จีนเปลี่ยน ‘พื้นที่กันดาร’ เป็นแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ

จีนเปลี่ยน ‘พื้นที่กันดาร’  เป็นแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ

แทนที่จะมุ่งไปที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ หันมาเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนเอง

การท่องเที่ยวจีนช่วงวันหยุดยาววันชาติจีนเริ่มฟื้นตัว กระทั่งหลายคนอาจสงสัยว่า พวกเขากระตุ้นภาคการท่องเที่ยวขึ้นมาได้อย่างไร?

ประเด็นนี้มีข้อมูลบางส่วนที่เปิดเผยเรื่อง การปรับกลยุทธ์ของภาคการท่องเที่ยวในประเทศจีน แทนที่จะมุ่งไปที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งติดปัญหาเรื่องการเดินทางและการกักตัวจากสถานการณ์โควิด-19 และหันมาเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนเอง

อย่างไรก็ดี ไม่ได้แปลว่าประชากร 1.4 พันล้านคน จะกระตุ้นเม็ดเงินในภาคการท่องเที่ยวได้มากเสมอไป เพราะไม่ใช่ทุกคนในภาวะโควิด-19 ที่จะสามารถเดินทางไปไหนมาได้สะดวก แม้ว่าจีนจะระดมฉีดวัคซีนและเริ่มเปิดเมืองหลายแห่งแล้ว แต่เราจะพบข้อมูลบางส่วนที่ชี้ว่า จีนพบการกลับมาระบาดของโควิด-19 อีกครั้งในบางเมือง

ดังนั้นส่วนที่จีนเลือกใช้กลยุทธ์ก็คือ การหันมาเน้นสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองใหญ่ที่การติดเชื้อโควิดมีระดับต่ำ โดยเฉพาะที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หนานจิง เฉิงตู ฯลฯ

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ทางการจีนเริ่มให้ความสำคัญกับคนหนุ่มสาวในฐานะนักท่องเที่ยวกลุ่มหลัก แทนที่กลุ่มผู้สูงอายุหรือครอบครัวใหญ่ที่เลือกแพ็คเกจทัวร์แบบที่เคยเป็นมา

โดยในช่วงวันหยุดยาววันชาติจีนระหว่างวันที่ 1-7 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น มีรายงานว่า คนจีนที่ออกไปท่องเที่ยวและเดินทางไปในหลายเมืองของประเทศที่มีจำนวนมากขึ้นและมีกำลังซื้อสูง ก็คือกลุ่มที่เดินทางกันทั้งครอบครัวและมากันแบบคู่รัก หรือเป็นพ่อแม่ลูก ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นราว 20% หากเปรียบเทียบจากปีก่อน

ในภาพรวมแล้ว จากข้อมูลที่เปิดเผยออกมาชี้ว่า คนหนุ่มสาวที่มากันเป็นคู่รักเองก็จัดเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ในเวลานี้ ซึ่งตามข้อมูลจากช่วงวันหยุดยาวชาติจีนในปีนี้ พบว่า 43% เป็นกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 26-35 ปี, 21% เป็นกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 36-45 ปี ที่น่าจับตามองคือ นักท่องเที่ยวจีนส่วนนี้เป็นผู้หญิงมากถึง 57%

สำหรับ 10 อันดับของเมืองที่เป็นเป้าหมายในการเดินทางระหว่างวันหยุดยาว ได้แก่ เซี่ยงไฮ้, หนานจิง, ปักกิ่ง, เซินเจิ้น, หางโจว, กว่างโจว, เทียนจิน, อู่ฮั่น, เฉิงตู, ชิงเต่า

ส่วนเมืองทางฝั่งตะวันตก ก็มีนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น เช่น ซินเจียง ยูนนาน กว่างสี เสฉวน พื้นที่มองโกเลียใน เรียกง่ายๆ ว่าพื้นที่ฝั่งตะวันตกของจีนซึ่งเป็นบริเวณทุรกันดาร ชนบท ที่ยากจน เริ่มได้รับการโปรโมทในแง่ของการท่องเที่ยวมากขึ้น

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการโปรโมทไว้ไม่น้อยในแง่ของการท่องเที่ยวแบบ “ตามรอยทางสายไหม” แต่ก็ยังไม่ได้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำหรับคนจีนเองเท่าไหร่นัก เพราะนักท่องเที่ยวหลักเป็นชาวต่างชาติมากกว่า

 

ขณะนี้กลายเป็นว่าพื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ได้รับความสำคัญมากขึ้น อีกทั้งยังมีการวิเคราะห์ว่า จีนต้องการปรับภาพลักษณ์ของพื้นที่ทางตะวันตกในจีนต่อสายตาชาวโลกใหม่ หลังจากถูกวิจารณ์หนักเรื่องกรณีซินเจียง ชาวอุยกูร์ และทิเบต 

เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลยก็ว่าได้ โดยการทำตลาดที่ว่านี้เริ่มมีการใช้สื่อกระแสหลัก การทำสารคดี การใช้อินฟลูเอนเซอร์ในการโปรโมทผ่านแอพพลิเคชั่นและโซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยมากขึ้น

อีกหนึ่งรูปแบบที่มีการนำมาใช้ก็คือ “การท่องเที่ยวในสถานที่ซึ่งเคยปกปิดหรือเป็นพื้นที่ลี้ลับต่อสายตาชาวโลก” เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการท่องเที่ยวในแบบเฉพาะตัวหรือ Unique

มีข้อมูลอีกว่า นักท่องเที่ยวที่จองที่พักล่วงหน้าในระยะยาวทางออนไลน์นั้น มีสัดส่วนกว่า 63% โดยเมืองสำคัญที่ถูกจองในการเที่ยวระยะยาว เช่น ไห่หนาน เสฉวน ซินเจียง ยูนนาน กว่างสี และพื้นที่อื่นๆ ในฝั่งตะวันตก 

เรียกได้ว่าทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนกำลังน่าจับตามองมากๆ สำหรับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนจีนเอง ที่สำคัญคือเป็นการท่องเที่ยวแบบไปกันของครอบครัวและคู่รักหนุ่มสาวมากขึ้นด้วย