ถอดบทเรียนความสำเร็จ ‘เด็กไทย’ แชมป์หุ่นยนต์เอเชีย
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวที่น่าดีใจและชื่นใจกับความสำเร็จของกลุ่มเยาวชนไทยที่คว้ารางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อวกาศระดับเอเชีย
การแข่งขัน The 2nd Kibo Programming Challenge ซึ่งจัดโดยองค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (NASA) เป็นการแข่งขันบังคับหุ่นยนต์ Astrobee เพื่อปฏิบัติภารกิจซ่อมแซมสถานีอวกาศ
Astrobee นั้นคือหุ่นยนต์โดรนอวกาศ เป็นหุ่นยนต์อวกาศรุ่นใหม่ที่จะนำมาใช้แทนรุ่น Spheres โดยภารกิจหลักของหุ่นยนต์ Astrobee คือการช่วยเหลือภารกิจงานวิจัยชั้นสูงในสถานีอวกาศและการซ่อมแซมสถานีอวกาศ อาทิ การขนถ่ายสิ่งของในอวกาศ การสแกนหาของโดยใช้ Tag RFID การตรวจจับสิ่งของ ซึ่งหุ่นยนต์รุ่นนี้นั้นสามารถทำงานได้ทั้งในระบบอัตโนมัติเช่นเดียวกับการควบคุมโดยตรงของนักบินอวกาศ
โดยการแข่งขันครั้งนี้กำหนดให้ผู้แข่งขันซึ่งเป็นทีมเยาวชนจากเอเชีย เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา JAVA เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ในระบบซิมูเลเตอร์ ให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายและยิงแสงเลเซอร์ได้เข้าเป้า ซึ่งทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) ทีมเยาวชนจากประเทศไทยสามารถเอาชนะทีมเยาวชนจากอีก 8 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และไต้หวัน
ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อนี้เป็นการรวมตัวกันของนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ซึ่งประกอบไปด้วย นายธฤต วิทย์วรสกุล ชั้น ม.5 นายกรปภพ สิทธิฤทธิ์ ชั้น ม.4 ด.ช.เสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์ ชั้น ม.3 โดยทีมนี้สามารถเอาชนะทีมเยาวชนอีก 176 ทีมทั่วประเทศที่จัดโดยสวทช. ภายใต้ภารกิจควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee เพื่อซ่อมแซมสถานีอวกาศที่ชำรุดเพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศไปแข่งในระดับภูมิภาค
หากลองวิเคราะห์ถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จของทีมเยาวชนไทยนี้ นอกเหนือจากความชอบส่วนตัวที่มีต่อการควบคุมหุ่นยนต์และการเขียนโค้ด (Coding) และความรู้พื้นฐานในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่ช่วยให้มีความคิดเป็นระบบแบบแผน มีตรรกะแล้ว โอกาส เครื่องมือและพื้นที่สำหรับฝึกปรือนี้ก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะความขยันในการฝึกฝนก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สามารถเอาคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้
มีความพยายามจากผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ทั้งในระดับกระทรวงและในระดับสถานศึกษาที่ตั้งใจดัน Coding และชุดทักษะ STEM (Science วิทยาศาสตร์, Technology เทคโนโลยี, Engineering วิศวกรรมศาสตร์ และ Mathematic คณิตศาสตร์) ผ่านวิชาการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ตรงใจเยาวชน เช่น การสร้างห้องเรียนหุ่นยนต์ ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ไม่ง่าย เพราะนอกจากนักเรียนที่ต้องมีความรักความชอบเป็นทุนเดิมแล้ว ผู้ปกครองยังต้องมีทุนทรัพย์ ขณะที่โรงเรียนก็ต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวก สามารถสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการรวมกลุ่มเรียนรู้ฝึกฝน ผ่านห้องเรียน STEM หรือชมรมหุ่นยนต์ เป็นต้น
แต่เดิมกระแสความชอบหุ่นยนต์ ถูกสะท้อนในระดับชมรมในโรงเรียน การถ่ายทอดความรู้นั้นเป็นไปอย่างไม่มีระเบียบแบบแผน เป็นแบบเพื่อนสอนเพื่อน พี่สอนน้อง ในปัจจุบันสังคมได้ให้ความสนใจมากขึ้นโดยกระทรวงและผู้บริหารโรงเรียนได้เข้ามามีบทบาทส่งเสริมความชอบของเยาวชนและอำนวยความสะดวกจากการตั้งห้องเรียนหุ่นยนต์ การเพิ่มวิชาทางเลือก อาทิ Coding ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มในโรงเรียนเพื่อเป็นตัวแทนทำการแข่งขันในระดับชาติ
ความรู้และทักษะที่เยาวชนได้เรียนรู้และพัฒนาจากความรักความชอบส่วนตัวนั้น ย่อมส่งผลต่อยอดทั้งในการศึกษาต่อและเส้นทางอาชีพในอนาคต ในฐานะผู้ใหญ่เราจึงควรสนับสนุนส่งเสริมให้เต็มกำลัง