Leadership On Paper | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์
ผมเชื่อว่าการเขียนหนังสือเป็นงานศิลปะที่ผู้เขียนต้องมีลีลาชวนอ่าน ชัดเจนในการนำเสนอ ง่ายกับการติดตาม สำคัญต้องให้เกียรติกับผู้อ่าน ที่สละเวลาของพวกเขาอ่านงานเขียน
ในปีหนึ่งผมอ่านหนังสือเป็นจำนวนพอสมควร พบว่ามีหนังสือจำนวนหนึ่งเขียนยอกย้อนซ่อนเงื่อน เหมือนว่าผมกำลังเดินอยู่ในเขาวงกต ยิ่งอ่านยิ่งเหมือนคนเมา หนังสือประเภทนี้ผมอ่านไม่เกินสี่สิบหน้าก็ต้องอัญเชิญขึ้นหิ้ง คนบางคนเขียนหนังสือเหมือนกับการบ่นเสียงดังๆ ให้คนอ่านฟัง
คนบางคนใช้เวทีการเขียนนำเสนอประเด็นที่เป็น “known fact” เป็นสิ่งที่คนอ่านรู้อยู่แล้ว อ่านแล้วก็ไม่ได้ทำให้คนอ่านฉลาดเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่นวันอาทิตย์คือวันหยุดของคนทำงาน ผู้เขียนบางคนสร้างงานเขียนด้วยลีลาเหมือนสายน้ำไหลเอื่อย ๆ โดยไม่รู้ว่าไหลไปทางไหน ข้อมูลในงานเขียนมีครบครัน แต่ขมวดเรื่องไม่ได้ ถ้าเป็นนักบินเป็นพวกชอบบินวน แต่ลงจอดที่สนามบินไม่เป็น
ผมมีโอกาสฝึกอบรมวิธีการเขียนหนังสือใน workshop ซึ่งสอนโดย Jean Plumez ภายใต้ชื่อว่า “leadership on paper” ซึ่งผมเชิญคุณ Jean Plumez มาจาก New York เพื่อพัฒนะทักษะในการสื่อสารผ่านตัวอักษรให้กับทีมงาน แล้วทำให้วิธีเขียนของผมเปลี่ยนไปอย่างกลับหัวกลับหาง และเป็นที่มาที่ผมผันตัวเองมาเป็นนักเขียนที่มีลายเซ็นของตัวเอง แค่ชื่อ workshop ก็เข้าท่าแล้ว ผมคุยกับคุณ Plumez เขาบอกว่าที่ตั้งชื่อ workshop อย่างนี้ เพราะการเขียนหนังสือที่มีพลัง ผู้เขียนต้องมีภาวะความเป็นผู้นำที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนบนแผ่นกระดาษ จึงจะสามารถจูงมือคนอ่านให้เดินตามความคิดของผู้เขียนได้
หลักการในการเขียนที่เปี่ยมด้วยพลังคือส่วนผสมขององค์ประกอบดังนี้
1. Write the way you talk เริ่มต้นข้อแรกก็เปลี่ยนวิธีคิดคนที่เข้า workshop อย่างสิ้นเชิง คุณ Plumez ให้ความเห็นว่าผู้คนมีความเข้าใจที่ผิดคิดว่าการเขียนหนังสือที่ดีคือการสร้างเขียนให้มีความสละสลวยเสมือนหนึ่งว่าเราเป็น “นักประพันธ์” ใช้ศัพท์ยาก ๆ ที่ทำให้ผู้เขียนดูดีมีสกุล ไม่ใช่ครับ นี่เป็นความหลงผิด การเขียนหนังสือที่ดีคือความชัดเจน เรียบง่ายในการถ่ายทอดความคิดผ่านตัวอักษร และการเขียนเหมือน “พูด” คือตัวช่วยที่สำคัญ ตัวอย่างที่ไม่ควรเอาอย่างคือเอกสารของราชการที่เต็มไปด้วยน้ำ มีเนื้อหาอยู่น้อยนิด เพราะเอกสารราชการเต็มไปด้วย protocal และประเพณีปฏิบัติ
