พลิกโฉม ‘เศรษฐกิจไทย’ด้วยแผนพัฒนาฯฉบับ13 ต้องกล้าตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย
ในปี 2565 ประเทศไทยจะมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 (ต.ค.-ธ.ค.) หรือไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 โดยวางเป้าหมายในการพลิกโฉมเศรษฐกิจ หากแต่เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดที่วางไว้ยังไม่ท้าทายพอที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจได้
ก้าวเข้าสู่ปี 2565 อย่างเป็นทางการ ผู้เขียนขอใช้โอกาสนี้สวัสดีปีใหม่ขออวยพรให้เป็นปีที่น่าจดจำ สุข สมหวังสำหรับ ท่านผู้อ่านทุกคน
ในปี 2565 ปฏิทินเรื่องนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญมีหลายเรื่องด้วยกัน เรื่องหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือการการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 (ต.ค.-ธ.ค.) หรือไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566
แผนพัฒนาฯฉบับนี้มีเป้าหมายสำคัญในการ“พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย”มีประเด็นทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เช่น การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การเพิ่มรายได้เฉลี่ยประชากร การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวรายได้สูง การลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น
ปัจจุบันร่างแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 ได้ออกสู่สายตาของสาธารณะหน่วยงานราชการเริ่มศึกษาเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณปี 2566 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯฉบับที่13 หลากหลายพื้นที่และหลายกลุ่มความอาชีพผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นในกลุ่มสื่อมวลชนได้ฟังข้อมูลจากการชี้แจงจากท่านวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการ สศช.ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการพลิกโฉมประเทศในช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าว่ามีความจำเป็น และมีความท้าทายรออยู่หลายประการ
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงตัวชี้วัดในแต่ละเป้าหมายทำให้เห็นว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้หลายๆด้านยังเป็นการกำหนดเป้าหมาย “แบบอนุรักษ์นิยม” (Conservative)ขาดการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายเพียงพอที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยเช่น ในเรื่องการปรับโครงสร้างการผลิต และบริการสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม มีการวางตัวชี้วัดว่ารายได้ต่อหัวประชากรจะต้องเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่คนไทยมีรายได้เฉลี่ย 7,216.6 ดอลลาร์เพิ่มขึ้นเป็น 8,800 ดอลลาร์เมื่อสิ้นแผนหรือต้องการให้รายได้เฉลี่ยต่อประชากรเพิ่มขึ้น1,583.4 ดอลลาร์ต่อคนถือว่าน้อยเกินไปหรือไม่หากเทียบกับแนวโน้มค่าใช้จ่ายของประชากร อัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่จะสูงขึ้น
อีกตัวชี้วัดเป้าหมายหนึ่งที่น่าจะน้อยเกินไปคือการกำหนดรายได้ที่จะได้รับจากนักท่องเที่ยวรายได้สูงที่จะเข้ามาทดแทนนักท่องเที่ยวทั่วไปโดยตั้งเป้าเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อวันอีกประมาณ 10% ต่อปี ซึ่งการตั้งเป้าหมายในระดับดังกล่าวถือว่าต้องการให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแค่ประมาณ 5,000 - 6,000 บาท จากระดับปกติที่มีการใช้จ่ายอยู่ที่ 5 - 6 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ต่ำเกินไปเช่นกันเมื่อเทียบกับนโยบายดึงนักท่องเที่ยวรายได้สูงเข้าประเทศ
เมื่อหารือกันถึงเรื่องตัวชี้วัดรองเลขาธิการ สศช.ยอมรับว่าการกำหนดตั้งชี้วัดและเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่ำกว่าที่ควรนั้นมาจากการที่หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในข้อเท็จจริงก็คือบางหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องต่างๆเช่นการเพิ่มผลิตภาพการผลิตนั้นขอตั้งเป้าหมายไว้ให้ต่ำกว่าที่ควร เนื่องจากมองว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน (และอนาคต)บรรลุผลได้ยากหากตั้งเป้าหมายไว้สูงกลายเป็นแรงกดดันที่มีต่อหน่วยงานเอง
ได้ฟังแบบนี้ทำให้รู้สึกเป็นห่วงเกี่ยวกับทัศนคติของหน่วยงานเจ้าของเรื่องที่มีความคิดแบบนี้ และเห็นใจหน่วยงานทำแผนฯและติดตามขับเคลื่อนแผนอย่างสภาพัฒน์
ในสถานการณ์ที่โลกเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ประเทศต่างๆแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายในเวทีโลก
หากในการทำแผนระดับชาติ ประเทศไทยไม่ตั้งเป้าหมายให้ท้าทาย เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายยกระดับเศรษฐกิจของประเทศน่าเป็นห่วงว่าคำว่า “พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย” คงเป็นแต่ข้อความบนกระดาษที่คงไม่ได้เกิดขึ้นจริง