COP26 ยังหลงอยู่ในวงจรอุบาทว์ | ไสว บุญมา

COP26 ยังหลงอยู่ในวงจรอุบาทว์ | ไสว บุญมา

หากมองจากรายงานของสื่อ การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ COP26 ที่เพิ่งจบไปไม่มีอะไรเกี่ยวเนื่องกับเรื่องภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเป็นประเด็นใหญ่ในด้านเศรษฐกิจของสหรัฐขณะนี้

ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ COP26 ที่เพิ่งจบ หากมองให้กว้างกว่านั้น อาจเห็นกิจกรรมจำพวกการเล่นเจตสกีและขับขี่ยานยนต์ที่ใช้ได้ในทุกภูมิประเทศเป็นตัวเชื่อมฐานปรากฏการณ์ทั้งสอง คอลัมน์นี้พูดถึง COP26 ในระหว่างและหลังการประชุม  
    ประเด็นใหญ่ได้แก่การมองข้อสรุปของการประชุม กล่าวคือ ฝ่ายที่ใช้การเมืองเป็นฐานของการประเมินมองว่าประสบความสำเร็จเพราะกระบวนการปรึกษาหารือกันของประเทศต่าง ๆ จะยังดำเนินต่อไป  ส่วนฝ่ายที่ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นฐานของการประเมินมองว่าล้มเหลว เพราะมาตรการที่ประเทศต่าง ๆ จะทำต่อไปปิดโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายของการป้องกันมิให้อุณหภูมิบนผิวโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสแบบแทบจะสมบูรณ์แล้ว

คอลัมน์นี้เคยตั้งข้อสังเกตว่า ผู้เข้าร่วมประชุมดังกล่าวนับหมื่นคนพูดกันเฉพาะเรื่องวิธีที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้เทคโนโลยีใหม่แทนการใช้เทคโนโลยีที่ใช้เชื้อเพลิงสกปรกจำพวกถ่านหิน  แต่ไม่พูดถึงตัวขับเคลื่อนใหญ่ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก นั่นคือ การบริโภคแบบทำลาย หรือที่เกินความจำเป็นของชาวโลก รวมทั้งการเล่นเจตสกีและการขับขี่ยานยนต์ที่อ้างถึง
    คงเป็นที่ทราบกันดีว่า การเล่นเจตสกีแผดเสียงแบบหูดับตับไหม้และทำให้เกิดคลื่นในแหล่งน้ำที่นำไปสู่การกัดเซาะตลิ่ง อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน  

ส่วนยานยนต์ที่ใช้ได้ในทุกภูมิประเทศส่งเสียงดังและทำให้ทั้งพื้นดินโดยเฉพาะที่ลาดชันและขอบลำธารพังทลาย พร้อมกับก่อให้เกิดอันตรายด้วย  กิจกรรมเพื่อความบันเทิงทั้งสองอย่างนี้เผาผลาญเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูง แต่เป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวของกิจกรรมจำพวกการบริโภคแบบทำลายและไม่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต  

มนุษย์ส่วนใหญ่ตกอยู่ในวังวนของการคิดว่า ตนต้องบริโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมทั้งสิ่งไม่จำเป็นจึงจะทำให้มีความสุข  

ในขณะเดียวกัน แนวคิดกระแสหลักทางเศรษฐกิจและการพัฒนาก็ตกอยู่ในวังวนที่ว่า การพัฒนามาจากการเอื้อให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องพิจารณาว่าการบริโภคนั้นจำเป็นหรือไม่

 นโยบายของรัฐบาลโดยทั่วไปจึงเน้นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการบริโภค  แนวคิดนี้เข้ามาแทนที่แนวคิดเศรษฐกิจความมั่นคง (steady-state economy) ที่เคยมีมาก่อน แต่ถูกยึดเป็นแนวปฏิบัติในปัจจุบัน  แม้แนวคิดแนวความมั่นคงจะได้รับการปรับร่วมกับหลักการด้านอื่นจนเกิดเศรษฐกิจพอเพียง แต่ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจชั้นแนวหน้านำไปพิจารณา หรือประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง  


สำหรับปรากฏการณ์ด้านภาวะเงินเฟ้อ ข้อมูลบ่งว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐในขณะนี้สูงสุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา  ผู้เชี่ยวชาญพากันโทษภาวะขาดตลาดของผลิตภัณฑ์อันเกิดจากผลกระทบของโควิด-19 ต่อการขนส่งและกระจายสินค้าที่เรียกกันว่า ห่วงโซ่อุปทาน  พวกเขาหยุดแค่นั้นโดยไม่มองต่อไปว่า ผลิตภัณฑ์ที่ขาดตลาดนั้นรวมทั้งจำพวกเจตสกีและยานยนต์ที่ใช้ทำลายพื้นที่ลาดชันหรือไม่  


หากมองต่อไปถึงรายละเอียดของภาวะขาดตลาดจะพบว่า หลังจากกักตัวอยู่กับบ้านเป็นเวลานานเพื่อหลีกเลี่ยงการติดโควิด-19 ชาวอเมริกันพร้อมกันซื้อแทบทุกอย่างแบบปราศจากการพิจารณาว่า สิ่งเหล่านั้นจำเป็นหรือไม่  ในขณะนี้ใกล้วันมอบของขวัญประจำปีของเทศกาลคริสต์มาส ชาวอเมริกันได้แรงจูงใจให้เร่งซื้อเพิ่มขึ้นอีกแรงหนึ่ง ทั้งเพื่อปีนี้และเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดไปของปีที่แล้ว  


หากชาวอเมริกันไม่มีพฤติกรรมจำพวกทุ่มซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า การขนส่งและกระจายสินค้าที่มีความจำเป็นจริงๆ สำหรับดำเนินชีวิตย่อมจะไม่ติดขัดและราคาของสิ่งเหล่านั้นจะไม่พุ่งขึ้นไปในอัตราสูง  

แต่ชาวอเมริกันถูกล้างสมองมานานเรื่องการต้องบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงจะมีความสุข  พวกเขาและชาวโลกโดยทั่วไปติดอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการคิดแบบนี้มานาน จึงไม่มีวันที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่มาจากภาวะเงินเฟ้อในระยะสั้น หรือปัญหาที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศในระยะยาว