ตรวจเช็คสุขภาพ เศรษฐกิจไทย จาก GDP HAI และ MPI | พงศ์นคร โภชากรณ์
ในยุคข้อมูลท่วมโลก ผมว่ามี ข้อมูลเศรษฐกิจ เป็นร้อย ๆ ตัว ตั้งแต่เศรษฐกิจโลกยันเศรษฐกิจฐานรากปากท้อง บางตัวออกปีละครั้ง บางตัวออกรายไตรมาส รายเดือน และบางตัวก็มีเป็นรายวัน แต่ละตัวก็แถลงจากหน่วยงานเจ้าของข้อมูล เฉพาะข้อมูล เศรษฐกิจไทย ก็น่าจะหลายสิบหน่วยงาน
นักเศรษฐศาสตร์จึงจำเป็นต้องจัดข้อมูลเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถอธิบายความได้อย่างชัดเจน เช่น หมวดการผลิต หมวดการใช้จ่าย หมวดเสถียรภาพ หมวดเศรษฐกิจโลก หมวดขีดความสามารถในการแข่งขัน หมวดความยากจนความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น
ฉะนั้น หากจะตรวจเช็คสุขภาพเศรษฐกิจไทย เราจะดูอะไรดี จริง ๆ มีหลายตัวให้ดู แต่การดูข้อมูลตัวเดียวอาจไม่พอ เพราะอาจนำไปสู่การตีความที่แตกต่างกัน และที่สำคัญขึ้นอยู่กับว่าคนวินิจฉัยโรคมี “ค่าที่คิดว่าควรจะเป็น (Benchmark) ในใจไว้เท่าไร” เราจึงมักเห็นนักเศรษฐศาสตร์ภาครัฐและภาคเอกชน นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน อาจแปลความหมายต่างกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นตัวเลขเดียวกัน มาจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน จึงเป็นธรรมดาที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจะไม่เชื่อตัวใดตัวหนึ่ง หมอตรวจสุขภาพก็เช่นเดียวกันต้องดูข้อมูลหลายตัว
ส่วนตัวผมเวลาวินิจฉัยสุขภาพเศรษฐกิจ ต้องนั่งมองตัวเลขเป็นรายเดือน เป็นการวินิจฉัยแบบเดือนต่อเดือน เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ประกาศเป็นรายเดือนและต้องวิเคราะห์สถานการณ์ในแต่ละด้านอย่างใกล้ชิด ไม่ทิ้งช่วงนานเกินไป แต่ก็ไม่ตามติดเป็นรายสัปดาห์หรือรายวัน เพราะจะได้ข้อมูลไม่มากพอที่จะวิเคราะห์สถานการณ์หรือวินิจฉัยโรคในภาพรวม แต่ที่ชอบมากกว่า คือ การนั่งวิเคราะห์ตัวเลขรายปี ช้าหน่อยแต่สะท้อนโครงสร้างในมิติต่างๆ ได้ดี สะท้อนภาพรวมในปีที่ผ่านมาได้ครบถ้วน สะท้อนความสำเร็จหรือล้มเหลวของมาตรการ/โครงการต่างๆ ที่ภาครัฐทำลงไป และยังสะท้อนความท้าทายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต อุปมาอุปไมยเหมือนวินิจฉัยสุขภาพทุกด้านอย่างละเอียดทั้งในปัจจุบันและย้อนหลัง เพื่อให้ทราบสุขภาพและโรคที่เป็นอยู่
แม้ว่าข้อมูลรายปีจะมีอยู่ไม่น้อย และประกาศโดยหน่วยงานหลายแห่ง แต่ข้อมูลที่จะพูดถึงในวันนี้มาจากหน่วยงานเดียว คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ ข้อมูลที่ว่า คือ GDP HAI และ MPI ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดีมาก โดยปกติเรามักคุ้นหูกับ GDP แต่ถ้าคุณเป็นนักวางแผนเศรษฐกิจ HAI และ MPI ก็ไม่ควรมองข้าม
ตัวแรก คือ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product) ใช้ดูว่าในแต่ละปีประเทศไทยผลิตสินค้าและบริการได้เป็นมูลค่าเท่าใด และมีมูลค่าการใช้จ่ายในแต่ละด้านเท่าใด ที่สำคัญคือสามารถนำมาคำนวณอัตราการเปลี่ยนเมื่อเทียบกับปีก่อน จะได้ทราบว่าในแต่ละปีเศรษฐกิจไทยขยายตัวขึ้นร้อยละเท่าใด นอกจากนี้ สามารถนำ GDP ไปหาด้วยจำนวนประชากรเพื่อหาว่ารายได้ต่อคนต่อปีเป็นเท่าไร
