"เลือกตั้งท้องถิ่น" สัญลักษณ์ประชาธิปไตยแท้
เมื่อปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เกิดการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ พร้อมกับข่าวการจับฉลากเลือกนายก อบต.วังน้ำคู้ เนื่องจากผู้สมัครทั้ง 2 ได้รับคะแนนเลือกตั้งเท่ากัน
ไม่แน่ใจว่าระหว่าง กรณีที่ประชาชนได้ นายก อบต. อันมาจากการจับฉลาก กับการทนอยู่กับนายก อบต. ที่ประชาชนไม่ได้เลือก เพราะการระงับการเลือกตั้งท้องถิ่นโดย คสช. นั้นอะไรจะตลกปนเศร้ามากกว่ากัน
อบต. ถือเป็นองค์การการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ถือเป็นตัวแทนประชาชนในท้องถิ่นในตำบลที่อยู่นอกเขตเมือง มีหน้าที่ตั้งแต่การรักษาความเรียบร้อยในท้องถิ่น ดูแลความสะอาด ป้องกันโรคและบรรเทาสาธารณภัย จัดการศึกษาอบรมให้กับประชาชน บำรุงรักษาศิลปะ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
แท้จริงแล้ว ตัวแทนภาคประชาชนเพื่อมาบริหารท้องถิ่นนี้สมควรมาจากการเลือกตั้งในทุก ๆ 4 ปี ซึ่งสมควรหมดวาระและเลือกตั้งใหม่ตั้งแต่ พ.ค. 2561 แต่เพราะคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ อบต.ชุดเดิมทำหน้าที่จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเวลาก็ได้ผ่านไปกว่า 3 ปี
การเลือกตั้งเพื่อสรรหาตัวแทนจากคนในท้องถิ่นเพื่อมาบริหารงานท้องถิ่นนั้นถือเป็นไอเดียที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศเสรีประชาธิปไตย ความพยายามในการกระจายอำนาจของรัฐที่รวมศูนย์ที่ส่วนกลางสู่ท้องถิ่นนั้นมีอุปสรรคและความท้าทายอย่างมากไม่เฉพาะในประเทศไทย
รูปแบบการกระจายอำนาจรวมศูนย์จากรัฐบาลกลางสู่ท้องถิ่นนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบริบทของประเทศต่าง ๆ อาทิ สหรัฐที่มีทั้งรัฐบาลกลาง รัฐบาลมลรัฐ และยังมีองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งระบบที่มีของตัวแทน อำนาจภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นอยู่ภายใต้ไอเดียของการกระจายอำนาจด้วยความเชื่อพื้นฐานที่ว่า คนท้องถิ่นย่อมรู้ดีกว่าท้องถิ่นต้องการอะไร สมควรบริหารอย่างไรและไปในทิศทางใดโดยไม่ขัดกับหลักพื้นฐานของรัฐ
การปกครองส่วนท้องถิ่นของเรานั้นยังอ่อนแอทั้งในเชิงของอายุและในเชิงของวัฒนธรรมการเมือง กล่าวคือ ตั้งแต่เรามีการเลือกตั้งองค์การการปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งแรกในปี 2539 นั้นก็มีการเลือกตั้งต่อเนื่องมาอีก 4 ครั้ง จนครั้งสุดท้ายในปี 2555 จนกระทั่งมีการรัฐประหาร
ขณะที่วัฒนธรรมการเมืองของคนไทยที่คุ้นชินกับระบบที่ปกครองโดยส่วนกลางมาตั้งแต่สมัยโบราณ เทียบกับต่างประเทศที่มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องมากเป็นหลายสิบปีหรือเป็นร้อยปี ขณะที่วัฒนธรรมการดูแลปกครองตนเองก็มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ในเชิงของตัวเลข ปัจจุบันไทยมี อบต.ทั้งสิ้น 5,300 แห่ง มี อบจ. 77 แห่งตามจำนวนจังหวัด โดย อบต.นั้นได้รับงบประมาณจากรัฐมากถึง 226,450 ล้านบาท หรือเฉลี่ยแห่งละ 43 ล้านบาท ขณะที่ อบจ.นั้นได้รับงบที่ 28,787 ล้านบาท หรือเฉลี่ยแห่งละ 374 ล้านบาท และยังมีรายรับอื่น ๆ จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า รายได้อื่น ๆ เหล่านี้นั้นจะมากหรือน้อยนั้นก็ต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะตัว การพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละท้องถิ่นนั้น และนี่คือเหตุผลว่าทำไมบางท้องถิ่นถึงมีรายได้สูงมาก ขณะที่อีกท้องถิ่นนั้นมีรายได้น้อยมาก
จะเห็นได้ว่างบประมาณจำนวนมากที่ท้องถิ่นได้รับนั้นนอกเหนือจากการแบ่งสรรไปเป็นเงินเดือนผู้บริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ยังทำหน้าที่จัดจ้างเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญที่สุด คือ การจัดการบริหารจัดการการรักษาความเรียบร้อยในท้องถิ่น ดูแลความสะอาด ป้องกันโรคและบรรเทาสาธารณภัย จัดการศึกษาอบรมให้กับประชาชน บำรุงรักษาศิลปะ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามหน้าที่กฎหมายกำหนด
คนทั่วประเทศรอเลือกตั้ง อบต. ถึง 7 ปี จนในที่สุดก็ได้แสดงสิทธิออกเสียง ขณะที่คนกทม.ที่รอเลือกตั้งมาจะ 9 ปีแล้ว ก็ยังคงต้องรอต่อไป