2. Idea organization ก่อนจะลงมือเขียน เราต้องวางแผนว่าแก่นของความคิดที่เราจะถ่ายทอดคืออะไร โดยที่แก่นต้องมีเพียงแกนเดียว ถ้ามีหลายแกน งานเขียนของคุณจะเปรียบเสมือนคุณขับรถแบบคดเคี้ยวเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา จนงงไปหมด ร้ายที่สุดคือเลี้ยว U-turn คุณ Plumez เน้นว่างานเขียนที่ชวนอ่านต้องพาผู้อ่านให้อยู่บนถนนสายหลักอยู่ตลอดเวลา ห้ามเลี้ยวเข้าซอย
ไอเดียงานเขียนที่ชวนติดตามต้องเป็นไอเดียที่มีความพิเศษ ต้องเป็นเรื่องที่ผู้อ่านไม่เคยรู้มาก่อนหรือเป็นไอเดียที่เป็นเส้นผมบังภูเขา ซึ่งมาถึงตรงนี้ผมขอให้ความเห็นว่าการตามหาข้อมูลเพื่อสร้างเป็นไอเดียงานเขียนต้องเป็นกระบวนการที่ต้องทำตลอดชีวิต ถามว่าทำไม เพราะข้อมูลในโลกนี้แบ่งเป็นสามหมวดหมู่ หนึ่งข้อมูลที่เป็นรับรู้กันทั่วไป สองข้อมูลที่เรารู้ว่าเราไม่รู้ สามข้อมูลที่แม้กระทั่งตัวเราเองไม่รู้ว่าเราไม่รู้
ไอเดียของงานเขียนที่ผู้อ่าน “หิว” อยากอ่านคือไอเดียที่มีข้อมูลในหมวดหมู่ที่สองกับสาม ดังนั้นผู้เขียนต้องทำหน้าที่เป็นลูกเสือหาข้อมูลแบบ life-time searching process แล้วคุณจะพบกับข้อมูลในหมวดหมู่สามที่ทำให้งานเขียนของคุณมีความสุดพิเศษ และงานเขียนของคุณจะเป็นแกะดำ นี่เป็นเหตุผลที่ผมใช้เวลาตามล่าหาข้อมูลสุดขอบฟ้าแบบไม่มีวันหยุด
3. Writing structure โครงสร้างของการเขียนที่ทรงพลังมีอยู่แค่สามส่วน หนึ่งบอกให้ผู้อ่านรู้ว่าประเด็นของงานเขียนคือเรื่องราวอะไร สองนำเสนอเนื้อหาพร้อมเหตุผลสนับสนุน และสุดท้ายคือการขมวดเรื่อง งานเขียนที่ชวนอ่านต้องใช้ format นี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอทางธุรกิจหลายร้อยล้านบาท หรือเป็น memo ให้พนักงาน
4. Style งานเขียนที่ดีเกิดจากรูปแบบ “สั้น กระชับ ได้ใจความ ตรงประเด็น ง่ายต่อความความเข้าใจ เพราะมี flow of logic ที่รู้ว่าอะไรต้องมาก่อนหลัง” ถามว่าทำไม เพราะในโลกยุคปัจจุบันผู้อ่านทุกคนเป็นโรคสมาธิสั้น ดังนั้นถ้านักเขียนเขียนอะไรยืดยาว เยิ่นเย้อ จะทำให้ผู้อ่านหลุดจากวงโคจรของการถ่ายทอดความคิดคุณ
นักเขียนที่ดีต้องเป็นนักตัดต่อที่มีความกล้าหาญ ตัดทิ้งสิ่งฟุ่มเฟือยที่เป็นเนื้อร้ายออก งานเขียนที่สั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก ต้องผ่านการฝึกฝนเพื่อให้มีอาวุธของคำพูดที่กระชับและลุ่มลึกในความหมาย ชาญฉลาดในการวางท่วงทำนอง
การที่งานเขียนจะมี flow of logic ที่ทรงพลัง ก่อนจะเริ่มงานเขียนคุณต้องขึ้นโครงร่างของ logic บนกระดาษก่อน ไม่ใช่จะเขียนก็เขียนเลย เพราะถ้าคุณไม่มีโครงร่างของ logic เท่ากับงานเขียนของคุณไม่มีเข็มทิศ
