การลักพาตัวสัตว์เลี้ยงกับสิทธิของสัตว์ | กฎหมาย4.0

การลักพาตัวสัตว์เลี้ยงกับสิทธิของสัตว์ | กฎหมาย4.0

สัตว์เลี้ยงเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน สำหรับเจ้าของมันคือเพื่อนและความสุข ในขณะเดียวกัน เจ้าของก็คือเพื่อนและความสุขของสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน สัตว์เลี้ยงกับเจ้าของจะมีความสัมพันธ์ในลักษณะของการแบ่งปันความรักซึ่งกัน เสมือนคนในครอบครัว

เมื่อได้ยินคำว่า “สัตว์เลี้ยง” มักจะชวนให้นึกถึงสุนัขหรือแมว เรามักจะอมยิ้มให้กับความฉลาดและความน่ารักของพวกมัน สัตว์เลี้ยงมีความสามารถในการจดจำกลิ่น เสียงและรูปร่างของเจ้าของ และยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกและอารมณ์ของเจ้าของได้อีกด้วย สัตว์เลี้ยงจึงกลายเป็นสิ่งที่พิเศษมากสำหรับเจ้าของและใครหลาย ๆ คน
    สัตว์เลี้ยงมักจะดีใจและรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้อยู่ใกล้ชิดเจ้าของ ในทางตรงกันข้ามการพลัดพรากจากเจ้าของอาจเป็นเรื่องที่แย่ที่สุดในชีวิตของพวกมัน เพราะมันอาจต้องเผชิญกับความเหงาและความโดดเดี่ยว บางตัวอาจมีอาการซึมเศร้าและไม่ยอมกินอาหารจนตรอมใจตายในที่สุด

ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทำให้มนุษย์ได้รับรู้ว่าสัตว์มีระบบประสาท มีความรู้สึกและมีความสามารถในการรับรู้ถึงความทุกข์และความเจ็บปวดที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ มนุษย์จึงมีความพยายามที่จะให้คุณค่าในความเป็นสัตว์และให้การรับรองสิทธิของสัตว์ในทำนองเดียวกับสิทธิในความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน 
    แนวความคิดเรื่องสิทธิของสัตว์ข้างต้นถือเป็นบ่อเกิดของปฏิญญาสากลเกี่ยวกับสัตว์ที่สำคัญ 2 ฉบับ ฉบับแรกคือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของสัตว์ (Universal Declaration of Animal Rights) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ.1987 ซึ่งได้รับรองว่าสัตว์ทุกตัวมีสิทธิเท่าเทียมกันไม่แตกต่างจากมนุษย์ และสิทธิของสัตว์ย่อมต้องได้รับการยอมรับและเคารพเช่นเดียวกับสิทธิของมนุษย์ 
    อีกฉบับหนึ่งคือปฏิญญาสากลว่าด้วยสวัสดิภาพสัตว์ (Universal Declaration on Animal Welfare) ซึ่งได้มีการยกร่างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16–17 มิถุนายน ค.ศ.2000 เพื่อส่งเสริมให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญแก่สวัสดิภาพสัตว์ในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิต มีความรู้สึก และสามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดได้ 

แม้ว่าปฏิญญาสากลดังกล่าวจะไม่มีผลผูกพันในทางกฎหมาย แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างมาตรฐานด้านการคุ้มครองสิทธิของสัตว์ให้กับประเทศต่าง ๆ และยังมีส่วนผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของสัตว์ที่เป็นรูปธรรมทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล  
    เรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการขโมยสุนัขหรือแมว โดยเฉพาะในช่วงที่มีการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 พบว่าสัตว์เลี้ยงในประเทศอังกฤษถูกลักพาตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งคดีลักษณะเช่นนี้จะอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ ค.ศ.1968 (Theft Act 1968) เท่านั้น ซึ่งเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายดังกล่าวมุ่งคุ้มครองแต่เพียงสิทธิของมนุษย์เพื่อป้องกันการละเมิดต่อทรัพย์สินของบุคคล ไม่ได้มีเป้าประสงค์ที่จะคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของสัตว์แต่อย่างใด
    นั่นหมายความว่า กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันไม่อาจครอบคลุมถึงบริบทของการลักพาตัวสัตว์ เพราะไม่อาจถือว่าการลักพาตัวสัตว์เลี้ยงเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยตรง

การลักพาตัวสัตว์เลี้ยงกับสิทธิของสัตว์ | กฎหมาย4.0

ยิ่งไปกว่านั้นการลักสัตว์เลี้ยงอาจเป็นเพียงการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดาเท่านั้น หาใช่เป็นการกระทำต่อทรัพย์สินพิเศษที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษหนักขึ้นแต่อย่างใด
    ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอังกฤษจึงมีความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับกรณีการลักพาตัวสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ โดยกำหนดให้เป็นความผิดแยกออกจากความผิดฐานลักทรัพย์ และแก้ไขบทลงโทษให้สอดคล้องกับกระทำที่อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสัตว์และเจ้าของ 
    คำว่า “ลักพาตัวสัตว์เลี้ยง” มีรากศัพท์มาจากการลักพาตัวบุคคล ซึ่งจะตรงกับคำในภาษาอังกฤษ คือ “Abduction” หรือ “Kidnapping”  การใช้คำว่าลักพาตัวสัตว์นั้นอาจสื่อความหมายในแง่ของการคุ้มครองสัตว์โดยตรง และสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างในทางกฎหมายระหว่างการกระทำความผิดฐานลักสัตว์กับลักทรัพย์
    ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน การลักสัตว์เลี้ยงเป็นเพียงความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 เท่านั้น ส่วนพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 และประมวลกฎหมายอาญาภาคความผิดลหุโทษ มาตรา 381 และมาตรา 382 แม้จะเป็นบทบัญญัติเฉพาะที่คุ้มครองสิทธิของสัตว์ในหลากหลายบริบทก็ตาม แต่ก็ไม่อาจตีความว่าการลักสัตว์เป็นการทารุณกรรมสัตว์อยู่ในตัวได้
    ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นดังกล่าว ประเทศไทยควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญาให้ครอบคลุมถึงบริบทของการลักสัตว์เลี้ยง โดยอาจกำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษหนักขึ้น กำหนดมาตรการและกลไกในการป้องกันการลักพาตัวตลอดจนการติดตามสัตว์เลี้ยงคืนสู่เจ้าของ
    นอกจากนั้น หากแนวคิดในเรื่องสิทธิสัตว์มีการพัฒนาและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางประเทศไทยอาจจะต้องมีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสากลด้านการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของสัตว์ และอาจมีการบัญญัติรับรองสิทธิของสัตว์ในรัฐธรรมนูญไทย 
    เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว รัฐบาลควรจัดให้มีการเรียนการสอนด้านสิทธิสัตว์เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ถึงสิทธิของสัตว์ รวมถึงการจัดทำหลักสูตรเฉพาะทางด้านกฎหมายสัตว์ (Animal Law) ในระดับอุดมศึกษา เพื่อผลิตนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างสมดุลในการคุ้มครองสิทธิสัตว์กับสิทธิมนุษยชน
บทความโดย... 
พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กานพลู งานสม
นักวิชาการอิสระ