สภาพแวดล้อมภายนอกที่สนับสนุนเอสเอ็มอีนวัตกรรม
ผู้ประกอบการธุรกิจในระดับเอสเอ็มอีที่มีความสนใจ หรือมีประสบการณ์ในการนำนวัตกรรมมาสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับธุรกิจของตนย่อมทราบและเข้าใจดีว่า....
ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมาด้วยการก้มหน้าก้มตาทำทุกอย่างด้วยตัวเองภายในธุรกิจ โดยไม่สนใจพึ่งพาหรือนำสิ่งอื่น ๆ ภายนอกมาช่วยเลย เป็นเรื่องที่จะทำเกิดความสำเร็จได้ยากมาก
สิ่งต่าง ๆ ภายนอกธุรกิจ ที่ใช้คำเรียกแทนว่า “สภาพแวดล้อมภายนอก” ก็เป็นศัพท์ที่พอจะเข้าใจได้บ้าง หรือหากจะให้ทันสมัยให้เข้ากับบรรยากาศปัจจุบัน ก็อาจพบศัพท์คำว่า “ระบบนิเวศนวัตกรรม” ที่มาจากภาษาอังกฤษ Innovation ecosystem ก็อาจทำให้งุนงงมากขึ้น จนทำให้เอสเอ็มอีหลายๆ ราย มองว่าเรื่องของการสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจของตนเป็นเรื่องที่ไกลตัวออกไปอีก
นักวิชาการด้านนวัตกรรมธุรกิจ มักจะใช้คำว่า “ระบบนิเวศนวัตกรรม” ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจนวัตกรรมจะ เกิดขึ้น เติบโต และพัฒนาต่อไปได้โดยไม่ล้มหายตายจากไปเสียก่อน จะมีพฤติกรรมและวงจรชีวิตที่คล้ายกับระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง
กล่าวคือ สิ่งมีชีวิตที่จะดำรงอยู่และสืบทอดสายพันธุ์ต่อไปได้ในอาณาบริเวณใดบริเวณหนึ่ง จะต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างตัวของสิ่งมีชีวิตเอง กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ตั้งแต่ลำดับขั้นตอนของห่วงโซ่อาหาร ที่ช่วยทำให้เกิดการหมุนเวียนระหว่างสารอาหาร พลังงาน และสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ฯลฯ ได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง
ระบบนิเวศนวัตกรรมก็เช่นกัน หากธุรกิจใดที่ได้เข้าไปอยู่ในระบบนิเวศนี้ ก็จะมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่จะทำให้กระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมของธุรกิจเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์แบบ พร้อม ๆ กันกับองคาพยบทุกส่วนที่ประกอบกันอยู่ในระบบนิเวศนั้น
โดยทั่วไปแล้ว ระบบนิเวศนวัตกรรม ที่เหมาะสม จะมีองค์ประกอบสำคัญต่าง ๆ เช่น พื้นที่ที่จะเป็นที่ก่อตัวของระบบนิเวศ ตัวธุรกิจเอง บุคลากรที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมต่างๆ ที่อาจเป็นไปได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เช่น การแข่งขันระหว่างธุรกิจ การร่วมมือกัน หรือการเข้าครอบงำธุรกิจอื่น ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นผลผลิตของธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำเป็น องค์กรสนับสนุน และความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในระบบนิเวศเดียวกัน หรือกับระบบนิเวศอื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป
จึงเห็นได้ว่าองค์ประกอบของระบบนิเวศนวัตกรรม จะมีทั้งในส่วนที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เช่น ตัวธุรกิจ องค์กร ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นผลผลิตของธุรกิจและองค์กรที่อยู่ร่วมกัน เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ และในส่วนที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ เช่น ระดับความสัมพันธ์ ความร่วมมือ การแข่งขัน แนวคิดนวัตกรรม การลอกเลียนแบบ การทำลายล้างที่สร้างสรรค์ ฯลฯ เป็นต้น
ระบบนิเวศนวัตกรรม อาจเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติของธุรกิจ เช่น การรวมตัวของร้านทอง จนทำให้เกิดเป็นแหล่งพัฒนาและสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบ เทคโนโลยีการผลิตและแปรรูบ ระบบการเงิน การแลกเปลี่ยนที่ทันสมัย และมาตรฐานคุณภาพในระดับสูง
และที่มักถูกยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างอยู่เสมอ ก็คือ ย่านซิลิคอนวัลเลย์ที่โด่งดังในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นแหล่งต้นกำเนิดนวัตกรรมคอมพิวเตอร์และไอทีในระดับโลก
ระบบนิเวศนวัตกรรม อาจเกิดขึ้นได้โดยการจงใจสร้างหรือพัฒนาขึ้นโดยนโยบายของรัฐหรือภาคเอกชน ที่เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกันจากการเกิดระบบนิเวศที่ยั่งยืน
ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาในประเทศไทยเรา หลายท่านอาจเริ่มได้ยินคำว่า “ย่านนวัตกรรม” บ่อยครั้งขึ้น ซึ่งเป็นการริเริ่มและผลักดันจากภาครัฐและภาคเอกชน ที่ต้องการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม ขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ
ตัวอย่างเช่น ย่านนวัตกรรมในพื้นที่นำร่อง 10 แห่งที่ริเริ่มและผลักดันโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ภายใต้สังกัดของกระทรวง อว. เช่น ย่านนวัตกรรมโยธี (นวัตกรรมการแพทย์) ย่านนวัตกรรมปทุมวัน (ศูนย์กลางผู้ประกอบการนวัตกรรม) ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท (พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มัลติมีเดียและดิจิทัล) ย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ (เศรษฐกิจสร้างสรรค์) ย่านนวัตกรรมคลองสาน (ความรู้และภูมิปัญญาชุมชน)
ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี (ดิจิทัลและไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่) ย่านนวัตกรรมลาดกระบัง (อุตสาหกรรม การขนส่งและโลจิสติกส์) ย่านนวัตกรรมบางแสน (ต้นแบบการบริหารจัดการเมืองทันสมัย) ย่านนวัตกรรมศรีราชา (นวัตกรรมเชิงนิเวศ) และ ย่านนวัตกรรมพัทยา (เมืองน่าอยู่และน่าทำงาน) และยังมีการพัฒนาขยายพื้นที่ย่านนวัตกรรมออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้นทั้งในพื้นที่ส่วนกลางและภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลจากเว็ปไซต์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) www.nia.or.th)
จะเห็นได้ว่า เอสเอ็มอีไทย ยังมีแหล่งสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้โอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรมหรือสร้างความสัมพันธ์กับองค์กร หน่วยงาน และธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในระบบนิเวศนวัตกรรม หรือย่านนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบ ดังที่กล่าวมา
เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ในการสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่เป็นของตนเองแบบผ่อนแรง โดยอาศัยสภาพแวดล้อมภายนอกและระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้ออำนวยเป็นตัวช่วย!!!!