"ดีท็อกซ์" โซเชียลมีเดีย | บวร ปภัสราทร
ถ้านอนดึกดื่นเป็นประจำเพราะติดใจกับสาระในโซเชียลมีเดีย รู้สึกโกรธเมื่ออ่านข้อความจากบางคนในเฟซบุ๊ค รู้สึกอยากเขียนด่าใครสักคนในกลุ่มไลน์
บ่อยครั้งที่รู้สึกกังวลเวลาไม่มีคนกดไลค์เรื่องที่โพสต์ รู้สึกอิจฉาที่คนอื่นมีคนกดไลค์มากกว่า ชอบเปรียบเทียบความสำเร็จของตนเองกับคนอื่นโดยใช้ข้อมูลที่ได้จากโซเชียลมีเดีย
ดูเหมือนว่าชีวิตเครียดมากขึ้นตามเวลาที่อยู่กับโซเชียลมีเดีย อาการเหล่านี้อาจแสดงว่าได้บริโภคสาระที่ไม่ดีต่อชีวิตจากโซเชียลมีเดียมากเกินไปแล้ว คล้ายๆ กับการที่เรารับประทานอาหารที่ไม่ดีสะสมไว้ในร่างกายมากเกินไป ทางแก้คือ “ดีท็อกซ์” สิ่งไม่ดีที่สะสมไว้นั้นออกไปบ้าง
งานวิจัยหลายงานยืนยันตรงกันว่า ถ้าลดเวลาในการบริโภคข้อมูลและสาระที่ได้จากโซเชียลมีเดียลงไปบ้าง จะมีอะไรดีๆ หลายอย่างเกิดขึ้นตามมา เช่น วิตกกังวลในเรื่องที่ไม่ควรจะกังวลน้อยลงมาก หดหู่โดยปราศจากเหตุผลน้อยลง มีสมาธิในการทำงานดีขึ้น มั่นใจในตนเองมากขึ้น และเข้าสังคมกับผู้คนได้อย่างสบายใจมากขึ้น
ผลดีเหล่านี้คงพอจะสนับสนุนให้ลองลดเวลาการรับรู้ข้อมูล และสาระจากโซเชียลมีเดียลงไปบ้าง เมื่อรับรู้น้อยลง สาระที่เป็นพิษภัยต่อจิตใจของเราย่อมลดลงไป การสะสมสาระที่เป็นพิษภัยไว้ในตัวเราย่อมลดลงไป
แต่จะทำอย่างไรจึงจะบังคับตนเองให้ลดเวลาในการเสพสาระจากโซเชียลมีเดียลงไปได้บ้าง ในเมื่อทุกวันนี้เราอยู่กับสมาร์ทโฟนตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งเข้านอนในแทบทุกวัน
คำแนะนำคืออย่าเริ่มต้นด้วยการพยายามตัดขาดจากสมาร์ทโฟน เพราะสมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำรงชีวิตไปแล้ว การตัดขาดจากสมาร์ทโฟนจึงกระทำได้ยากและอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี แต่ให้เริ่มต้นจากการสำรวจดูว่าโซเชียลมีเดียใดมีผลกระทบทางลบกับชีวิตของเรามากที่สุด
ทุกคนรู้ตัวกันดีอยู่แล้วว่า ดูสาระจากแอพไหนแล้วหงุดหงิดมากที่สุด ตั้งเป้าต่อไปเลยว่าจะลดการเสพสาระจากแหล่งนั้นลงอย่างน้อยวันละมากน้อยแค่ไหน อย่าตั้งเป้าที่กดดันตนเองมากเกินไปตั้งแต่แรก การเสพสาระจากโซเชียลมีเดียยาวนานมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างไปจากการติดสารเสพติดที่รีบร้อนลดลงไม่ได้
อาจเริ่มแค่วันนี้ฉันจะลดการเสพสาระจากแอพตัวนี้ลงสิบห้านาที ซึ่งอาจจะเป็นสิบห้านาทีก่อนนอน ลดตัวนี้แล้วต้องไม่ไปเพิ่มตัวอื่นทดแทนด้วย แล้วพยายามกระทำให้ได้อย่างต่อเนื่องสักหนึ่งถึงสองสัปดาห์เป็นอย่างน้อย ลดวันละนิดหน่อย แต่กระทำต่อเนื่องให้นาน ๆ จะได้ผลมากกว่า โดยเฉพาะการลดเรื่องที่ไม่ควรจะกังวลให้น้อยลง
การสนับสนุนจากคนใกล้ชิดอาจช่วยให้ความพยายามดีท็อกซ์โซเชียลมีเดีย ประสบความสำเร็จมากขึ้น ควรบอกเพื่อนฝูงญาติมิตรให้ทราบว่าเรากำลังพยายามลดการเสพสาระจากโซเชียลมีเดีย เพื่อนฝูงจะได้ไม่แชร์นั่นแชร์นี่มาให้เราหากไม่ใช่เรื่องสำคัญจริงๆ
กองเชียร์ช่วยได้มากก็จริง แต่ระวังกองเชียร์จะกลายเป็นตัวกระตุ้นให้มีการเสพโซเชียลมีเดียมากขึ้น เพราะไปเชียร์กันผ่านทางกลุ่มไลน์
ทบทวนว่าเราประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้ได้แค่ไหน ทบทวนว่าผลดีที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราจากการลดการเสพสาระจากโซเชียลมีเดียลงไปนั้นมีอะไรบ้าง และตัดสินต่อไปว่าเราควรจะลดเวลาการเสพลงไปมากขึ้นอีกหรือไม่ หรือควรเพิ่มแอพตัวใดที่จะลดเวลาใช้หรือไม่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปอย่างยั่งยืน
การดีท็อกซ์โซเชียลมีเดียเป็นกุศโลบายหนึ่งที่ทำให้เรารู้ตัวว่าเราจะสามารถปรับเปลี่ยนการใช้เวลา และความทุ่มเทในชีวิตของเราได้อย่างไร พร้อมๆ กับช่วยให้เราระลึกได้ว่าสิ่งที่เราต้องการในชีวิตของเราอย่างแท้จริงนั้นคืออะไร และเราควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรจึงจะได้สิ่งนั้นมา
อย่าปล่อยให้ชีวิตล่องลอยไปตามสรรพสิ่งที่หลั่งไหลมากจากโซเชียลมีเดีย โลภ โกรธ หลงทั้งปวงในชีวิตยึดติดอยู่กับสาระจากโซเชียลมีเดีย หลงจนแยกไม่ออกว่าอะไรจริง อะไรคือมโน
คอลัมน์ : ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.ดร.บวร ปภัสราทร
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]