5. สร้างงานเขียนที่มีลายเซ็นของตัวเอง เริ่มแรกคือต้องฝึกฝนผู้เขียนให้เป็น wordsmith เป็นนักประดิษฐ์คำ ใช้คำศัพท์ที่มีความพิเศษที่มีเฉพาะคุณเท่านั้นที่ใช้คำเหล่านี้ ด้วยวิธีนี้ทำให้งานเขียนของคุณมีเสน่ห์ มีกลิ่นอายเฉพาะตัว ตัวอย่างเช่นงานเขียนผมจะไม่มีคำในวงเล็บ ถามว่าทำไม ผมมีความรู้สึกว่ามันเป็นส่วนเกิน มันเป็นมะเร็งของงานเขียน ประการที่สองผมไม่ใช่คำศัพท์สองคำซ้ำกัน เมื่อศัพท์ทั้งสองคำอยู่ติดกัน ตัวอย่างเช่นถ้าผมเขียนคำว่ารถยนต์ บรรทัดต่อไปผมจะใช้คำคำนี้ ผมจะเปลี่ยนคำเป็นคำว่ายานยนต์ เพราะการเขียนอะไรซ้ำไปซ้ำมา มันคือการลดทอนเสน่ห์ของงานเขียน อีกประการหนึ่งลายเซ็นผมคือผมจะเว้นวรรคอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้อ่านไม่ต้องอ่านบทความที่ยาวติดกันเหมือนขบวนรถไฟ ซึ่งในมุมของผู้อ่านมันน่าเบื่อมาก
และงานเขียนผมจะขึ้นย่อหน้าใหม่ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้อ่านได้หยุดคิดและย่อยข้อความก่อนหน้านี้ก่อนที่จะขึ้นเรื่องใหม่ ด้วยวิธีนี้จะทำให้งานเขียนของคุณชวนให้ผู้อ่านติดตามและผู้อ่านไม่เหนื่อยเกินไปเมื่อเทียบกับงานเขียนที่เขียนยาวเป็นขบวนรถไฟจากกรุงเทพถึงเชียงใหม่
ผมมีหลักการอีกข้อหนึ่งที่ได้หลักคิดมาจาก Dick Bruna เขาให้ความเห็นว่า If you put very few things on a page, you leave lots of room for the imagination. งานเขียนผมจะไม่ overload ผู้อ่านด้วยข้อมูลที่มากเกินควร ใส่ข้อมูลแต่พองาม แล้วปล่อยให้ผู้อ่านสร้างจินตนาการของตัวเอง งานเขียนที่ดีไม่ต้องอธิบายทุกอย่างให้กระจ่างแจ้ง ควรปล่อยให้ผู้อ่านตีความหมายที่ซ่อนเร้นระหว่างประโยค หรือระหว่างบรรทัด นี่คือเสน่ห์ของการเล่าเรื่อง
พูดง่าย ๆ งานเขียนผมเป็นแนว minimalist และสิ่งที่มีผู้ชอบวิจารณ์ผมมากคือทำไมผมชอบใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษในงานเขียน เหตุผลมีอยู่สองประการ ประการแรกศัพท์ภาษาอังกฤษถ้าจะอธิบายด้วยคำพูดที่เป็นภาษาไทย คำอธิบายมันจะยาวมาก ทำให้งานเขียนยาวเกินเหตุ ประเด็นที่สองการใช้ภาษาอังกฤษมันให้ความหมายที่ตรงประเด็นมากกว่าการใช้คำอธิบายเป็นภาษาไทย อย่างเช่นคำว่า minimalist ผมเรียนถามผู้อ่านว่าจะอธิบายเป็นภาษาไทยแล้วให้ได้แก่นของความหมายที่ตรงประเด็นได้อย่างไรครับ
เรื่องสุดท้ายที่เป็นวิธีเขียนเฉพาะตัวผมคือผมเขียนหนังสือให้มีชีวิต มีความรู้สึก ด้วยวิธีนี้ทำให้งานเขียนมีเสน่ห์ จะทำอย่างนั้นได้คุณต้องมีความสามารถเป็น wordsmith ที่ประดิษฐ์คำที่ซ่อนความรู้สึกในตัวอักษร พร้อมสร้างลีลาในงานเขียนเสมือนหนึ่งคุณกำลังเต้นรำกับคนอ่านครับ
6. การเป็นนักอ่านคือตัวเติมเต็มให้งานเขียน การอ่านทำให้คุณเห็นว่าอะไรคืองานเขียนอะไรที่มีคุณภาพ ในทางตรงกันข้ามคุณจะเห็นงานเขียนที่น่าเบื่อ ประเด็นคือคุณจะรู้ว่าอะไรคือของดี และอะไรคือสิ่งต้องห้ามที่ไม่ควรทำ
ลองใช้หลักการเหล่านี้ ทำให้งานเขียนคุณมีพัฒนาการจนคุณตกใจ.