การถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียน | สกล หาญสุทธิวารินทร์

การถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียน | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

สมาคมอาจถูกศาลสั่งเลิกหรือถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียน ก็ได้ เมื่อปรากฏว่าวัตถุประสงค์ของสมาคมผิดต่อกฎหมายหรือกลายเป็นผิดต่อกฎหมาย

การจัดตั้งสมาคมตามกฎหมายไทย อาจจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ คือ สมาคมการค้า ตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509 ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์หรือสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545ในความรับผิดชอบของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 
    หรือสมาคมนายจ้าง ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 ในความรับผิดชอบของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน หรือสมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ.2534 ในความรับผิดชอบของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน หรือสมาคมกีฬา ตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทยพ.ศ.2458 ในความรับผิดชอบของการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬาก็ได้

 นอกจากการจัดตั้งสมาคมตามกฎหมายเฉพาะดังกล่าวแล้ว  ยังอาจจัดตั้งสมาคมที่ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายเฉพาะ โดยจัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ได้  บทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวกับสมาคม แต่เดิมบัญญัติไว้ในบรรพ 3เอกเทศสัญญา ลักษณะ23 สมาคม ตั้งแต่มาตรา1274ถึงมาตรา1297   

 ตามบทบัญญัติในลักษณะ23  สมาคมอาจถูกศาลสั่งเลิกหรือถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียน ก็ได้ เมื่อปรากฏว่าวัตถุประสงค์ของสมาคมผิดต่อกฎหมายหรือกลายเป็นผิดต่อกฎหมาย  กรณีนี้พนักงานอัยการหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเลิกสมาคมดังกล่าวได้ ตามมาตรา1293 หรือนายทะเบียนอาจขีดชื่อสมาคมนั้นออกจากทะเบียนตาม มาตรา 1293 ทวิเมื่อปรากฏว่า วัตถุที่ประสงค์หรือกิจการของสมาคมเป็นภัยอันตรายต่อสันติภาพของประชาชน หรือจะก่อความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ในกรณีนี้ นายทะเบียนอาจสั่งขีดชื่อสมาคมนั้นออกจากทะเบียนได้
            ในปี พ. ศ . 2535 มีการตราพระราชบัญญัติให้ใช้บรรพ1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535 บทบัญญัติที่เกี่ยวกับสมาคมเดิม ลักษณะ23 ของบรรพ3 ถูกยกเลิก และบัญญัติไว้ในบรรพหนึ่งใหม่ ตั้งแต่มาตรา78ถึงมาตรา109 โดยมีบทเฉพาะกาลให้สมาคมที่จดทะเบียนไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิม เป็นสมาคมตามบรรพ1 ที่แก้ไขใหม่    
          บทบัญญัติที่เกี่ยวกับสมาคมตามบรรพ1 ที่ชำระใหม่ ก็มีบทบัญญัติที่สมาคมอาจถูกนายทะเบียนสั่งถอนชื่อออกจากทะเบียนได้ หรือถูกศาลสั่งให้เลิกสมาคมเมื่อมีการดำเนินการที่ผิดกฎหมายในกรณีดังนี้

ถูกนายทะเบียนสั่งถอนชื่อออกจากทะเบียนตามมาตรา102
         เมื่อปรากฏในภายหลังว่าวัตถุประสงค์ของสมาคมขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ และนายทะเบียนสั่งให้แก้ไขแล้วแต่สมาคมไม่ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือ
          เมื่อปรากฏว่าการดำเนินกิจการของสมาคมขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความ สงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ หรือ
          เมื่อปรากฏว่าสมาคมให้หรือปล่อยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการของสมาคมเป็นผู้ดำเนินกิจการของสมาคม           
            ถูกศาลสั่งให้เลิก                          
          เมื่อมีกรณีตามมาตรา102  ประชาชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาจร้องขอให้นายทะเบียนถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียนได้  ถ้านายทะเบียนไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอโดยไม่แจ้งเหตุผลให้ผู้ร้องทราบในเวลาอันสมควร หรือแจ้งเหตุผลให้ทราบแล้ว แต่ผู้ร้องไม่พอใจเหตุผลดังกล่าว ผู้ร้องขอจะร้องต่อศาลให้สั่งเลิกสมาคมนั้นได้ตามที่บัญญัติในมาตรา104
         แนวคำพิพากษาศาลฎีกากรณีขีดชื่อสมาคมออกจากทะเบียน
           ที่ผ่านมา ก็มีกรณีขีดชื่อสมาคมออกจากทะเบียน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ลักษณะ 23 เป็นคดีสู่การพิจารณาของศาลฎีกา  ที่อาจใช้พิจารณาเป็นแนวทางได้ว่าหากสมาคมมีการดำเนินการที่ผิดกฎหมายหรือเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายก็สามารถขีดชื่อสมาคมนั้นออกจากทะเบียนหรือศาลสั่งเลิกสมาคมนั้นได้
         คำพิพากษาศาลฎีกาที 8 5771/2533     วินิจฉัยว่า สมาคมโจทก์มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อเผยแพร่ศาสนาอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485  จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ   เรื่อง ควบคุมสมาคมและองค์การต่างๆ  

การที่สมาคมโจทก์ไม่แจ้งจำนวนสมาชิกทุกประเภท และรายชื่อกรรมการไม่รายงานกิจการที่สมาคมได้ดำเนินการไปต่อจำเลยที่ 1 อันเป็นการขัดต่อข้อบังคับดังกล่าว  ไม่แจ้งจำเลยที่ 1 ภายในกำหนดว่าประสงค์จะดำเนินกิจการอีกต่อไป  ทั้งสมาชิกของสมาคมโจทก์มีความแตกแยกเป็นหลายฝ่ายถึงขั้นแจ้งความจับกุมสมาชิกซึ่งกันและกัน  นำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลหลายคดี  

อันเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง  และขัดต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวางต้นเป็นที่เสียหายแก่สมาคมโจทก์  จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลสมาคมโจทก์ย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนการอนุญาตที่ให้ไว้แก่สมาคมโจทก์ได้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการละเมิดโจทก์
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่1267/2527   วินิจฉัยว่าเหตุที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจำเลยที่ 1 ขีดชื่อสมาคมซึ่งโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลออกจากทะเบียนสมาคม   และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายอำเภอได้เข้าควบคุมกิจการและทรัพย์สินของสมาคมและมูลนิธิ  ก็เพราะสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติอาศัยอำนาจตาม  พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติฯ  เพิกถอนใบอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมและมูลนิธิ

เนื่องจากร่วมกันกระทำการเป็นไปในทางนำความเสื่อมเสียมาสู่วัฒนธรรมของชาติและร่วมกระทำการอันอาจเป็นภัยกับความมั่นคงของชาติ  พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนดังนั้นเมื่อคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์มีวัตถุประสงค์ที่จะให้มูลนิธิและสมาคมได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ต่อไป   จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามาคุ้มครองให้โจทก์
         การถอนชื่อหรือให้ศาลสั่งเลิกสมาคมตามกฎหมายในปัจจุบัน
          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวกับสมาคมที่ใช้ในปัจจุบัน  หากปรากฏว่าสมาคมใด   มีการดำเนินกิจการที่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความ สงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ  เป็นอำนาจของนายทะเบียนที่จะสั่งถอนชื่อสมาคมนั้นออกจากทะเบียน ตามมาตรา102    

ขณะเดียวกันประชาชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจร้องขอให้นายทะเบียนถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียนได้  ถ้านายทะเบียนไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอโดยไม่แจ้งเหตุผลให้ผู้ร้องทราบในเวลาอันสมควร หรือแจ้งเหตุผลให้ทราบแล้ว แต่ผู้ร้องไม่พอใจเหตุผลดังกล่าว ผู้ร้องขอจะร้องต่อศาลให้สั่งเลิกสมาคมนั้นได้ตามที่บัญญัติในมาตรา104 ได้อีกทางหนึ่ง