ลุ้น "ช้อปดีมีคืน" กระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายของปี

ลุ้น "ช้อปดีมีคืน" กระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายของปี

เหลือเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์สุดท้ายจะถึงดีเดย์ “เปิดประเทศ” 1 พ.ย.2564 รับนักท่องเที่ยวนำร่อง 10 ประเทศเข้าเดินทางในประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว เป็นไปตามแผนรัฐบาลในการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปี 2564

แต่โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลในโค้งสุดท้ายนี้ จะต้องเป็นเรื่องของการเยียวยา ก่อนมุ่งสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศปีหน้า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมา ค่อนไปทางช่วยเพิ่มกำลังซื้อผู้บริโภคฐานล่าง เช่น โครงการเงินสวัสดิการภาครัฐ โครงการ “คนละครึ่ง”

แต่สำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้อ โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ดูจะไม่ตอบโจทย์ และบรรลุผล รัฐบาลควรต้องเร่งพิจารณา โครงการ “ช้อปดีมีคืน” หรือจะ rebrand เป็นชื่ออะไรก็ตาม! ที่เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการนำมาใช้โดยเร็ว

เพียงแค่โค้งสุดท้าย 2 เดือน เราจะเห็นเงินสะพัดกว่า 400,000 ล้านบาทด้วยการใช้งบประมาณเพียง 40,000 ล้านบาท ในขณะที่โครงการอื่น ๆ รัฐจะต้องใช้งบเต็ม ๆ 100% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแค่แสนล้าน

ค้าปลีกไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดเดือน ก.ค. ไปแล้ว

สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ระหว่างเดือน ม.ค.2564 ซึ่งเป็นช่วงระบาดระลอก 2 จนถึงเดือน ก.ย.2564 ผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกไทย พบว่า ภาพรวมของการ “ล็อกดาวน์” และ “เคอร์ฟิว” นับจากเดือน พ.ค. ทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือน ก.ค. ดิ่งลงลึกสุดในรอบ 16 เดือน ทุกปัจจัยและทุกภูมิภาคดัชนีลดลงกว่า 70% คิดเป็นมูลค่าหดหายกว่า 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จากจุดนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกจากเดือน ส.ค.-ก.ย. ก็เริ่มดีขึ้นตามลำดับ

การเข้าถึงวัคซีนที่เริ่มมีสัญญาณบวก ทำให้ภาครัฐมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ ธุรกิจต่างๆ เริ่มมีการออกแคมเปญทำตลาดเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้นด้วย ส่งผลให้ ภาคค้าปลีกไตรมาสสุดท้ายปี 2564 น่ากลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัว 1.2% โดยภาพรวมค้าปลีกทั้งปี 2564 น่าจะเติบโตเป็นบวก เมื่อเทียบกับการเติบโตของปี 2563 ที่ติดลบกว่า 12%

โค้งสุดท้ายเทงบแสนล้านกระตุ้นผ่านสารพัดโครงการ

รายงานล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 มีมติเห็นชอบผลการ อนุมัติงบประมาณสำหรับ 4 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 95,107ล้านบาท เพื่อส่งเสริมมาตรการลดค่าครองชีพ เสนอโดยกระทรวงการคลัง ดังนี้

1.อนุมัติงบ 8,122.3764 ล้านบาท สำหรับโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าเพิ่มเติม ครอบคลุม กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนไม่เกิน 13,537,294 คน

2.อนุมัติงบ 1,383.8814 ล้านบาท สำหรับโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ จำนวนไม่เกิน 2,306,469 คน

3.อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม 42,000 ล้านบาท สำหรับโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โดยประชาชนได้รับสิทธิสนับสนุนค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าและบริการทั่วไป รวมทั้งสามารถซื้ออาหาร และเครื่องดื่มจากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ผ่านผู้ให้บริการระบบ ขนส่งอาหาร (Food Delivery Platform) ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนทั่วไป จำนวนไม่เกิน 28 ล้านคน

4.อนุมัติงบ 3,000 ล้านบาท สำหรับโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ แก่ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีบัตรสวัสดิการของรัฐ ไม่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือไม่ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3จำนวนไม่เกิน 1 ล้านสิทธิ

ทั้งนี้ ทุกมาตรการที่เกิดขึ้นเป็นไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัว และเป็นการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการให้ลุกขึ้นได้ โดยการอนุมัติงบของ ครม. ซึ่งเป็นจำนวนงบประมาณเกือบแสนล้านบาท

“ช้อปดีมีคืน”ใช้งบประมาณแค่4หมื่นล้านเงินสะพัด4แสนล้าน

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้ชื่อมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องอยู่ 3 ปี จนมาปี 2562 มาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้ แต่ใช้มาตรการ “ชิมช้อปใช้” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแทน อย่างไรก็ตาม ในปี2563 ภาครัฐได้นำมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” กลับมาใช้อีกครั้งภายใต้การ rebranding เปลี่ยนชื่อเป็นมาตรการ “ช้อปดีมีคืน”

แม้ว่าชื่อของมาตรการจะเปลี่ยนแปลงไป แต่หลักการยังคงเหมือนเดิม คือ การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการตามวงเงินที่กำหนด ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปในส่วนของรายละเอียดโครงการ กล่าวคือ มาตรการครั้งก่อนจะกำหนดระยะเวลาให้เข้าร่วมมาตรการเพียงสั้น ๆ สูงสุดอยู่ที่ 33 วัน และวงเงินสำหรับซื้อสินค้าและบริการเพื่อลดหย่อนภาษีเพียง 15,000 บาท ต่างจากมาตรการปี 2563 ที่ให้เวลายาวนานถึง 3 เดือน และวงเงินสำหรับซื้อสินค้าและบริการสูงถึง 30,000 บาท วัตถุประสงค์ของมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” พุ่งเป้าไปที่ผู้ที่เสียภาษีบุคคลธรรมดาและมีกำลังซื้อสูงราว 4 ล้านตน

สำหรับปีนี้ อยากเห็นมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาอีกครั้ง ภายใต้วงเงินสำหรับซื้อสินค้าและบริการเพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่มเป็น 200,000 บาท หากกลุ่มเป้าหมายที่กล่าวข้างต้น 4 ล้านคน มาจับจ่ายเพียงครึ่งเดียวแค่ 2 ล้านคน ก็จะมีเงินสะพัดหมุนเข้าสู่เศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท ในช่วงเวลา 2 เดือนสุดท้ายของปี!!