึง เงินหยวนดิจิทัลกับเงินหยวนทั่วไป ที่เป็นธนบัตรมีค่าเท่ากัน มีธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตเป็นหน่วยงานที่เป็นคลังเก็บเงินดิจิทัล และมีศูนย์กลางควบคุม และประมวลผลเงินหยวนดิจิทัลอยู่สามระบบ คือ ระบบตรวจสอบ ระบบการลงทะเบียน และระบบบิ๊กดาต้า

จีนเริ่มทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัล ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วที่เมืองเซินเจิ้น ช่วงแรกมีการแจกเงินแบบสุ่มให้ทดลองใช้คนละ 200 หยวนดิจิทัล รวมทั้งสิ้น 10 ล้านหยวนดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นคนจีนแย่งลงทะเบียน เพื่อเป็นหนึ่งในผู้โชคดีที่ได้รับเงินดังกล่าว และคนจีนก็คุ้นเคยการชำระเงินผ่านมือถือ พวกเขาไม่ได้เห็นความแตกต่างในระบบหลังบ้าน ที่เปลี่ยนจากเงินหยวนปกติไปสู่เงินหยวนดิจิทัลมากนัก

แม้ปัจจุบันยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการในการใช้เงินหยวนดิจิทัล แต่การใช้งานได้ขยายไปสู่วงกว้างขึ้น ล่าสุดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการทดลองใช้ใน 7 เมืองใหญ่ และมีผู้ใช้กระเป๋าเงินหยวนดิจิทัลกว่า 20 ล้านราย มีร้านค้าต่างๆ ที่รับเงินสกุลหยวนดิจิทัล รวมเป็นการทำธุรกรรมเป็นจำนวนเงิน 34.5 พันล้านหยวน

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง ที่เราจะเห็นระบบที่สมบูรณ์แบบถูกนำมาใช้ในอนาคต และจะเป็นหนึ่งในระบบสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้งานได้จริงอย่างกว้างขวางทั้งภายในประเทศจีน รวมทั้งใช้นอกประเทศ ซึ่งอาจทำให้เงินหยวนดิจิทัล เป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ถูกนำมาชำระเงินแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐ ด้วยความที่คล่องตัวกว่า และมีเทคโนโลยีเหมาะกว่า เหมาะเป็นแพลตฟอร์มชำระเงินสำหรับโลกในยุคดิจิทัล