เรื่องเล่า “ละครคุณธรรม” จากฝั่งแดนมังกร
กำลังเป็นกระแสอย่างต่อเนื่อง สำหรับคลิปแนวละครสั้นแฝงแง่คิด ปลูกฝังคุณธรรม ซึ่งเราอาจจะเรียกว่า “ละครคุณธรรม” ก็ได้ มีหลายคนถาม "อ้ายจง" มามากมายว่า แท้จริงแล้วคลิปแบบนี้ต้นกำเนิดมาจาก "แดนมังกร" หรือไม่? อ้ายจงจะมาเล่าให้ฟังครับ
ก่อนหน้านี้ เราจะเห็นคลิปแนว "ละครคุณธรรม" นี้ตามทีวี รายการพิเศษช่วงวันหยุด แต่ตอนนี้ขึ้นมาอยู่บนโลกออนไลน์ กลายเป็นเทรนด์ที่มีทำออกมาเยอะมาก และแทบทั้งหมดก็ล้วนแต่กลายเป็นไวรัล ได้ยอดถูกใจ และแชร์สูงกว่าคลิปทั่วไปมาก แต่ดูเหมือนว่าพล็อตที่คนจดจำกันได้มากที่สุดคือ “การปลอมตัวเป็นผู้บริหาร หรือคนรวย เพื่อลองใจคน”
ถ้าดูใน Google trend หรือเทรนด์การค้นหาบนกูเกิ้ลของคนไทย ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คำว่า “ประธานบริษัท” สูงอย่างก้าวกระโดด พร้อมวลีเด็ด “ฉันเป็นประธานบริษัท” ที่กลายมาเป็นคำค้นหา Breakout พุ่งแรงใน Google
หลายคนทักมาถาม อ้ายจง ว่า คลิปนี้มีต้นกำเนิดจากโลกออนไลน์จีนใช่ไหม? เพราะเหมือนจะเคยเห็นในจีนผ่านๆ ตา รวมถึงคลิปแนวๆ นี้ แม้ทำเป็นภาษาไทย แต่ก็จะมีปิดท้ายด้วยเพลงหรือซาวด์ดนตรีแบบจีน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หรือจุดกำเนิดฉันเป็นประธานบริษัท จะข้ามทะเลจีนใต้ยกพลขึ้นบกมาไทยแลนด์กัน
ดังนั้นบทความนี้ อ้ายจงจึงขอชวนทุกคนมานั่งล้อมวงฟังเรื่องเหลา เอ้ย เรื่องเล่า จากแดนมังกรกัน
รัฐบาลจีน ผลักดัน Soft Power การสร้างสรรค์เนื้อหาปลูกจิตสำนึกประชาชน กระตุ้นคนจีนให้เปิดรับเนื้อหาแนวซึ้งกินใจมากขึ้น
ต้องยอมรับนะครับว่า หากย้อนไป 10-20 ปี ภาพลักษณ์ของคนจีนที่ถูกมองโดยคนต่างชาติ ดูไม่ค่อยเป็นแง่บวกนัก โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ความไม่มีน้ำใจ ความเป็นเอกเทศ ไม่สนใจใคร เวลาใครมีปัญหามักไม่ช่วยเหลือ และอื่นๆ อีกมากมายที่มองในแง่ลบ ไม่ใช่แค่คนภายนอกที่มองจีนแบบนั้น แต่คนจีนด้วยกันเองก็รู้สึกเช่นนี้เหมือนกัน
เราจึงได้เห็นข่าวในจีนออกมาไม่น้อย เกี่ยวกับการปล่อยให้เกิดเหตุสลดใจ โดยไม่มีคนช่วยเหลือ (หรือไม่กล้าช่วย เพราะกลัวจะมีปัญหาตามมาเสียเอง)
ยกตัวอย่างข่าวที่ดังที่สุดในยุคหนึ่งคือ เมื่อปี 2554 หรือ 10 ปีที่แล้ว เกิดกรณีเด็กหญิงวัย 2 ขวบ ที่เมืองฝอซาน ถูกรถตู้ชนแล้วเหยียบซ้ำ แม้จะมีผู้เดินผ่านไปผ่านมาเห็นเหตุการณ์ แต่ไม่มีใครเข้าช่วยเหลือ จนภายหลังมีการเปิดตัวเลขออกมาว่า จำนวนผู้คนที่เดินผ่านและเห็นเหตุการณ์มีจำนวนถึง 18 คน จนกระทั่งคุณป้าเก็บขยะมาเห็นเข้าจึงช่วยเหลือ เหตุที่คนจีนนิ่งและกลัวการช่วยเหลือ ณ ขณะนั้น เป็นเพราะเคยมีเคส “พลเมืองดีเข้าช่วยเหลือคุณป้าซึ่งตกจากรถประจำทาง แต่กลับถูกตัดสินว่าเป็นคนทำผิด” นั่นเอง
สังคมจีนจึงมีการเรียกร้องให้ทางภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือและคุ้มครองพลเมืองดี พูดง่ายๆ คือ ช่วยทำให้คนกล้าทำดี ทางการจีนเองก็ตระหนักถึงปัญหานี้ดี ไม่ใช่แค่เพื่อความเป็นระเบียบในสังคมจีนเอง แต่เพื่อภาพลักษณ์ที่นานาประเทศมองมาที่จีนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐบาลของ สี จิ้นผิง ซึ่งมีนโยบายสร้างภาพลักษณ์ในทางที่ดีของจีนบนเวทีโลกมากขึ้น
นั้บแต่นั้นเป็นต้นมา ในช่วงหลายปีมานี้ คลิปแนวช่วยเหลือสังคม ทำความดี จึงปรากฎบนโลกออนไลน์และสื่อโซเชียลจีนแทบทุกวัน โดยมีปรากฏบนบัญชีสังคมออนไลน์ของสื่อหลักจีนด้วย อาทิ People’s Daily, CCTV News
สำหรับลักษณะคลิป มีทั้งเป็นคลิปเหตุการณ์จริง นำมาจากกล้องวงจรปิดมาตีแผ่ความดี คลิปลองใจที่สร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อลองใจคน ไปจนถึงคลิปแนวละครคุณธรรมที่เราได้เห็นอยู่ทั่วไปบนโลกออนไลน์ไทยตอนนี้
ผลจากการคุมเนื้อหาบนโลกโซเชียล-ออนไลน์ของรัฐบาลจีน จากเนื้อหาสร้างสรรค์สุดเพี้ยน สู่เนื้อหาสร้างแรงบันดาลใจสร้างสรรค์เชิงบวกมากขึ้น
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้นักสร้างสรรค์คลิปและเนื้อหาออนไลน์ในจีน หันมาทำคลิปแนวทำความดี ลองใจคน เป็นผลพวงจากการพยายามคุมเนื้อหาบนโลกออนไลน์ของรัฐบาลจีนในช่วง 4-5 ปีมานี้ โดยเฉพาะการสร้างคอนเทนต์ที่เน้นความสนุกจนเกินพอดี พอไปประกบเข้ากับกระแสเนื้อหาเชิงบวก จรรโลงสังคม ที่ทางรัฐบาลจีนพยายามผลักดัน พวกเขาเลยทำคอนเทนต์มาในทิศทางนี้กันมากขึ้นนั่นเองครับ
ความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในสังคมจีน ถูกสะท้อนออกมาผ่านคลิป
ความเหลื่อมล้ำ ถือเป็นปัญหาที่ทางการจีนพยายามแก้ไขเช่นกัน อย่างนโยบายแก้จน 2020 ที่จีนประกาศความสำเร็จไปแล้ว หากว่ากันตามตรง ความเหลื่อมล้ำแม้ถูกแก้ไขไปไม่น้อย แต่ยังคงมีอยู่ ความเหลื่อมล้ำในที่นี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของรายได้ แต่เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต และการมองคนอีกชนชั้นหนึ่ง การปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกผ่านสื่อ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จีนนำมาใช้
สร้างสรรค์ที่ยังไม่สร้างสรรค์ (แบบหลากหลาย) ยังคงเป็นปัญหาในการสร้างผลงานในจีน และมีการมองหาต้นแบบจากชาติอื่นมากขึ้น อย่างเช่น ประเทศไทย
รู้หมือไร่ เอ้ย รู้หรือไม่ครับว่า คลิปโฆษณา คลิปวิดีโออะไรที่ไวรัลในไทย หรืออาจไม่ได้ไวรัลในไทย แต่มีความ Creative โดยเฉพาะสายซึ้งกินใจ มักจะไปดังในโลกออนไลน์จีน แม้ว่าจะเป็นคลิปที่เก่าหรือเกิดขึ้นนานแล้วก็ตาม
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น คลิปโฆษณาของบริษัทประกันหลายแห่งของไทย ก็เป็นกระแสในโลกออนไลน์จีนอยู่จนถึงทุกวันนี้ ถึงขั้นมีเพจเกี่ยวกับโพสต์คลิปโฆษณา คลิปบันเทิงจากไทยเลยทีเดียว อ้ายจงมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนชาวจีนที่เขาทำงานเป็น Creative Director ของบริษัทสื่อออนไลน์แห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เขาบอกตรงๆ ว่า
ในแง่ความ Creative ขอยกให้คนไทยเลย นั่นคือ ทำออกมาได้หลากหลาย ไม่ใช่เพียงมิติเดียว อย่างของจีน แม้จะทำให้สร้างสรรค์แต่ยังยึดติดแบบมิติเดียวอยู่ อาทิ ความชาตินิยม ที่อาจใส่ลงไปมากเกินไป ทำให้คนจีนเองมองหาอะไรที่มัน Real จริงๆ และของไทย ตอบโจทย์นั้น
ทั้งนี้ ผมเองก็ขอถือโอกาสนี้เปิดตัวบ้างเลยแล้วกันว่า...แท้จริงแล้ว ผมไม่ใช่อ้ายจง ไม่ใช่แค่อาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ผมเป็น… ประธานผ้าป่า ตึงโป๊ะ!!!
ผู้เขียน : ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่