การคัดเลือกนักวิทย์เข้ามาทำงานในธุรกิจเอสเอ็มอี

การคัดเลือกนักวิทย์เข้ามาทำงานในธุรกิจเอสเอ็มอี

ในยุคที่ธุรกิจเริ่มปรับตัวเพื่อพลิกโฉมวิธีการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจอย่างมุ่งมั่นจริงจัง

โดยมีสัญญาณที่ชัดเจนจากกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เป็นผู้ริเริ่มในฐานะผู้นำ และมีแนวโน้มว่าแนวคิดการบริหารธุรกิจให้เป็น “เทค-คอมพานี” นี้จะต้องแผ่ขยายส่งแรงกระเพื่อมมาถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในเวลาต่อมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การสร้างนวัตกรรมขึ้นมาในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก มักจะมีเส้นทางที่ค่อนข้างเป็นแบบแผนชัดเจน จะเห็นได้ว่า นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ จะต้องมีการนำเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่มีอยู่ในตลาดทั่วไปมาใช้ และการจะใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัยได้ ธุรกิจจะต้องมีบุคลากรที่มีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์หรือวิทยาการที่เข้าใจหลักการและการทำงานของเทคโนโลยีนั้นๆ ได้ดี ในระดับที่สามารถประยุกต์การใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อมาปรับใช้กับตัวธุรกิจ กลยุทธ์ธุรกิจ นโยบาย วัฒนธรรมองค์กร และวิสัยทัศน์ของธุรกิจได้อย่างเหมาะสมลงตัว

การมีบุคลากรหรือพนักงานที่มีพื้นฐานการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาร่วมทำงานให้กับธุรกิจ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องเตรียมคิดและเตรียมตัวไว้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ของตลาดในโลกสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย หลักสูตรและระบบการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มักจะมุ่งไปที่การให้องค์ความรู้เชิงวิชาการที่ปรากฏในตำราเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าในปัจจุบัน จะมีหลายหลักสูตรที่เน้นให้นิสิตนักศึกษาได้มีการทำงานร่วมกันในลักษณะของการทำโครงงานทั้งโครงงานที่ทำภายในสถาบันการศึกษาและโครงงานที่มีการออกไปร่วมทำงานกับหน่วยงาน องค์กร หรือชุมชนและสังคมภายนอก ก็มีอยู่บ้าง

แต่ข้อสังเกตที่สำคัญสำหรับการทำโครงงานการศึกษาร่วมกันเป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่ก็จะออกมาในรูปของการแบ่งงานกันออกไปทำเป็นส่วนๆ แล้วนำผลการศึกษาของแต่ละคนมารวมกันเป็นรายงานสุดท้าย ส่วนการทำปฏิบัติการหรือการทำแล็ป ก็มักจะออกแบบให้เป็นงานเฉพาะตัว หรือทำเป็นคู่

พื้นฐานเหล่านี้ ทำให้ผู้ที่จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มักจะเคยชินกับการทำงานในลักษณะเฉพาะตัวและค่อนข้างจะรักษาพื้นที่ที่เป็นตัวของตัวเองสูง จนทำให้เข้าไม่ได้กับวัฒนธรรมของธุรกิจเอสเอ็มอีที่มักจะต้องตกอยู่ภายใต้การปรับตัวที่รวดเร็ว คาดการณ์ไม่ค่อยได้ ซึ่งต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานสูง

เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ จึงพบว่า บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มักจะมีอายุงานไม่ยาวนานกับบริษัท และการหาคนมาทดแทนก็หาได้ยาก แต่ก็ยังมีแนวทางที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ก็คือ การให้ความสนใจตั้งแต่การคัดเลือกนักวิทย์ที่มีความเหมาะสมกับธุรกิจตั้งแต่ก่อนรับเข้าทำงาน ซึ่งอาจเห็นว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของหรือผู้บริหารมองเห็นความสำคัญของการมีผู้ที่มีพื้นฐานหรือได้รับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์มาร่วมทำงาน การคัดกรองเบื้องต้น อาจต้องผ่านการสัมภาษณ์โดยตรงจากเจ้าของหรือผู้บริหารระดับที่มีอำนาจตัดสินใจ

ทักษะของนักวิทยาศาสตร์ที่จะประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมและบริบทของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ควรต้องได้รับการกลั่นกรองก่อนเข้างาน มีดังนี้

ทักษะพื้นฐานของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจดูเบื้องต้นได้จากผลการศึกษา แต่จุดเด่นของหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ว่าจะมาจากสถาบันใดก็คือ ทักษะในการคิดและลงมือทำอย่างเป็นระบบขั้นตอน ที่มักเรียกว่า ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ ก็คือ การสังเกต ตั้งสมมติฐาน ทดลอง สรุปวิเคราะห์ผล เพื่อนำมาพัฒนาผลงานให้ดีขึ้นต่อไป มักจะฝังลงไปในตัวนักวิทย์โดยทั่วไปอยู่แล้ว

ทักษะด้านธุรกิจและการเงิน ผู้เหมาะสมที่จะเข้ามาทำงานกับธุรกิจ ควรมีความเข้าใจเบื้องต้นว่า เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของธุรกิจก็คือ การสร้างกำไรเพื่อเป็นทุนหนุนให้ธุรกิจสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สามารถผลตอบแทนกลับมาสู่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนในบริษัท ตั้งแต่เจ้าของไปจนถึงพนักงานระดับล่างสุด ให้สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ตามฐานะ การพูดคุยเพื่อให้เห็นว่า ผู้สมัครเข้าใจและมีทัศนคติว่าตนเองจะสามารถช่วยสร้างกำไรให้บริษัทได้อย่างไร จะเป็นบันใดขั้นแรกในการเลือกนักวิทย์ที่รู้ว่าจะต้องทำหน้าที่ช่วยบริษัทในการสร้างกำไรให้กับธุรกิจ

ทักษะด้านการถ่ายทอดและสื่อความทางด้านวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพูดคุย การเขียน การนำเสนอ เนื่องจากในบางครั้งที่บริษัทจะต้องมีการติดต่อกับลูกค้า คู่ค้า เจ้าของเทคโนโลยี ฯลฯ ในการนำเสนอสินค้านวัตกรรมของบริษัท ตลอดจนถึง การเจรจาซื้อหาเครื่องจักรเทคโนโลยีใหม่มาใช้ ซึ่งอาจต้องสื่อสารกันด้วยภาษาวิชาการ หรือต้องใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่นักวิทย์อาจเข้ามามีส่วนร่วมกับการตัดสินใจของบริษัทได้

ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์และการทำงานร่วมกับผู้อื่น  อาจดูได้จากกิจกรรมต่างๆ ที่เข้าร่วมในระหว่างการศึกษาในมหาวิทยาลัย และการสัมภาษณ์พูดคุยเกี่ยวกับทัศนคติส่วนตัวในด้านต่างๆ ทั้งที่จะเข้ากันได้กับวัฒนธรรมภายในของธุรกิจ และส่วนที่แปลกแยกงออกไป อย่างไรก็ตาม หลายธุรกิจ อาจใช้วิธีการบ่มเพาะและอบรมภายใน เพื่อพัฒนาทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ทางด้านธุรกิจให้กับพนักงานที่มีศักยภาพหรือมีผลงานโดดเด่นในบริษัทได้ภายหลัง

จึงเห็นได้ว่า การคัดเลือกนักวิทย์หรือนักเทคโนโลยี ที่จะมีความเข้ากันได้กับธุรกิจเอสเอ็มอี อาจต้องใช้ดุลยพินิจและพิถีพิถันเป็นพิเศษนอกเหนือจากการรับพนักงานในตำแหน่งปกติประจำ และความสำเร็จในการคัดสรรหาคนดีที่เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจ อาจจะต้องใช้ “ลางสังหรณ์พิเศษ” ของเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารสูงสุดเป็นการส่วนตัวโดยตรง

ก็เป็นได้!!??!!