อุดมศึกษา ควรมีบทบาทอย่างไรใน สังคมสูงวัย | วิทยา ด่านธำรงกูล
เหลือเวลาอีกไม่มาก!! ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" แบบสุดยอดในอีกเพียง 10 ปีข้างหน้า งานนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง อุดมศึกษา เร่งเตรียมพร้อมลดทอนความรุนแรงจาก ระเบิดเวลา ลูกใหญ่นี้ร่วมกัน
เร่งสร้างความรู้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ขยับทำกันบ้างแล้วในหลายสถาบันจากความเป็นแหล่งรวมความรู้และมีกำลังคนทั้งครูอาจารย์และลูกศิษย์ บทบาทสถาบันอุดมศึกษาย่อมจะเปลี่ยนไปในยามที่ประชากรเด็กลดลง ต้องกลายร่างเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้โดยไม่จำกัดวัย เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning)
สถาบันอุดมศึกษาต้องเปิดกว้าง ไม่เฉพาะผู้ทรงภูมิหรือเด็กที่ฝ่าฝันการสอบเข้ามาได้เท่านั้น แต่ต้องเป็นของทุกคนทุกวัย เป็นที่ให้ทุกคนเข้ามาเรียนรู้ได้เท่าที่อยากรู้และด้วยต้นทุนที่ต่ำหรือไม่มีเลย
ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้จะเห็นสถาบันอุดมศึกษาจำนวนหนึ่งเริ่มปรับไปสู่การเป็นตลาดวิชาสำหรับทุกคน จะเห็นภาพคนสูงวัยมานั่งเรียนในชั้นเดียวกับนักศึกษาแบบที่ไม่หวังจะเอาเกรด แต่ต้องการความรู้ไปทำมาหากินหรือใช้ชีวิต
เด็กๆ ในรุ่นลูกหลานจะทำหน้าที่เป็นโค้ชในการเรียนรู้ให้ผู้สูงวัยเหล่านี้ไปพร้อมกัน สถาบันที่เริ่มทำไปแล้วเช่น วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ควรเร่งรีบลงมือทำกันในอีกหลายๆ สถาบัน เพราะมีทรัพยากรอยู่แล้ว
หัวใจคือต้องออกแบบเนื้อหาและการเรียนการสอนที่สนองความต้องการของผู้สูงวัย มีหลากหลายรูปแบบ สร้างความคล่องตัวในการเรียนรู้ให้กับผู้สูงวัยมากที่สุด
เร่งสร้างนวัตกรรม ทั้งนวัตกรรมในการใช้ชีวิต ป้องกัน ชะลอและรักษาการเจ็บป่วย เพื่อให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี และเป็นภาระกับคนรอบข้างให้น้อยที่สุด
นวัตกรรมทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับผู้สูงอายุจะเป็นที่ต้องการอีกมากในอนาคต คณะต่างๆ ในสถาบันตั้งแต่วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วัสดุศาสตร์ แพทยศาสตร์ ต้องจับมือกันเพื่อสร้างนวัตกรรมเหล่านี้ ควรจัดให้มีการแข่งขันหรือประกวดการสร้างนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดมากๆ เป็นทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
รัฐบาลอาจให้การสนับสนุนทั้งในแง่เงินทุน มาตรการทางภาษี และอื่นๆ เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อผู้สูงวัยจากความคิดคนไทยออกไปขายได้ในตลาดโลกด้วย
เร่งสร้างโอกาส สร้างพื้นที่ในการหางานและทำมาหากินให้ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงและทำงานได้ ต่อไปจะไม่มีคำว่าเกษียณที่อายุ 60 ตราบใดที่ผู้สูงอายุยังมีสมองและกำลังกายใจที่จะทำงาน
สถาบันอุดมศึกษาสามารถต่อยอดสร้างพื้นที่ให้เกิดการทำมาหากินทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หลังจากที่ให้ความรู้และทักษะไปแล้ว ในเมื่อสถาบันอุดมศึกษาต่างก็ได้ผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองตลาดแรงงานมานานแสนนาน ไม่แปลกอะไรที่จะเล่นบทบาทการผลิตผู้สูงวัยที่มีคุณภาพให้นายจ้างอย่างที่เคยทำกับบัณฑิต ไม่ว่าจะงานประจำหรืองานชั่วคราว
ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ (ABCD) ได้พยายามสร้างพื้นที่ตลาดงานเพื่อการทำ Job Matching ระหว่างผู้สูงวัยตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปกับนายจ้างที่พร้อมจะจ้างผ่านแพลตฟอร์ม Ready Senior ในอนาคตควรจะมีพื้นที่เหล่านี้มากขึ้น ตราบใดที่ผู้สูงอายุได้ทำงาน ได้มีสังคม จะช่วยชะลออาการเจ็บป่วยและโรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นโรคที่น่ากลัวออกไปให้ยาวนานขึ้น
เร่งสร้างความวางใจ สถาบันอุดมศึกษาย่อมไม่ต่างจากองค์กรอื่นๆ ที่ต้องถูกทรานส์ฟอร์มอย่างยิ่งในยุคนี้ สถาบันอุดมศึกษาต้องสร้างความไว้วางใจว่าจะเป็นที่พึ่งในทางใดทางหนึ่งให้กับผู้สูงอายุได้เสมอ พยายามสร้างช่องทางที่เปิดกว้างที่สุด ง่ายที่สุดที่จะสามารถเข้าถึงได้ สร้างความเชื่อมั่นว่าเมื่อติดต่อเข้ามาจะได้รับคำแนะนำ หรือการช่วยเหลือในทางใดทางหนึ่ง การที่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ไม่มีหน่วยงานไหนจะทำหน้าที่ได้ครบถ้วนเช่นสถาบันอุดมศึกษาอย่างแน่นอน
เร่งสร้างเครือข่าย สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นเครือข่าย สร้างความร่วมมือ เพื่อใช้ทรัพยากรและจุดเด่นของแต่ละที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ผู้สูงอายุต่างเพศ ต่างวัย ต่างพื้นที่ล้วนมีความแตกต่างกันออกไป สถาบันทั้งหลายควรต้องร่วมวิจัย ร่วมเรียนรู้ ร่วมทำงาน เพื่อร่วมสร้างปรากฏการณ์ใหม่รองรับสังคมสูงวัย
สถาบันอุดมศึกษาย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และนี่คือยุคสมัยที่ผู้สูงวัยเต็มเมือง หากพันธกิจยังไม่เปลี่ยน สถาบันเหล่านี้ย่อมไม่มีเหตุผลอะไรที่จะดำรงอยู่ จะเรียกว่าปฏิรูปหรืออะไรก็แล้วแต่ หากยังไม่เปลี่ยนบทบาท วันหนึ่งถ้าจะมีสถาบันอุดมศึกษาล้มหายตายจากไปบ้าง ก็คงไม่ทำให้ผู้คนรู้สึกอะไร.