ความเสี่ยงและขีดแข่งขันของไทยภายใต้สถานการณ์ โลกรวน | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
ภาวะที่ไทยต้องผจญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง รวมทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน น่าจะเป็นสัญญาณที่สะท้อนความเสี่ยงของไทยจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือเรียกสั้นๆ ว่า โลกรวน
ประเทศไทยถูกจัดไว้เป็นอันดับ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก จากการจัดอันดับความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยใช้ดัชนี Climate Risk Index (CRI) โดย GERMANWATCH ส่วนกรุงเทพมหานครถูกจัดให้เป็นหนึ่งในเมืองที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในโลก 10 อันดับแรกที่จะมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล (Kulp and Strauss, 2019 อ้างในสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2564)
ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระบบการค้าการบริการระหว่างประเทศอาจลดลง เพราะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การทำการเกษตรของประเทศไทยอาจมีผลิตภาพต่ำลงเพราะมีการขาดแคลนน้ำมากขึ้น แม้ว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจะทำให้ผลผลิตมากขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้โรคและแมลงเพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้พันธุ์พืชที่มีอยู่หรือที่เคยปรับปรุงไว้มีผลผลิตลดลง
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังมีผลกระทบต่อการให้บริการท่องเที่ยว เช่น ในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีอากาศเย็นในฤดูหนาวเป็นสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจะมีจำนวนวันที่มีอากาศเย็นลดลง ทำให้ช่วงเวลาที่ขายการท่องเที่ยวได้ลดลง ส่วนในภาคใต้ซึ่งมีทะเลอันดามันเป็นสิ่งดึงดูดใจนั้น
วันที่จำนวนฝนตกลดลงจะทำให้ภาคใต้ของไทยมีความได้เปรียบด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ก็จะทำให้มีปัญหาด้านการขาดแคลนน้ำจากภัยแล้งทำให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจทำให้การท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติที่เป็นการท่องเที่ยวในป่าเขาลำเนาไพรมีความร้อน และความไม่สะดวกสบายมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากมีปัจจัยเกี่ยวเนื่องกันจำนวนมากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้านและหลายรูปแบบ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นมีทั้งที่เป็นบวกและลบแตกต่างกัน สำหรับกลุ่มคนที่มีอาชีพแตกต่างกัน ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่แตกต่างกัน และในเวลาแตกต่างกัน เช่น อาจจะดีขึ้นในระยะแรกแล้วก็จะเลวลงในระยะถัดไป แต่ที่ค่อนข้างจะแน่นอนก็คือผลในด้านการกระจายรายได้ ความเหลื่อมล้ำอาจจะรุนแรงขึ้น สำหรับกลุ่มที่มีรายได้ต่ำอยู่แล้วเพราะผู้มีรายได้ต่ำไม่สามารถที่จะย้ายตัวเองจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้ง่าย
ยิ่งรวมศูนย์ก็ยิ่งเสี่ยงสูง การบริหารจัดการของรัฐไทยในปัจจุบันเป็นการบริหารแบบรวมศูนย์ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าการบริหารที่ความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นปัญหาเชิงพื้นที่และเชิงระบบและมีผลกระทบเชื่อมโยงทั้งระบบ แต่ระบบหน่วยราชการของไทย ต่างก็ยึดเป้าหมายของตนและขอบเขตอำนาจของตนเป็นหลัก ขาดการบูรณาการด้านข้อมูลโดยไม่สนใจกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อปัจจัยอื่นในระบบทำให้ผลกระทบรุนแรงมากขึ้น
ดังที่เห็นในเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อ พ.ศ. 2554 เช่น ในเรื่องของการก่อสร้างเส้นทางและท่าเรือคมนาคมก็อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการปิดกั้นทางน้ำไหลและการกัดเซาะชายฝั่งทำให้ภัยจากธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น
นอกจากจะเป็นการบริหารอย่างแยกส่วนแล้ว การบริหารของรัฐยังใช้วิธีการและมาตรฐานเดียวในการจัดการในพื้นที่ในระบบนิเวศต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ซึ่งทำให้การจัดการปัญหาที่มีความหลากหลายตามพื้นที่นั้นมีความยุ่งยากมากขึ้นและประสบความสำเร็จน้อยลง การรวมศูนย์และไม่กระจายอำนาจทำให้ความเข้าใจปัญหาและความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหา การเยียวยาและการปรับตัวชักช้าและอาจไม่ทันการณ์เมื่อเกิดภัยพิบัติ
ยุทธศาสตร์การรับมือกับโลกรวน รัฐบาลไทยได้จัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนใน พ.ศ. 2608 มุ่งสู่พลังงานสะอาดและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2608-2613 และร่างกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ก็ได้กำหนดหมุดหมายให้ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ แต่การบริหารอนาคตไม่อาจทำได้แค่มีวิสัยทัศน์ แต่จำเป็นจะต้องมีระบบการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่เที่ยงตรง โปร่งใส มีมาตรการกำกับและควบคุมที่มีประสิทธิภาพไม่หย่อนยานยวบยาบแบบที่เห็นๆ กันอยู่
นอกจากนั้นการรับมือกับภาวะโลกรวนนั้น จะอาศัยนโยบายกำกับและควบคุมของรัฐแต่อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วยซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนกลไกตลาดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เมื่อกลไกตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมเริ่มทำงานก็จะทำให้เกิดการตอบรับจากด้านผู้ผลิต
ผลการสำรวจผู้บริโภค 8,681 คน ใน 22 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย PwC พบว่า 3 ใน 4 ของผู้บริโภคไทยต้องการซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกือบร้อยละ 80 เลือกซื้อจากบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และต้องการซื้อสินค้าที่ระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจน (ชาญชัย ชัยประสิทธิ์, 2564)
สถิติเหล่านี้น่าจะเป็นสถิติที่เก็บจากตัวอย่างที่เป็นชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ แต่ก็สื่อให้เห็นเค้าลางใหม่ในด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดีบริษัทไทยยังไม่ได้นำแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาใช้ในการดำเนินการมากนัก นอกจากบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์และยังอยู่ในอายุสัญญา 151 ราย (Krungthai Compass, 2021) แม้ประเทศไทยจะมีแผนที่จะเตรียมรับมือกับโลกร้อนแล้ว แต่ยังขาดการใช้แรงจูงใจและมาตรการทางการเงินและการคลังให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีการปรับตัวอย่างแพร่หลายอย่างจริงจัง
นายกรัฐมนตรีของไทยที่อุตสาห์ไปแสดงวิสัยทัศน์ด้านการรับมือกับปัญหาโลกรวนที่การประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ น่าจะกลับมาขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดมรรคผลเสียที !