คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ทักษะที่จำเป็น บนโลกออนไลน์ | พงษ์พิสิฐ วุฒิดิษฐโชติ

คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ทักษะที่จำเป็น บนโลกออนไลน์ | พงษ์พิสิฐ วุฒิดิษฐโชติ

การรับมือข้อมูลหลอกลวงและข่าวปลอม ที่แชร์อยู่ในโลกออนไลน์นั้น เราต้องวิเคราะห์และตรวจสอบอย่างรอบคอบก่อนทุกครั้งที่จะแชร์ข่าวเท็จ หรือนำเสนอต่อบุคคลอื่น

ในปัจจุบัน ในแต่ละนาทีมีข่าวสารที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งต่างกับอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อนอย่างสิ้นเชิง เราได้รับข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายช่องทางและรวดเร็วมากกว่าในอดีต เช่น จากสื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น ฯลฯ ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับนั้นมาจากหลายแหล่งที่มา ทั้งจากแหล่งที่เชื่อถือได้และไม่น่าเชื่อถือ

ผู้รับข่าวสารจำนวนมากอาจไม่สามารถวิเคราะห์และการกลั่นกรองข่าวสารที่ได้รับว่าจริงหรือปลอม จึงหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ รวมทั้งอาจมีส่วนร่วมในการสร้างความเสียหายให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยแชร์ข่าวเท็จหรือแบ่งปันข้อมูลเท็จที่ได้รับ 

การแชร์ข้อมูลเท็จที่ได้รับมานั้น สร้างความเสียหายและผลกระทบทางตรงหรือทางอ้อมเกิดขึ้นต่อตัวบุคคลผู้แชร์ข้อมูล หรือผู้ที่ถูกกล่าวถึง ทำให้ความน่าเชื่อถือของตนเองลดลง รวมทั้งเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย ส่งผลให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและเสียค่าปรับต่างๆ หรือกระจายข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ ส่งผลให้ผู้อื่นหลงกรอกข้อมูลหรือเป็นเหยื่อจากลิงก์หรือข่าวที่เราแชร์

ดังนั้น เราต้องมีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลว่า ข่าวปลอมนั้นมีลักษณะและมีช่องทางที่มาอย่างไร โดยทั่วไป ลักษณะและการหลอกลวงที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ มีดังนี้

1.ข่าวปลอมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเพิ่มองค์ประกอบเพื่อสร้างความน่าเชื่อ ประเด็นความน่าสนใจโดยส่วนใหญ่จะเป็นข่าวเชิงลบ เพื่อสร้างกระแสและเป็นประเด็นในวงกว้าง และสร้างความอยากรู้อยากเห็นของคนทั่วไป เช่น “คิดอย่างไรกับสถานการณ์นี้” หรือ “พบสมุนไพรไทยช่วยต้านโควิด-19”

2.ข่าวปลอมที่เกิดขึ้นจะชักนำไปในเรื่องของความเชื่อเพื่อเล่นกับความรู้สึกของบุคคล เพราะโดยทั่วไปพฤติกรรมของคนมักแบ่งการรับรู้ออกเป็นสองด้าน เช่น ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ

3.เป็นข่าวที่มีผลกระทบกับความเชื่อมั่น แบ่งแยกมุมมองและสื่อสารไปกับเฉพาะกลุ่ม โดยเป็นข่าวสารหรือข้อมูลตามสถานการณ์ในปัจจุบันที่เกิดขึ้น ซึ่งในบางครั้งอาจจะเป็นข่าวสารหรือข้อมูลเก่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนำมาสร้างกระแสใหม่ เพื่อสร้างผลกระทบต่อคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ อีกครั้ง
 

4.เป็นข่าวที่มาจากผู้เชี่ยวชาญที่ถูกอ้างขึ้นมา สื่อสังคมออนไลน์ สำนักข่าวที่มีชื่อใกล้เคียงหรือมีคนกดไลก์เพจเฟซบุ๊คหลายหมื่นหลายแสนคน โดยเล่าเรื่องราวถึงความเก่งกาจสามารถ หรือประสบความสำเร็จต่างๆ นานา และชวนเชื่อให้ลงทุนหรือนำเสนอแนวความคิดให้หลงเชื่อ

คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ทักษะที่จำเป็น บนโลกออนไลน์ | พงษ์พิสิฐ วุฒิดิษฐโชติ

5.ข่าวที่เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดที่หาแหล่งที่มาไม่ได้ เช่น การลดราคาต่างๆ การทำโปรโมชั่นของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ โดยหลอกผู้ที่หลงเชื่อกดเข้าไปเพื่อกรอกข้อมูลต่างๆ ที่อาจจะเป็นข้อมูลสำคัญ

6.การปลอมแปลง แอบอ้างบุคคล เราจะเห็นข่าวต่างๆ ที่ออกมาว่ามีคนถูกหลอกให้โอนเงินเป็นแสนเป็นล้านออกมาตลอดเวลา จากการคุยกับสาวสวยหนุ่มหล่อบนโลกออนไลน์ ซึ่งกว่าเหยื่อจะรู้ตัวก็นาน บางคนถอดใจที่จะตามเงินคืน เพราะไม่รู้ว่าบัญชีที่โอนเงินไปนั้นเป็นของคนที่หลอกลวงจริงๆ หรือเป็นแค่คนที่รับเปิดบัญชีทั่วไป และยังใช้เวลานานในการดำเนินคดี

การวิเคราะห์และป้องกัน การหลอกลวงบนโลกออนไลน์

1.พิจารณาข้อความพาดหัวข้อมูลข่าวสาร ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยการนำพาดหัวข่าวที่พบนั้นเปรียบเทียบจากแหล่งที่มาหลายๆ ที่ หรือไปค้นหาในอินเทอร์เน็ตเพื่อตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง

2.URL ที่ใช้งาน เหตุการณ์หลอกลวงส่วนใหญ่มาจากเว็บไซต์ปลอมหรือเว็บไซต์ใหม่ๆ ที่เพิ่งจดทะเบียน เว็บไซต์ข่าวปลอมหรือข้อมูลหลอกลวงจำนวนมากจะเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เพื่อทำให้ข้อมูลข่าวใกล้เคียงข่าวจริง เราอาจไปที่เว็บไซต์เพื่อเปรียบเทียบ URL กับแหล่งข่าวที่มี

3.แหล่งที่มา ตรวจสอบที่มาของข้อมูลและข่าวสาร ว่ามีที่มาจากแหล่งที่มาที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ เช่น สำนักข่าว หนังสือพิมพ์ และโทรศัพท์ ซึ่งอาจรวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ เพราะแหล่งข่าวพวกนี้จะมีการคัดกรองความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของข้อมูลก่อนจะถูกมาใช้ในการเสนอและเผยแพร่ต่อสาธารณะ

4.ลักษณะข้อความและรูปแบบ ข้อมูลหลอกลวงและข่าวปลอม ส่วนใหญ่จะมีรูปแบบข้อความที่เขียนสะกดไม่ถูกต้องตามไวยกรณ์และหลักภาษาไทยหรือเขียนผิด ส่วนใหญ่นั้นทำขึ้นเพื่อใช้ตามยุคสมัยเพื่อเข้าถึงกลุ่มบุคคลทั่วไป ที่อาจจะตีความและวิเคราะห์ข้อมูลยังไม่ดีเพียงพอ

คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ทักษะที่จำเป็น บนโลกออนไลน์ | พงษ์พิสิฐ วุฒิดิษฐโชติ

5.รูปภาพประกอบ ข่าวปลอมและข้อมูลที่นำมาใช้ในการหลอกลวง ส่วนใหญ่จะมีรูปภาพที่ไม่ตรงกับเนื้อหาของข้อมูลและข่าวสาร หรือภาพที่ไม่เหมาะสมหรือภาพลามก นำมาประกอบเพื่อเรียกความน่าสนใจ โดยเราสามารถนำภาพเหล่านั้นไปค้นหาได้ในอินเทอร์เน็ตเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาและลักษณะของรูปภาพ

6.วันที่ของข้อมูล วันที่ของเหตุการณ์จะไม่ถูกต้อง หรือมีการนำวันที่เหตุการณ์เก่ามาใช้และเรียงลำดับเหตุการณ์ใหม่ เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบและการวิเคราะห์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

7.ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ข้อมูลและข่าวปลอมมักจะมาจากการแชร์ข้อมูลต่อๆ กัน โดยอาศัยความน่าเชื่อถือของบุคคลที่สาม ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญกล่าวอ้าง หรือมาจากงานวิจัยต่างๆ ที่ไม่มีการอ้างอิงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานสากล

ดังนั้น การรับมือข้อมูลหลอกลวงและข่าวปลอมที่เกิดขึ้นและมีการแชร์อยู่ในโลกออนไลน์นั้น เราต้องวิเคราะห์และตรวจสอบอย่างรอบคอบก่อนทุกครั้งที่จะแชร์หรือนำเสนอต่อบุคคลอื่นๆ เพราะอาจมีผลกระทบเกิดขึ้นแก่ตัวเราและผู้อื่น รวมถึงมีคดีความเกิดขึ้น 

หรือหากไม่มั่นใจในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร สามารถส่งข้อมูลเหล่านั้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ เช่น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม www.antifakenewscenter.com รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศในองค์กรของท่านหรือของภาครัฐ ให้ช่วยตรวจสอบ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น.

คอลัมน์ Tech, Law and Security
รศ.ดร.พงษ์พิสิฐ วุฒิดิษฐโชติ
เกียรติศักดิ์ จันทร์ลอย
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