เปิดประเทศ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทย-ไม่ใช่เรื่องง่าย | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ไทยกำลังเปิดประเทศ โดยหวังว่าการท่องเที่ยวทั้งโดยคนไทยและชาวต่างประเทศจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว สร้างรายได้สูงถึง 1 ล้านล้านบาทในปีหน้า แต่ประเด็นดูจะไม่ง่ายนัก
รัฐบาลคาดหวังว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศในปีหน้าจะสูงถึง 1 ล้านล้านบาทหรือกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2019 ที่ประมาณการว่าสูงถึง 1.91 ล้านล้านบาท จากการต้อนรับนักท่องเที่ยวมากถึง 39.90 ล้านคน
ในปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยเพียง 86,000 คนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายเดือนกันยายน ดังนั้นปีนี้จึงจะเป็นอีก 1 ปีที่ประเทศไทยแทบจะไม่มีรายได้จากการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเลย (ปีที่แล้วมีรายได้ 330,000 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ก่อน COVID-19 ระบาด) ประเด็นคือดูจะไม่ง่ายนักที่ประเทศไทยจะมีรายได้มากถึง 1 ล้านล้านบาทจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปีหน้า
ดังรายละเอียดปรากฏในตารางข้างล่างที่เป็นข้อมูลจากนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ตัวอย่างเช่นประเทศสิงคโปร์ที่พยายามเปิดประเทศแต่จำนวนผู้เติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในเดือนตุลาคม โดยล่าสุดรัฐบาลต้องประกาศเพิ่มมาตรการควบคุมการระบาดโดยห้ามกินข้าวรวมตัวกันเกินกว่า 2 คน เพราะเมื่อวันพุธที่ 27 ตุลาคมพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 5,324 คนในวันเดียว (สิงคโปร์มีประชากร 5.7 ล้านคน
ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับประชากรไทยที่ 68 ล้านคน ก็จะเหมือนกับมีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 63,000 รายในประเทศไทย) ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ต้องตรวจสอบว่าอะไรเกิดขึ้นและประกาศเพิ่มเตียงห้อง ICU อีก 100 เตียง ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังเมื่อวันที่30 ตุลาคมซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดยังสูงถึง 3,707 คนต่อวัน
ผมยกตัวอย่างสิงคโปร์เพราะเป็นประเทศในอาเซียนที่มีการฉีดวัคซีนที่สูงมาก กล่าวคือฉีดวัคซีน (ประเภท mRNA) ครบ 2 โดสแล้วให้กับประชากร 84% (ประเทศไทยคาดกวังว่าฉีดครบ 2 โดสสำหรับประชากรครบ 70% จะทำให้ “เอา COVID-19 อยู่”) นอกจากนั้นยังมีประชากรที่สิงคโปร์อีก 14% ที่ได้รับการฉีดเข็มที่ 3 แล้วอีกด้วย
ข้อมูลที่น่าสนใจอีก 2 ประการที่สิงคโปร์คือข้อสังเกตว่า 98.7% ของจำนวนผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่ในเดือนตุลาคมคือ 90,203 คนนั้นไม่แสดงอาการป่วยหรือมีอาการป่วยน้อยมาก อีกประการหนึ่งคือเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมนั้นมีผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 เพียง 10 คนเท่านั้น แต่มีเพียง 1 คนที่เสียชีวิตที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน กล่าวคืออีก 9 คนที่เสียชีวิตนั้นล้วนแต่ฉีดวัคซีนแล้วแต่ทุกคนมีโรคประจำตัว (underlying conditions)
ผมขอเปรียบเทียบการคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเมื่อเทียบกับการคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยดังปรากฏในตารางข้างล่าง ซึ่งจะเห็นได้ว่าจีดีพีของโลกและในภูมิภาคเอเชียและประเทศตลาดเกิดใหม่นั้นฟื้นตัวไปก่อนหน้าและฟื้นตัวมากกว่าประเทศไทยไปแล้วในปีนี้
กล่าวคือปีนี้จีดีพีโลกขยายตัว 5.9% จีดีพีประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียขยายตัว 7.2% (เพราะจีดีพีจีนขยายตัวสูงมาก) และจีดีพีประเทศตลาดเกิดใหม่ขยายตัว 6.4% แต่จีดีพีของไทยปีนี้คงจะขยายตัวได้เพียง 1% ทั้งๆ ที่จีดีพีไทยติดลบมากกว่ากลุ่มประเทศอื่นๆ ในปี 2020 แปลว่าจีดีพีประเทศไทยกำลังจะไล่หลังจีดีพีโลกไม่ทัน
ที่สำคัญคือการคาดการณ์ว่าจีดีพีไทยในปีหน้าจะขยายตัวค่อนข้างสูง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3.9% และรัฐบาลบอกว่าจะผลักดันให้จีดีพีไทยโต 5% ในปี 2022 ซึ่งคำถามคือจะโตจากปัจจัยอะไร สำหรับการท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้นผมได้กล่าวถึงไปแล้ว
ส่วนการท่องเที่ยวโดยคนไทยนั้นตารางที่ 1 มีข้อมูลที่พอจะคาดการณ์ได้ว่าการท่องเที่ยวโดยคนไทยน่าจะฟื้นตัวต่อไปได้อีกใน 2 เดือนที่เหลือของปีนี้และในปีหน้าหากไม่มีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างร้ายแรงในปีหน้า แต่ก็มีมูลค่าก่อน COVID-19 เพียง 1 ล้านล้านบาท (ประมาณ 6% ของจีดีพี)
อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพีไทย โดยตัวเลขการส่งออกและนำเข้าตั้งแต่ปี 2019 ถึงไตรมาส 3 ของปี 2021 มีรายละเอียดดังปรากฏในตารางข้างล่าง
จะเห็นได้ว่าการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบในทางลบในปี 2020 และได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้อย่างมาก โดยผมนำเอาตัวเลขการส่งออก (และนำเข้าของไทย) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้เปรียบเทียบกับปี 2019 (ก่อน COVID-19 ระบาด) เพื่อให้เห็นว่าการส่งออกและการนำเข้าของไทยนั้นน่าจะฟื้นตัวใกล้กลับไปสู่ภาวะปกติแล้ว
ดังนั้น การส่งออกของไทยจึงไม่น่าจะขยายตัวไม่สูงมากนักในปีหน้า เพราะเศรษฐกิจโลกน่าจะขยายตัวช้าลงและอาจต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยซึ่งอาจชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมด้วย
คำถามที่ตามมาคือการขยายตัวของการส่งออกของไทย โดยปกตินั้นน่าจะประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งผมคำนวณคร่าวๆ จากข้อมูลในอดีตพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2015-2019 ไม่นับปี COVID-19) การส่งออกของประเทศไทยขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 3.4% ต่อปี
ดังนั้น หากการส่งออกของไทยในปีหน้าจะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 5% ก็น่าจะดีมากแล้ว ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวคำนวณบนพื้นฐานของรายได้ที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐ ดังนั้นหากประเทศไทยมีนโยบายการเงินที่ตึงตัวจนเกินไป ทำให้เงินเฟ้อในประเทศไทยต่ำกว่าประเทศอื่นๆ อย่างมาก (อย่าลืมว่าธปท.ยังมีเป้าเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน)
ก็เป็นไปได้ที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ทำให้รายได้จากการส่งออกที่คำนวณเป็นเงินบาทขยายตัวได้น้อยกว่าเมื่อคำนวณจากรายได้ที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐครับ.