12 ความเอนเอียง (Cognitive Bias) | วรากรณ์ สามโกเศศ
มนุษย์เป็นมนุษย์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเผ่าพันธุ์ใดหรืออยู่ในสังคมใดก็ตาม ต่างมี ความเอนเอียง เหล่านี้อยู่ในตนเองด้วยกันทั้งสิ้น
การตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ เช่น เปลี่ยนงาน เปลี่ยนอาชีพ เลือกเส้นทางชีวิต ร่วมลงทุน ร่วมชีวิต ฯลฯ เป็นเรื่องที่ยากมากเพราะต้องการทั้งข้อมูลที่เที่ยงตรงที่สุด มากที่สุด (ไม่มีวันเกิดขึ้นได้) และการคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบโดยใช้ปัญญาและประสบการณ์ส่วนตัว แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์อยู่วันยังค่ำ มีทั้งรัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งทำให้เกิดความเอนเอียงขึ้นโดยไม่รู้ตัว ปัจจุบันนักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมได้สรุปว่า มีความเอนเอียงอย่างน้อย 12 ลักษณะด้วยกัน
Cognitive Bias หรือ ความเอนเอียงในกระบวนการรู้คิดและใช้ความรู้สติปัญญานั้นแอบอยู่ลึกๆ ในการคิดของเรา การเข้าใจความเอนเอียงในใจของเราเช่นนี้จะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น ความเอนเอียงมาจากการคิดแบบทางลัดโดยสมองของมนุษย์เพื่อให้เข้าใจว่าข้อมูลข่าวสารที่กำลังประสบอยู่นั้นคืออะไร
ความเอนเอียง 12 ชนิดที่กล่าวถึงนี้ถือเป็นความผิดพลาดอย่างเป็นระบบของการคิดของบุคคลที่มาจากประสบการณ์ในอดีต การรับรู้รับทราบ การสังเกต ความเห็น ฯลฯ ความเอนเอียงดังกล่าวนำไปสู่การหลีกเลี่ยงข่าวสารข้อมูล มองเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างผิดๆ ตีความคำพูดที่คนอื่นต้องการสื่อสารด้วยอย่างผิดพลาด เข้าใจผิดในความสามารถของตนเอง ฯลฯ ทั้งหมดนี้อาจนำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิตที่ผิดพลาดได้ ความเอนเอียงดังกล่าวมีดังต่อไปนี้
(1) เอนเอียง-ยืนยัน (Confirmation Bias) มนุษย์มีทางโน้มที่พยายามแสวงหาข่าวสารข้อมูลเพื่อสนับสนุนสิ่งที่ได้เชื่อหรือตัดสินใจไปแล้ว ซึ่งการตัดสินใจมาจากการใช้สัญชาตญาณ ข้อมูลหรือความฝังใจในอดีต ความรู้สึกส่วนตัว ฯลฯ พฤติกรรมดังกล่าวจะทำให้ไม่พยายามหาข้อมูลที่เป็นกลางมาช่วยในการตัดสินใจ
(2) เอนเอียง-ยากสู่ง่าย (The Dunning-Kruger Effect) มนุษย์บางส่วนไม่มีความรู้ในบางเรื่องที่ซับซ้อนจึงเข้าใจเอาง่าย ๆ อย่างที่คิดเองแม้จะผิดพลาดก็ตาม และไม่พยายามค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ความเอนเอียงนี้นำไปสู่ความรู้สึกว่าตนเองมีความรู้สามารถเหนือกว่าผู้อื่นอย่างเกินความจริง
(3) เอนเอียง-กลุ่มของเรา (In-group Bias) มนุษย์มีทางโน้มที่จะสนับสนุน หรือเชื่อคนที่อยู่ในกลุ่มสังคมของตนมากกว่าคนนอกกลุ่ม กลุ่มสังคมนี้ในบางประเทศขยายออกไปกว้างไกลถึงคนที่มาจากภาคเดียวกัน เคยเรียนโรงเรียนเดียวกัน ชอบกีฬาประเภทเดียวกัน ฯลฯ ความเอนเอียงนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมในการตัดสินใจจ้างคนทำงาน ร่วมหุ้น หรือลงทุน
4) เอนเอียง-ทำดีต้องได้ดี (Self Serving Bias) มนุษย์มักมีสมมติฐานในใจว่าหากทำสิ่งที่ดีแล้ว สิ่งดี ๆ จะเกิดกับตนเองเสมอ หากมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นก็เพราะเป็นสิ่งที่อยู่นอกการควบคุม ความเอนเอียงนี้นำไปสู่การโทษสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นว่าเป็นความรับผิดชอบของสิ่งอื่น ๆ โดยมองข้ามความรับผิดชอบของตนเอง
(5) เอนเอียง-นึกขึ้นได้ (Availability Bias) มีทางโน้มที่มนุษย์ใช้ข้อมูลข่าวสารที่นึกขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วเพื่อนำมาประเมินสิ่งหนึ่ง เช่น ไอเดีย การซื้อสิ่งของ การประเมินคนอื่น ฯลฯ ซึ่งข้อมูลนั้นอาจไม่ใช่ข้อมูลที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาใช้หรือเปรียบเทียบ เรามักทึกทักว่าข้อมูลที่เรานึกขึ้นมาได้ทันทีนั้นถูกต้องใช้ได้โดยมองข้ามข้อมูลอื่น ๆ
(6) เอนเอียง-เข้าข้างตนเอง (Fundamental Attribution Error) มีทางโน้มที่จะเหมาว่าพฤติกรรมของคนอื่นล้วนเป็นผลมาจากความเชื่อดั้งเดิมที่ผิด ๆ (ขี้เกียจ ขี้โกงเพราะเป็นชาติพันธุ์นั้น ๆ) แต่สำหรับตนเองแล้ว พฤติกรรมของตนมาจากปัจจัยภายนอก เช่นลูกน้องมาสายก็คิดเอาว่าเพราะขี้เกียจ ตื่นสาย โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลอื่น แต่หากตนเองมาสายก็อยากให้คนอื่นคิดว่าเป็นเพราะยางรถแตกมากกว่าจะเป็นนิสัยส่วนตัว
(7) เอนเอียง-มองย้อนหลัง (Hindsight Bias) มีคนประเภท “มองอดีตแล้วฉลาด” กล่าวคือมั่นใจว่าเหตุการณ์ในอดีตจะเป็นไปอย่างที่ตนเองนึกไว้และก็เกิดขึ้นจริง ๆ จึงมีความมั่นใจเกินจริง ทั้ง ๆ ที่ไม่มีข้อมูลใด ๆ ในขณะนั้นที่จะทำให้สามารถทำนายได้อย่างถูกต้อง คนพวกรู้ทุกอย่างเช่นนี้มีมากในวงการกีฬาและเหตุการณ์โลก
(8) เอนเอียง-ฝังใจ (Anchoring Bias) เกิดขึ้นกับคนที่มีความฝังใจมากกับข้อมูลชิ้นแรกที่ประสบคล้ายกับสมอเรือที่เกี่ยวอยู่กับพื้นใต้น้ำ ความเห็นและวิจารณญาณของคนเหล่านี้มีรากฐานมาจากปรากฏการณ์ครั้งแรก
(9) เอนเอียง-โลกสวยเพราะอารมณ์ (Optimistic Bias) มนุษย์โดยทั่วไปยามเมื่ออารมณ์ดีมักจะมองโลกในแง่ดี ดังนั้นการตัดสินใจจึงมักไม่ขึ้นอยู่กับหลักฐานข้อมูลที่เป็นจริง หากขึ้นอยู่กับสภาวะอารมณ์ในขณะนั้น ๆ
(10) เอนเอียง-มองแง่ร้าย (Pessimistic Bias) ในทางตรงกันข้ามในยามที่มีอารมณ์ไม่ดีก็มักจะมองโลกในแง่ลบ (ความเอนเอียงเช่นนี้ในการพิจารณาลงโทษไม่เป็นคุณกับคอของนักโทษในสมัยโบราณเป็นอย่างยิ่ง) วิจารณญาณที่เที่ยงธรรมต้องอยู่เหนืออารมณ์
(11) เอนเอียง-ศักดิ์สิทธิ์เหนือกว่า (Halo Effect) ความเอนเอียงเพราะเห็นเขาหล่อ เขาสวย เขารวย เขามีความรู้ มีปริญญาสูง ฯลฯ ถูกใช้ล่อล่วงมนุษย์อย่างได้ผลเสมอ เพราะมนุษย์มีทางโน้มที่จะเชื่อถือบุคคลหรือคำพูดหรือสิ่งที่ผูกพันกับ”ความศักดิ์สิทธิ์ “ ของคนเหล่านี้
(12) เอนเอียง-เป็นไปตามสภาพ (Status Quo Bias) มนุษย์มีทางโน้มที่จะชอบการรักษาให้สรรพสิ่งอยู่อย่างที่เคยเป็น ไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงเพราะบั่นทอนความรู้สึกมั่นคงของตนเอง ความเอนเอียงนี้อยู่มาคู่กับมนุษยชาติ และเป็น “ความรอบคอบ” ที่ถึงแม้ทำให้อยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้ แต่ก็ทำให้การปฏิรูปการพัฒนาต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ยาก
มนุษย์เป็นมนุษย์เสมอไม่ว่าจะเป็นเผ่าพันธุ์ใดหรืออยู่ในสังคมใดก็ตาม ต่างมีความเอนเอียงเหล่านี้อยู่ในตนเองด้วยกันทั้งสิ้น มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป แล้วแต่ประสบการณ์ชีวิต และปัญญาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินชีวิต แต่ทั้งหมดนี้มิได้หมายความว่าเราจะยอมรับมันโดยดุษณีภาพ เราต้องใส่ใจและก้าวข้ามมันอย่างระมัดระวัง การใช้วิจารณญาณอย่างชาญฉลาดเท่านั้นที่จะทำให้เราไม่ติด “กับดัก”ของความเอนเอียงเหล่านี้.