COVID-19 Education Disruption ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาอย่างไร?

COVID-19 Education Disruption  ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาอย่างไร?

แม้ทั่วโลกจะเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 มานานกว่า1ปีแล้วแต่หลายประเทศก็ยังเผชิญการระบาดระลอกใหม่อยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่มีการฉีดวัคซีนในวงกว้าง ภาครัฐต้องบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาดต่อเนื่องเป็นเวลานาน กระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก

โดยหนึ่งในมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบระยะยาวต่อสังคมและเศรษฐกิจ ได้แก่ มาตรการปิดโรงเรียนและการเรียนออนไลน์ เนื่องจากหลายครอบครัวเผชิญปัญหาในการปรับตัวต่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ทั้งด้านอุปกรณ์ สถานที่ หรือแม้กระทั่งความพร้อมด้านจิตใจของนักเรียน ครูอาจารย์ และผู้ปกครองเอง จึงทำให้คุณภาพของการศึกษาลดลง ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้มีนักเรียนจำนวนหนึ่งไม่สามารถศึกษาต่อได้ หรือได้รับคุณภาพการศึกษาลดลง และยังจะเป็นปัจจัยเพิ่มความเหลื่อมล้ำในประเทศ เนื่องจากครอบครัวรายได้น้อย นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล และนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการศึกษา อาจปรับตัวต่อการเรียนออนไลน์ได้ยากกว่า และยังเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศรายได้สูงกับรายได้ต่ำอีกด้วย

ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้การเรียนออนไลน์ไม่สมฤทธิ์ผล

วิกฤติโควิด-19 นอกจากจะบังคับให้นักเรียนนักศึกษาต้องปรับตัวสำหรับการเรียนในรูปแบบใหม่แล้ว ยังคงมีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาในทางอ้อมผ่านหลายช่องทางอีกด้วย ดังนี้

1.ความไม่พร้อมด้านอุปกรณ์การเรียน การเรียนผ่านช่องทางออนไลน์และช่องทางการสอนทางไกลอื่น ๆ จำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งบางครอบครัวโดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ อุปกรณ์เหล่านี้เป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูงและยังมีค่าการซ่อมบำรุงที่สูงเช่นกัน ซึ่งทำให้บางครอบครัวที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากวิกฤติโควิด-19 ไม่สามารถซื้ออุปกรณ์การเรียนที่จำเป็นได้ ถึงแม้ว่าบางครอบครัวจะมีอุปกรณ์เหล่านี้ แต่นักเรียนอาจขาดทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ที่เพียงพอสำหรับการเรียนออนไลน์โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพการศึกษาที่ได้รับเช่นกัน

2.สภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวยต่อการศึกษา เนื่องจากการเรียนทางไกลเป็นรูปแบบการเรียนใหม่ นักเรียนนักศึกษาอาจไม่สามารถปรับตัวได้ทันซึ่งจะผลกระทบต่อคุณภาพของการศึกษาที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตใจ เช่น การไม่มีสมาธิและการขาดกำลังใจในการเรียนเนื่องจากไม่ได้พบเพื่อน ๆ และครูอาจารย์โดยตรง หรืออุปสรรคในการเรียนวิชาที่เรียนทางไกลได้ลำบาก เช่น วิชาพละศึกษาและวิชาวิทยาศาสตร์ ทำให้เข้าใจบทเรียนได้ช้ากว่าการเรียนในห้องเรียน เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้นักเรียนเกิดปัญหาเรียนไม่ทันคนอื่น ๆ และเกิดอาการท้อแท้หมดกำลังใจในการเรียน ซึ่งอาจกระทบต่อผลการศึกษาได้

3.ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ วิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหดตัวอย่างมีนัยและหลายครอบครัวมีรายได้ที่ลดลง ซึ่งอาจกระทบต่อศักยภาพในการจ่ายค่าเล่าเรียนและการซื้ออุปกรณ์การเรียน โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง นอกจากนี้ นักเรียนนักศึกษาบางรายอาจจำเป็นต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อหารายได้เสริมช่วยเหลือครอบครัวหรือส่งตัวเองเรียนต่อ ซึ่งอาจทำให้การศึกษาไม่ต่อเนื่อง

4.การขาดการสนับสนุนด้านอื่นจากโรงเรียน นอกจากโรงเรียนจะเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้แล้ว ยังเป็นสถานที่ให้การสนับสนุนนักเรียนในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านโภชนาการ การปรึกษา การพยาบาล และอุปกรณ์การกีฬา ซึ่งการขาดการสนับสนุนเหล่านี้นอกจากจะทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองสูงขึ้นแล้ว ก็ยังส่งผลต่อสภาพแวดล้อมการเรียนที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพการศึกษาได้ โดยเฉพาะกับครอบครัวที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมอยู่แล้ว

5.งบประมาณสำหรับการศึกษาที่น้อยลง ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ภาครัฐต้องเร่งเยียวยาประชาชนเป็นจำนวนมาก ขณะที่การจัดเก็บรายได้ภาครัฐลดลง ทำให้รัฐบาลอาจจำเป็นต้องลดการจัดสรรงบประมาณสำหรับการศึกษาไปส่วนอื่น ๆ ซึ่งอาจกระทบต่อการสร้างและพัฒนาโรงเรียน การจ้างครูอาจารย์ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ในระยะต่อไป

คุณภาพการศึกษาที่ลดลงมีนัยต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างไร?

นอกจากผลกระทบต่อนักเรียนแล้ว ผู้ปกครองเองก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเมื่อมีการเรียนออนไลน์ เช่น อาจจำเป็นต้องออกจากงานเพื่อหาเวลาสำหรับการดูแลบุตรหลานที่เรียนอยู่ที่บ้านโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก หรือหากผู้ปกครองสามารถทำงานที่บ้านได้ก็อาจพบว่ามีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงเนื่องจากต้องแบ่งเวลาดูแลบุตรหลาน ซึ่งอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (labor force participation rate) ที่ลดลงนี้ เป็นอีกผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป

ภาครัฐควรทำอะไรบ้าง?

แม้ปัจจุบันจะมีช่องทางเรียนทางไกลอยู่แล้ว เช่น DLTV และเว็บไซต์ครูพร้อม แต่ภาครัฐก็ควรพัฒนาช่องทางเหล่านี้ต่อไปเพื่อให้ใช้งานง่ายขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น และตอบโจทย์ของครู นักเรียนและผู้ปกครอง สิ่งที่ภาครัฐควรทำต่อไป ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ทั่วถึงมากขึ้น การเพิ่มการสอนด้านทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลในหลักสูตรการเรียน มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และการเพิ่มช่องทางการสอนในหลาย ๆ ช่องทางรวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย ทั้งนี้การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อให้สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรทำในระยะสั้น ขณะที่ในระยะยาว ภาครัฐควรคำนึงถึงภาคการศึกษาสำหรับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังโควิด-19 เนื่องจากการศึกษาจะเป็นปัจจัยสำคัญให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 อีกด้วย

(คัดย่อจาก ปัณณ์ พัฒนศิริ เผยแพร่ในการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงิน)