เก็บภาษีเงินคริปโทเคอร์เรนซี | พิเศษ เสตเสถียร
ประธานาธิบดีสหรัฐได้ลงนามในกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงภาษีจากการโอนเงินคริปโทเคอร์เรนซี ที่มูลค่าธุรกรรมเกินกว่า 10,000 เหรียญ ต้องยื่นแบบฟอร์มระบุข้อมูลชื่อจริง จากปกติที่ใช้รหัสแทนชื่อจริง
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ลงนามในกฎหมาย Infrastructure Investment and Jobs Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทำการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructure) ในด้านต่าง ๆ เช่น การขนส่ง ระบบบรอดแบนด์ และสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เพื่อที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนหนึ่งของการปรับปรุงครั้งนี้ได้มีการแก้ไขมาตรา 6050I ของประมวลรัษฎากรเพื่อทำการเก็บภาษีจากการโอนเงินคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ซึ่งตามมาตรา 6050I ที่เพิ่มใหม่นี้บุคคลใดที่มีธุรกรรมรายการใดเป็นมูลค่าเกินกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐจะต้องยื่นแบบ Form 8300 ภายใน 15 วัน
ผู้ยื่นแบบต้องกรอกข้อมูลเกี่ยวกับเช่น ชื่อจริง วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ เลขบัตรประกันสังคม และอาชีพของผู้จ่ายเงิน และผู้แจ้งยังมีหน้าที่ส่งสำเนาการแจ้งให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องภายในวันที่ 31 มกราคมของปีถัดไปด้วย
การฝ่าฝืนเกี่ยวกับการแจ้งดังกล่าวจะมีโทษจำคุกสูงถึง 5 ปี มาตรา 6050I เป็นมาตราที่เกี่ยวกับการโอน “เงิน” ตามที่ได้แก้ไขใหม่ก็ให้รวมถึง “ของที่มีค่าทางดิจิทัล” (any digital representation of value) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (distributed ledger technology) เช่น Blockchain
ผู้ที่ทำธุรกรรมด้วยเงินคริปโท ที่จะต้องยื่นแบบ คือ “บุคคล” (ซึ่งรวมถึงบริษัท ห้างหุ้นส่วน สมาคม ทรัสต์) ได้รับในทางการค้าหรือธุรกิจซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมีมูลค่าตามกฎหมายเกินกว่า 10, 000 ดอลลาร์สหรัฐ และไม่เข้าข้อยกเว้นที่สำคัญก็คือ ข้อกำหนดดังกล่าวได้รวมถึง “โบรคเกอร์” (Broker) ซึ่งมิใช่นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ทั่วไป แต่ยังรวมไปถึง นักขุดเหรียญคริปโท (miner) ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วย ถ้อยคำในบทบัญญัติของมาตราดังกล่าวแยกอธิบายได้ดังนี้
คำว่า “รับ” ผู้ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีนั้นจะถือว่าได้รับสินทรัพย์ดิจิทัลมาเมื่อสินทรัพย์นั้นเข้ามาในบัญชีหรืออยู่ที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีอำนาจควบคุม เช่น การเป็นเจ้าของ “กุญแจส่วนตัว”(private key) ที่ใช้ในการเข้ารหัส ผลทางภาษีต่างจากการแจ้งตามแบบ Form 8300 โดยการรับนั้นจะเกิดขึ้นโดยไม่คำนึงถึงว่าสินทรัพย์นั้นจะถูกยึดไว้เป็นประกันหรืออยู่กับผู้ดูแลทรัพย์สิน (custodian)