ข้อดีของ GDP รายปี คือ สามารถแตกออกเป็นรายภูมิภาค กลุ่มจังหวัด และรายจังหวัดได้ ทำให้เราเห็นภาพเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้น ตัวนี้จะเป็นประโยชน์มากในการวิเคราะห์สถานการณ์และคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ และใช้เป็นมาตรวัดว่า GDP ไม่ควรตกต่ำลงไประดับใด หรือ GDP ไม่ควรร้อนแรงเกินระดับใด เปรียบเสมือนการวัดน้ำหนัก ส่วนสูง อุณหภูมิ ความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ สถานะล่าสุดเราฟื้นไข้แล้ว แต่ยังไม่แข็งแรง
ตัวที่สองใช้วิเคราะห์คุณภาพของคน คือ HAI หรือดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index) ใช้ดูว่าประชาชนในแต่ละจังหวัดมีความก้าวหน้าเพียงใดในแต่ละด้าน ซึ่งมีทั้งหมด 8 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา การทำงาน รายได้ ที่อยู่อาศัย ครอบครัวชุมชน การคมนาคมสื่อสาร และการมีส่วนร่วม รวมทั้งสิ้น 32 ตัวชี้วัด ซึ่งทั้ง 8 ด้านนี้ก็สามารถสะท้อนถึงคุณภาพชีวิต ความสุข ความเข้มแข็งของคนในจังหวัดได้อย่างดี สามารถเรียงลำดับความก้าวหน้าจากมากไปน้อยของ 77 จังหวัดได้
ตัวนี้จะเป็นประโยชน์มากในการวิเคราะห์คุณภาพหรือศักยภาพของประชากรในแต่ละพื้นที่ เปรียบเสมือนการวินิจฉัยว่าส่วนใดของร่างกายปกติหรือมีปัญหาตรงส่วนใดหรือไม่ เช่น หัวใจ ปอด ตับ ไต เป็นต้น หากปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรัง จะยากแก่การรักษา สถานะล่าสุดอวัยวะต่าง ๆ แข็งแรงขึ้นมีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ตัวที่สามใช้วิเคราะห์ความยากจน คือ MPI หรือดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index) ใช้ดูว่าความยากจนในมิติที่มีความซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงมิติที่ไม่ใช่ตัวเงิน ใน 4 มิติ ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ ความมั่นคงทางการเงิน และความเป็นอยู่ รวมทั้งสิ้น 12 ตัวชี้วัด นอกจากนี้ MPI ยังชี้ถึงระดับความรุนแรงของปัญหาด้วย อย่างไรก็ตาม MPI จะออกทุกๆ 2 ปี แม้จะช้าไปหน่อย แต่ก็ถือว่าฉายภาพปัญหาที่มีความซ้ำซ้อนเรื้อรังได้อย่างชัดเจน และเห็นถึงขนาดของคนจนที่มากกว่าการมองมิติเดียว สามารถเรียงลำดับระดับความรุนแรงของปัญหาจากมากไปน้อยของ 77 จังหวัดได้
ตัวนี้จะเป็นประโยชน์มากในการวิเคราะห์ปัญหาซ้ำซ้อนเรื้อรังที่นำไปสู่ความอ่อนแอของประชากรในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีปัญหาซ้ำซ้อนมากกว่า 1 มิติ เปรียบเสมือนการวินิจฉัยว่ามีโรคซ้ำซ้อนอะไรบ้าง เพราะอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น เบาหวาน หัวใจ มะเร็ง เป็นต้น การรักษาจำเป็นต้องให้ยาเฉพาะทาง ไม่สามารถให้ยาทั่วไปได้ ต้องใช้หมอหลายแขนงช่วยรักษา สถานะล่าสุดโรคซ้ำซ้อนต่าง ๆ ลดลง
ดังนั้น การวางแผนเศรษฐกิจจากนี้ไป เราไม่สามารถละเลยการแก้ปัญหาสังคมได้ ต้องใช้ข้อมูลที่หลายตัวจากหลายแหล่งมาวิเคราะห์ จึงจะได้ผลที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ฉันใดฉันนั้น การตรวจเช็คสุขภาพเศรษฐกิจไทย ก็จำเป็นต้องวิเคราะห์และประเมินค่าต่าง ๆ อย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่ได้ผลและเป็นการเสริมสร้างให้สุขภาพแข็งแรงต้านทานโรคภัยต่างๆ ในอนาคตได้
(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด)