กุญแจสำคัญสนับสนุนการย้ายออกจากเมืองใหญ่อย่างยั่งยืน | แจงสี่เบี้ย

กุญแจสำคัญสนับสนุนการย้ายออกจากเมืองใหญ่อย่างยั่งยืน | แจงสี่เบี้ย

การระบาดของโควิด-19 และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลต่อรูปแบบการทำงานและไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ “กระแสการใช้ชีวิตในต่างจังหวัด” นับเป็นหนึ่งใน MegaTrends ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร

สาเหตุการย้ายออกจากเมืองใหญ่ในต่างประเทศ : ในสหรัฐฯ โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เห็นกระแสการย้ายถิ่นฐานชัดเจนขึ้น บลูมเบิร์กรายงานว่า มีประชากรกว่า 28% ต้องการย้ายออกจากนครนิวยอร์ก ซึ่งในกลุ่มนี้ 71% เป็นผลจากวิกฤตโควิด-19 ในญี่ปุ่น รัฐบาลสนับสนุนการย้ายถิ่นของประชากรออกจากเมืองหลวงเพราะต้องการลดความแออัดในเมืองหลวง
    ส่วนในอังกฤษ ประชากรที่ทำงานในเมืองใหญ่ของอังกฤษ 27% ทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home (WFH) มาตั้งแต่โควิด-19 ระบาดระลอกแรก และส่วนใหญ่ยังไม่ต้องการย้ายกลับเข้าเมืองใหญ่ และกว่า 25% ต้องการ WFH ตลอดไป เพราะค่าใช้จ่ายในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะค่าเช่าที่พักอาศัยมีราคาแพงกว่า และไม่สะดวกสบายเท่าเมืองรอง 
 

ในอดีตเมื่อโลกเผชิญกับวิกฤตการณ์สาธารณสุขหรือเศรษฐกิจ จะมีกระแสประชากรย้ายออกจากเมืองใหญ่เพื่อหนีโรคระบาดและการว่างงาน เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ คลื่นมหาชนมักย้ายกลับสู่เมืองใหญ่อีกครั้ง

ต่างจากปัจจุบันที่ประชากรเรียนรู้ว่า เราสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ซื้อสินค้าออนไลน์ และสร้างความบันเทิงให้ชีวิตผ่านอุปกรณ์ดิจิทัล ทำให้คาดว่าตัวเลขประชากรที่จะย้ายกลับเข้าเมืองใหญ่ จะน้อยลงกว่าวิกฤตการณ์ในอดีตมาก 

กุญแจสำคัญสนับสนุนการย้ายออกจากเมืองใหญ่อย่างยั่งยืน | แจงสี่เบี้ย
    โดยปัจจัยสนับสนุนร่วมที่ทำให้ประชากรย้ายออกจากเมืองใหญ่ในต่างประเทศ ได้แก่ นโยบาย WFH และ Work from Anywhere (WFA) ขององค์กร ค่าครองชีพ ราคาที่อยู่อาศัยของเมืองปลายทางที่ต่ำกว่า และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ เมืองที่ย้ายไปมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะเทคโนโลยีที่รองรับ WFH เป็นกุญแจสำคัญ

มองต่างประเทศ…เหลียวหลังดูไทย
    ปี 2563 ไทยพบเทรนด์การย้ายออกจากเมืองใหญ่เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นการกลับถิ่นฐานของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่กลุ่ม WFH และ WFA เริ่มมีให้เห็นบ้าง อาทิ บริษัทข้ามชาติ และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น Ipsos IMF และ ADB บางบริษัทเอกชนในไทยก็มีการนำนโยบาย WFA มาใช้อย่างถาวร เช่น SCB และแสนสิริ เป็นต้น
    ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปี 2563 มีผู้ย้ายถิ่น 1.05 ล้านคน เพิ่มขึ้น 60% จาก 6.6 แสนคนในปี 2562 โดยลักษณะการย้ายถิ่นปี 2563 คล้ายคลึงกับปี 2562 แต่มีจำนวนคนย้ายถิ่นมากกว่า

