"อีลอน มัสก์" บุคคลแห่งปีก็มีจุดบอด | ไสว บุญมา
นิตยสารไทม์ฉบับส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ขึ้นปกด้วยภาพของ อีลอน มัสก์ ซึ่งไทม์เลือกให้เป็นบุคคลแห่งปี 2564 ข้ออ้างของไทม์ที่เลือกเขาได้แก่ เขามีบทบาทสูงในการเปลี่ยนโลกไปสู่แนวใหม่
แม้ว่าในกระบวนการเปลี่ยนนั้น อีลอน มัสก์ ได้รบกวนและทำลายกิจการมากมายไปพร้อมกันด้วย อีลอน มัสก์ มองว่า ภารกิจของเขาได้แก่การช่วยแก้ปัญหาที่ท้าทาย หรือยากที่สุดของโลก
ภารกิจนั้นประกอบด้วยกิจการหลายด้านซึ่งทำให้เขาก้าวขึ้นเป็นเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกในการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์ ทรัพย์สินของอีลอน มัสก์ที่ไทม์นำมาเสนอมีค่าราว 2.7 แสนล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ค่านี้เปลี่ยนรายวันเนื่องจากทรัพย์สินส่วนใหญ่อยู่ในรูปของหุ้นของบริษัทที่อีลอน มัสก์ ถือครองอยู่ซึ่งซื้อขายกันทุกวันในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนอีลอน มัสก์เองมองว่า เขาไม่ได้รวยที่สุด ยังมีผู้รวยกว่าเขา เช่น วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียซึ่งเขาอ้างว่าสามารถส่งกองทัพไปยึดประเทศอื่นได้
คนไทยส่วนใหญ่คงได้ยินชื่อของอีลอน มัสก์ในตอนกลางปี 2561 เมื่อนักฟุตบอลเยาวชนหลายคนเข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวง เขาเสนอให้ใช้ยานดำน้ำขนาดจิ๋วที่บริษัทของเขาสร้างขึ้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ แต่คณะช่วยเหลือนักฟุตบอลไม่ได้ใช้ยานนั้นเพราะมองว่ามันไม่ปลอดภัยเท่ากับวิธีที่คณะเลือกใช้
ส่งผลให้อีลอน มัสก์โกรธมากถึงกับเปล่งผรุสวาจาดูแคลนชาวอังกฤษที่มีบทบาทสำคัญในการทำงานดังกล่าว ต่อมา ชาวอังกฤษฟ้องเขาฐานหมิ่นประมาทต่อศาลในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งตัดสินว่าอีลอน มัสก์ไม่ได้หมิ่นประมาทในการใช้ผรุสวาจานั้น จึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวน 190 ล้านดอลลาร์
อีลอน มัสก์มีประวัติที่บ่งชัดว่า เขาไม่ค่อยให้เกียรติผู้อื่น ซ้ำร้ายยังมักดูแคลนคู่แข่งและหยามคนงานอีกด้วย ไทม์คงไม่พิจารณาประเด็นนี้ การเป็นอภิมหาเศรษฐีคงเป็นปัจจัยแม้ไทม์จะมิได้ยอมรับก็ตาม ทั้งนี้เพราะบทความของไทม์อ้างถึงประเด็นที่เศรษฐี 5 คนรวยเพิ่มขึ้นเท่าไรในรอบปี
นอกจากอีลอน มัสก์แล้วได้แก่ เจฟฟ์ เบซอส บิล เกตส์ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งขณะนี้มีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่าคนละ 1 แสนล้านดอลลาร์
คงเป็นที่ทราบกันดี อีลอน มัสก์ เกิดในแอฟริกาใต้เมื่อ 50 ปีที่แล้วก่อนจะย้ายไปอยู่ในแคนาดาเพื่อหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารและต่อมาย้ายไปตั้งหลักแหล่งในสหรัฐ เขามีความปราดเปรื่องหลายด้าน
ตามรายงานของสื่อ ความปราดเปรื่องช่วยให้เขาไม่ต้องเสียภาษีรายได้แม้แต่ดอลลาร์เดียวเมื่อปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมอเมริกันถึงกับอาจนำไปสู่การเปลี่ยนระบบภาษี
อย่างไรก็ดี สำหรับปีนี้ อีลอน มัสก์ เพิ่งแถลงออกมาว่า เขาคงต้องจ่ายภาษีถึง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ การแถลงดังกล่าวแฝงอะไรไว้หรือไม่ต้องรอถึงวันที่ 15 เม.ย. ปีหน้า อันเป็นวันสุดท้ายของการจ่ายภาษีรายได้ที่เกิดขึ้นในปีนี้
บทความของไทม์อ้างถึงคำพูดของอีลอน มัสก์ที่ว่า อีกไม่เกิน 5 ปี เขาจะส่งคนไปลงบนดาวอังคารได้ เรื่องนี้จะเป็นการคุยทับคู่แข่งในกิจการด้านการท่องอวกาศหรือไม่อีกไม่นานจะเป็นที่ประจักษ์
จะเป็นการคุยทับหรือไม่ก็ตาม เหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาชี้ชัดว่า อีลอน มัสก์ มีความเชื่อมั่นในตัวเองและในเทคโนโลยีไม่น้อยกว่าใครในโลก ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเชื่อว่าเทคโนโลยีจะสามารถแก้ปัญหาที่ท้าทาย หรือยากที่สุดของโลกได้
การที่เขาทุ่มเทมันสมองและทรัพย์สินกองมหาศาลเพื่อจะไปดาวอังคารให้ได้ในเวลา 5 ปีก็เพราะในวันข้างหน้า เขาเชื่อว่ามนุษย์เช่นเขาจะต้องไปสร้างอาณานิคมบนโลกใหม่เมื่อไม่สามารถอาศัยอยู่ในโลกใบที่อาศัยอยู่ในขณะนี้อีกต่อไปได้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น ทรัพยากรหมดและระบบนิเวศพังทลาย
ความเชื่อมั่นของอีลอน มัสก์ ที่ว่า เทคโนโลยีจะแก้ปัญหาทุกอย่างของมนุษย์ได้อยู่ในกรอบความคิดที่ยึดการเอาชนะแทนการอยู่แบบกลมกลืนกับธรรมชาติเป็นแนวทางดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมีจุดบอดมหันต์แม้จะมีความปราดเปรื่องสูงกว่าคนทั่วไปก็ตาม