“การค้าหรือธุรกิจ” ไม่มีคำนิยามไว้ในกฎหมายโดยตรง การหาผลประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะถูกถือว่าอยู่ในความหมายนี้ การมีไว้ซึ่งระบบสำหรับการขุดสินทรัพย์ดิจิทัล (mining) หรือกระบวนการในการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมบนบล็อกเชน (staking) ก็อาจจะเข้าความหมายนี้เช่นกัน
คำนิยามของ “สินทรัพย์ดิจิทัล” เป็นคำที่กว้างขวางที่จะครอบคลุมสินทรัพย์รูปแบบต่าง ๆ ของเทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ (distributed ledger technologies) เช่น bitcoin หรือ non-fungible tokens (NFTs)
การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งกับสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง เช่น การซื้อ NFTs ด้วยเงินคริปโท อาจจะถูกถือเป็นการ “รับ” และถ้ามีมูลค่ามากกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐในวันที่ทำการซื้อขาย การแบ่งแยกการซื้อขายออกเป็นรายการเล็ก ๆ ที่มีมูลค่าไม่ถึง 10,000 เหรียญสหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงการแจ้งมีความผิดตามกฎหมาย
“ข้อยกเว้น” มีข้อยกเว้นบางประการตามกฎหมายที่เกี่ยวกับความลับของธนาคาร (Bank Secrecy Act) ที่จะทำให้ไม่ต้องรายงานได้ ข้อยกเว้นเหล่านี้มีขึ้นเพื่อลดแรงจูงใจในการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลโดยปราศจากคนกลาง
วงการคริปโท ฯ ต่างเป็นห่วงว่า บทนิยามของ “โบรคเกอร์” เพื่อประโยชน์ในการเก็บภาษีนั้นกว้างขวางเกินไป อาจจะรวมเอาบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงเข้าไปด้วย แต่กระทรวงการคลังของสหรัฐก็บอกว่า กฎหมายนี้ไม่ได้มุ่งหวังต่อคนที่ไม่ได้เป็นโบรคเกอร์ เช่น นักขุด หรือนักพัฒนาฮาร์ดแวร์
นอกจากนี้ ก็อาจจะมีปัญหาอื่น ๆ อีกเช่น ผู้ที่มีกระเป๋าเงินคริปโทฯ ของตนเองที่เรียกว่า self-custody wallet โดยเจ้าของกระเป๋าเงินดังกล่าวจะเป็นเจ้าของ private keys และถือกระเป๋านั้นไว้เองแทนที่จะใช้บริการของบุคคลที่สาม เช่น ศูนย์กลางการซื้อขาย (exchange)
ยกตัวอย่างเช่น ถ้านักลงทุนส่ง bitcoin มูลค่า 100,000 เหรียญสหรัฐจากกระเป๋าเงินคริปโทฯ ของตนไปยังอีกกระเป๋าหนึ่งใน Coinbase (แหล่งในการซื้อและขายสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่ง)
Coinbase จะต้องทำรายงานตามกฎหมายถึงการที่นักลงทุนจ่ายเงินมา 100,000 เหรียญสหรัฐ แต่ Coinbase ไม่รู้ว่าต้นทุนที่ซื้อ bitcoin นั้นมาเท่าไหร่เพราะว่า การซื้อขายดังกล่าวไม่ได้เกิดบนตลาดกลางในการซื้อขายแบบตลาดหลักทรัพย์
หรือปัญหาเกี่ยวกับความเป็นความลับของข้อมูลส่วนบุคคล (privacy) เช่น นักลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีไปซื้อรถยนต์ Tesla ด้วย bitcoin มูลค่า 60,000 เหรียญสหรัฐ ผู้ขายรถยนต์ก็ต้องขอข้อมูลของผู้ซื้อ ซึ่งทำให้ความเป็นความลับของข้อมูลส่วนบุคคลบางส่วนถูกเปิดเผย ซึ่งตามปกติผู้ที่มีเงินคริปโท จะไม่เปิดเผยชื่อของตน แต่จะใช้เป็นรหัสแทน
แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ราคาของ bitcoin ขณะที่เขียนบทความนี้ได้ตกลงมากว่า 20% ภายหลังจากที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดนลงนามในกฎหมายฉบับดังกล่าว.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก JDSupra, CNBC, และ New York Post