โดยภาคอีสานและภาคเหนือมีอัตราการย้ายเข้ามากกว่าการย้ายออก ส่วนใหญ่ย้ายมาจากกรุงเทพฯ ขณะที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคใต้ มีอัตราการย้ายออกมากกว่าย้ายเข้า ทั้งนี้ กรุงเทพฯ มีอัตราการย้ายออกมากกว่าย้ายเข้าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มีผลการศึกษา ชี้ว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ย้ายถิ่น มีวัตถุประสงค์ด้านการงาน สอดคล้องกับผลสำรวจด้านอาชีพ ที่พบว่าผู้ย้ายถิ่นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะปานกลางและต่ำ คือ อาชีพงานบริการและอาชีพพื้นฐาน (ร้อยละ 44) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 รายงานของ ILO พบว่าเทรนด์นี้เกิดขึ้นทั่วโลกเช่นกัน

ภูมิภาคไทยควรเตรียมพร้อมรับกระแสนี้อย่างไร?
    กรณีของไทยยังไม่เห็นการย้ายออกจากเมืองใหญ่ที่ชัดเจนนักเมื่อเทียบกับ 3 ประเทศข้างต้น อย่างไรก็ดี ในระยะยาวเชื่อว่าบริบทของสังคมไทยจะเปลี่ยนตามวิถีใหม่นี้มากขึ้น โดยภูมิภาคของไทยจะมีความพร้อมมากขึ้น หากไทยเร่งปรับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 4 ด้าน เพื่อรองรับกระแสการย้ายออกจากเมืองใหญ่นี้ในอนาคต ดังนี้

กุญแจสำคัญสนับสนุนการย้ายออกจากเมืองใหญ่อย่างยั่งยืน | แจงสี่เบี้ย
1. ด้านคมนาคมและสื่อสาร ไทยควรต่อยอดศักยภาพปัจจุบัน จากผลการสำรวจความสามารถด้านดิจิทัลของ Mastercard และพันธมิตร ในปี 2563 พบว่าไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศอุบัติใหม่และมีศักยภาพพัฒนาเป็นกลุ่มโดดเด่น พบว่า อินเทอร์เน็ตในไทยมีความความครอบคลุมในทุกพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2563 การใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจากปีก่อนในทุกภูมิภาค และมีจำนวนชั่วโมงใช้งานใกล้เคียงกันในทุกพื้นที่ (ดูรูปที่ 2)
2. ด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัยในภูมิภาค ค่าเช่าสำนักงาน และอัตราค่าแรงขั้นต่ำ มีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ 
3. ด้านสาธารณสุขไทยอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากดัชนี Human Development Index (HDI) ของ UN แม้สัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อจำนวนของในภูมิภาคจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเมืองใหญ่ 
4. ด้านการศึกษาในภูมิภาค แม้คุณภาพเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ยังต่ำกว่า (โดยคะแนนเฉลี่ยการทดสอบ O-Net ระดับมัธยมปลาย ปี 2562 ภูมิภาคมีคะแนนใกล้เคียงกันแต่จะต่ำกว่ากรุงเทพฯ) แต่ไทยมีจุดแข็งคือ มีหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษากระจายอยู่ทั่วประเทศที่ช่วยพัฒนาทักษะและฝีมือทางอาชีพให้กับประชาชนผู้ที่สนใจ
    การเสริมต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 4 ด้านให้มีกระจายทั่วถึงและมาตรฐานใกล้เคียงกันทั้งประเทศ จะเป็นกุญแจสำคัญการสนับสนุนการย้ายออกจากเมืองใหญ่อย่างยั่งยืน ช่วยลดความจำเป็นในการย้ายถิ่นฐานไปศึกษาหรือทำงานในเมืองใหญ่

เมื่อทุกเมืองมีความเจริญเท่าเทียมกัน ก็จะนำไปสู่การกระจายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสของประชาชนในภูมิภาค รวมทั้งลดความแออัด และปัญหาทางสังคมจากการกระจุกตัวในเมืองใหญ่ได้ 
    บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.
คอลัมน์ : แจงสี่เบี้ย
จิตสุภา สุขเกษม
อวิกา พุทธานุภาพ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)