ถึงเวลารัฐบาลเดินหน้า เข้าร่วมข้อตกลง ‘CPTPP’
ข้อตกลงทางการค้าความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ“ซีพีทีพีพี”ถือได้ว่าเป็นมหากาพย์เรื่องหนึ่งที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชายังไม่ตัดสินใจว่าตกลงแล้วไทยจะสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือไม่
หลายปีที่ผ่านมาไทยให้ความสนใจเข้าร่วมและมีการตั้งกรรมการศึกษาเรื่องการเข้าร่วมซีพีทีพีพีขึ้นมามากมายหลายคณะรวมทั้งการตั้งคณะกรรมการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาศึกษามีกรอบระยะเวลา 120 วันคณะกรรมการฯได้ส่งผลการศึกษาให้กับรัฐบาลตั้งแต่ปลายปีก่อนคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในเดือน ก.พ.มีมติให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่งประเทศ (กนศ.)สรุปผลการศึกษาให้ ครม.รับทราบประกอบการตัดสินใจภายใน 3 เดือน เพื่อให้ทันระยะเวลาในการยื่นการสมัครเข้าเป็นสมาชิกในเดือน ส.ค.แต่จนแล้วจนรอดเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ถูกเสนอกลับมาที่ ครม.การยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกของไทยยังดำเนินการไม่ทันในปีนี้
แน่นอนว่าเมื่อการยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกยังไม่เกิดขึ้นกระบวนการในการเจรจากับประเทศสมาชิกทั้ง 11 ประเทศก็ยังไม่ได้เริ่มต้น เมื่อ จีน สหราชอาณาจักร และล่าสุดไต้หวันให้ความสนใจในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก เงื่อนไขการเข้าร่วมซีพีทีพีพีของไทยก็จะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะจะต้องมีการเจรจากับชาติสมาชิกทุกประเทศ
ความจำเป็นที่ประเทศไทยควรจะเข้าร่วมซีพีทีพีพีไม่ได้มาจากเงื่อนไขการเจรจาที่จะเพิ่มขึ้น แต่มาจากโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่ไทยจะได้รับ นอกจากการเปิดตลาดการค้า ยังแสดงถึงความพร้อมในการยกระดับการผลิตสินค้า และบริการ ในเรื่องนี้เป็นกรณีเดียวกับประเทศจีนที่เข้าร่วมข้อตกลงนี้เพื่อขยายซัพพายเชนให้กว้างขึ้น
ที่สำคัญเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของไทยภายหลังการระบาดของโควิด-19 การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้เม็ดเงินลงทุนทางตรง (FDI) จากต่างประเทศมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การประกาศความชัดเจนในเรื่องการเข้าร่วมซีพีทีพีพีจะทำให้นักลงทุนที่กำลังตัดสินใจว่าจะเข้าไปลงทุนในไทยหรือเวียดนามตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่ามาลงทุนในไทยดีกว่า เพราะเมื่อเราอยู่ในซีพีทีพีพีเหมือนกัน ความพร้อมหลายๆด้านที่ไทยมีอยู่แล้วก็จะยิ่งดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น
ในปีหน้าที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค)ถือว่าเป็นโอกาสที่เหมาะสมมากที่ไทยจะแสดงความจำนงค์ที่จะสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของซีพีทีพีพีและขอแรงสนับสนุนจากชาติสมาชิกเอเปคที่บางส่วนเป็นสมาชิกของซีพีทีพีพีให้สนับสนุนให้ไทยสามารถเข้าเป็นสมาชิกข้อตกลงนี้ได้ในที่สุด
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนที่มีความเปราะบางกับการปรับตัว จำเป็นที่จะต้องมีการเยียวยา จะต้องมีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าร่วมแบบ“สงวนท่าที”คือขอเว้นการปฏิบัติตามข้อกำหนดของคู่เจรจา หรือสมาชิกซีพีทีพีพีในระยะแรก เพื่อให้กลุ่มอาชีพต่างๆที่จะได้รับผลกระทบสามารถปรับตัวได้ก่อนที่จะเปิดเสรีเต็มรูปแบบ
ปัจจุบันข้อตกลงซีพีทีพีพีมีสมาชิกแล้ว 11 ประเทศ มีขนาดตลาดใหญ่ด้วยประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน มีมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) กว่า 13% ของจีดีพีโลก คิดเป็นมูลค่ากว่า 420 ล้านล้านบาท มีการประมาณการว่าหลังจากที่จีนเข้าร่วมข้อตกลงนี้จะทำให้ขนาดของตลาดเพิ่มเป็น 1,900 ล้านคน ครอบคลุมประชากรโลกกว่า 25% และขนาดจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 810 ล้านล้านบาท
ถือเป็นเรื่องที่ต้องรีบตัดสินใจก่อนไทยจะตกขบวนเศรษฐกิจครั้งใหญ่...
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหากเรื่องนี้ล่าช้าเพราะ "ปัญหาทางการเมือง" พล.อ.ประยุทธ์ คงจะต้องทำให้เห็นอีกครั้งว่ามีคุณสมบัติผู้นำในเรื่องสำคัญๆ ต้องกล้าที่จะตัดสินใจโดยใช้ "เจตจำนงค์ทางการเมือง"มากกว่า "สมการทางการเมือง" โดยยึดเอาประโยชน์ในอนาคตของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