Do:Say Ratio - อัตราส่วน การทำต่อการพูด | พสุ เดชะรินทร์

Do:Say Ratio - อัตราส่วน การทำต่อการพูด | พสุ เดชะรินทร์

เราจะคุ้นเคยกับอัตราส่วน หรือ Ratio ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนทางการเงิน หรือ BMI เพื่อดูความอ้วน มีอัตราส่วนหนึ่งที่สำคัญแต่มักจะไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงเท่าใด คือ Do:Say Ratio

Do:Say Ratio แปลได้ว่า อัตราส่วนการทำต่อการพูด ถ้าแปลแบบง่ายๆ ก็คือได้ทำตามที่ได้พูดหรือรับปากหรือไม่? Do:Say Ratio ที่เหมาะสมที่สุดควรจะเป็น 1:1 โดยอัตราส่วนนี้มีผลต่อทั้งแต่ละบุคคล ต่อความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง และต่อความสำเร็จขององค์กรด้วย 
    เริ่มจากต่อตนเองก่อน คือเคยตั้งใจจะทำอะไรและได้ทำตามนั้นหรือไม่? ช่วงนี้ใกล้ปีใหม่ หลายคนก็จะถือเป็นจุดเริ่มต้นของความตั้งใจทำสิ่งใหม่ (ที่ฝรั่งเขาเรียกเป็น New Year Resolution) เช่น ปีหน้าจะลดน้ำหนัก จะออกกำลังกายมากขึ้น จะเริ่มจดบันทึก จะเริ่มเก็บเงิน จะเริ่มสวดมนต์ทำสมาธิ ฯลฯ 
 

แต่สุดท้ายลองสังเกตดูก็จะเห็นได้ว่าตัว Do: Say Ratio ของตนเอง (โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ New Year Resolution) ก็มักจะต่ำกว่า 1.0 และอาจจะต่ำกว่า 0.5 สำหรับคนจำนวนมาก ถ้าสิ่งที่แต่ละคนตั้งใจไว้ว่าจะทำ และสามารถทำได้จริงแล้ว สุดท้ายชีวิตแต่ละคนจะดีขึ้นเพียงใด
    ทีนี้มาดูความสำคัญของ Do:Say Ratio ต่อความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างกันบ้าง ท่านได้เคยรับปากหรือบอกว่าจะทำบางสิ่งบางอย่างกับบุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือ เพื่อนร่วมงาน แล้วสุดท้ายไม่ได้ทำตามที่พูดหรือรับปากไว้ไหม?

ถ้านึกไม่ออก ลองนึกดูว่าเคยมีเพื่อนไลน์หรือโทรศัพท์มาหาแต่เนื่องจากกำลังยุ่งเลยบอกว่า “เดี๋ยวโทร/ไลน์กลับ” แต่สุดท้ายก็ลืมและไม่ได้ติดต่อกลับไปเลย หรือ เมื่อเพื่อนร่วมงานขอข้อมูล แต่จากความยุ่งเลยตอบไปว่า “เดี๋ยวอีเมลข้อมูลไปให้” แต่สุดท้ายก็ไม่ได้อีเมลไปให้ จนกระทั่งเพื่อนร่วมงานต้องทวง

ถ้าเหตุการณ์ข้างต้นหรือเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็แสดงว่า Do:Say Ratio ได้ลดต่ำลงกว่า 1.0 แล้ว
    ผลกระทบของการที่ Do:Say Ratio ลดต่ำกว่า 1.0 ระหว่างกรณีการตั้งใจจะทำแล้วไม่ได้ทำ กับการรับปากผู้อื่นแล้วไม่ได้ทำนั้น แตกต่างกันอย่างมาก

ในกรณีแรกนั้นก็เพียงแค่สูญเสียโอกาส ไม่ได้ทำตามแผนหรือสิ่งที่ตั้งใจไว้ เช่น อยากจะทานให้น้อย แต่ไม่ได้ทาน ก็เพียงแค่ยังคงอ้วนอยู่ แต่ในกรณีหลังนั้นจะนำไปสู่ภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือในสายตาของคนรอบข้างที่จะสูญเสียไป

ตัว Do:Say Ratio นั้นเป็นตัวที่บอกได้เลยว่าบุคคลผู้นั้นมีความน่าเชื่อถือและสามารถไว้วางใจได้มากน้อยเพียงใด

ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือการทำงานร่วมกัน ถ้า Do:Say Ratio ของใครที่ต่ำมากๆ ก็แสดงว่าเป็นพวกที่พูดไว้ก่อน รับปากไว้ก่อน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำตามที่รับปากหรือพูดไว้ได้ ผลคือความน่าเชื่อถือที่บุคคลรอบข้างมีต่อบุคคลผู้นั้นจะลดลงอย่างมาก รวมทั้งการขาดความไว้วางใจเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์หรือทำงานร่วมกัน 
    สำหรับผู้ที่มี Do:Say Ratio ที่ดีนั้นก็จะได้รับความไว้วางใจจากบุคคลรอบข้าง ยิ่งถ้าเป็นระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง ยิ่งทำให้เจ้านายสามารถที่จะไว้วางใจและมอบอำนาจให้ลูกน้องได้อย่างเต็มที่และเป็นอิสระมากขึ้น
    สุดท้าย Do:Say Ratio ยิ่งมีความสำคัญในระดับองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่องค์กรไม่ได้เพียงแต่รับผิดชอบต่อลูกค้าและผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่ยังต้องรับผิดชอบต่อทั้งพนักงาน สังคม ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อองค์กรปะกาศ กลยุทธ์ นโยบาย แผนงาน รวมทั้งเป้าหมายออกไป และเป็นที่รับรู้กันโดยทั่ว เช่น เรื่องการให้บริการลูกค้า เรื่องการดูแลชุมชน เรื่องการดูแลพนักงาน หรือ เรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เมื่อระยะเวลาผ่านไป ถ้าองค์กรไม่ได้มีการปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ประกาศไว้ ภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือขององค์กรก็จะได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะตัวผู้นำที่เป็นผู้มักจะเป็นคนให้ข่าว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็จะเกิดการรับรู้ว่าผู้นจะเป็นพวกชอบสร้างภาพ แต่ถึงเวลาจริงๆ ก็ไม่ได้ทำตามที่ประกาศไว้
    ขอฝาก Do:Say Ratio ไว้ให้ลองพิจารณาและติดตามดู และลองดูว่าตอนนี้อัตราส่วนตัวนี้ของตัวท่านหรือองค์กรท่านอยู่ที่เท่าไร. 
คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]