อนาคตสังคมไทย อยู่ตรงไหน | ประกาย ธีระวัฒนากุล

อนาคตสังคมไทย อยู่ตรงไหน | ประกาย ธีระวัฒนากุล

ความท้าทายโลกอนาคตทำให้เราอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะเศรษฐกิจอนาคต โลกเสมือนที่ไปไวมากในทุกๆวัน เส้นแบ่งระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนนั้นบางเสียจนไม่อาจจะเรียกว่ามีเส้นบางๆนั้นได้ สินค้าและบริการดิจิทัลระดับโลกที่เกิดขึ้นจำนวนมาก โลกการเงินที่กำลังพลิกโฉม

เศรษฐกิจแบบใหม่ในโลกจะเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจแบ่งปัน เศรษฐกิจสุขภาพ ไปจนถึงเศรษฐกิจอวกาศ และเศรษฐกิจเมตาเวิร์ส (Metaverse Economy)  การพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบอัตโนมัติส่งผลต่ออนาคตของงาน 
    งานจำนวนมากจะถูกทดแทนด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์  รูปแบบของการทำงานก็กำลังเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะงานในรูปแบบของเศรษฐกิจแบ่งปันที่มีการพัฒนาสูงและประชาชนนิยมใช้บริการ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งทำให้เกิดการใช้งานและเข้าสู่ดิจิทัลในทุกช่วงวัย

แม้แต่โลกแห่งความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน วิถีชีวิต สังคม ก็กำลังเปลี่ยนแปลงไป
ถ้าเรากลับมาคิดดูว่า เศรษฐกิจสังคมวิถีชีวิตปกติส่วนใหญ่เป็นเช่นไร   ในวันนี้จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้เราก็พบว่า พวกเราเริ่มคุ้นชินกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่เราเป็นปกติใหม่ (New Normal)  แล้วที่สำคัญวิกฤตครั้งนี้ก็ยังไม่จบลงเสียด้วย

ดังนั้น หากเราดูจากตัวอย่างกรณีโควิด-19 ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่างคน การดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมเปลี่ยนไปมากเพียงใดแล้ว  นี่คงพอจะกล่าวได้ว่า เราไม่อาจปฏิเสธความท้าทายแห่งโลกอนาคตอีกหลายสิ่งหลายอย่างเป็นแน่

โครงสร้างประชากรไทยเราก็เปลี่ยนไปมาก เราเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้วหลังจากที่เราพูดกันมาว่าต้องเตรียมการมาหลายปี แต่ในวันนี้ดูเหมือนยังไม่เข้าที่เข้าทาง ทั้งเรื่องสุขภาพ การเงิน การงาน  

นอกจากนี้ สังคมเราเปิดกว้างหลากหลายมากขึ้น  วิถีชีวิตการเรียนรู้ การทำงานการกินการอยู่ก็เปลี่ยนไป ความเป็นครอบครัวมีหลากหลายมากขึ้น ชุมชนก็แตกต่างกันไป  ทุนทางสังคมของเราก็มีพื้นฐานที่ดี  ปัญหาสังคม ความท้าทายรูปแบบใหม่ก็มีความซับซ้อนรุนแรงมากขึ้น
ทุกอย่างกำลังถาโถม เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทวีคูณ  แล้วอนาคตประเทศไทย อนาคตสังคมไทยอยู่ตรงไหน

ถ้าเรายอมรับในกระแสการเปลี่ยนแปลงเหมือนกระแสคลื่นยักษ์ที่กำลังเข้ามาแล้ว  ก่อนอื่นเราต้องยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเรา องค์กร สังคมหรือประเทศของเราด้วย  เรารู้แน่ชัดแล้วว่าเราต้องเปลี่ยน   เมื่อเรารู้ว่าเราต้องเปลี่ยน คำถามต่อมาที่สำคัญมากก็คือ เราจะเปลี่ยนอะไร และทำไมต้องเปลี่ยน

เรากล้าที่จะฝันไหม  เราคิดว่าเราสามารถเปลี่ยนได้จริงๆ ใช่ไหม  เรามีความหวังใช่ไหม เรื่องนี้ก็สำคัญ บางคนไม่กล้าฝัน คนไทยบางคนไม่กล้าฝันใหญ่ ฝันไปไกลๆ  ฝันว่าเราสามารถหลุดพ้นจากข้อจำกัด  ติดอยู่ในกรอบ หรือคิดแล้ว ท้อใจ มันใหญ่เกินไปที่จะทำ  บางคนก็อาจเลือกที่จะหันกลับไปอยู่กับสิ่งเดิมๆ   ถ้าไม่รู้ถึงสิ่งที่คืบคลานเข้ามาก็อาจยังสุขไปวันๆ หากแต่ความจริงโลกกำลังเปลี่ยนไป การที่ยังคงทำสิ่งเดิมๆอยู่ก็เหมือนเป็นการซื้อเวลาเท่านั้น หาได้สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตไม่  

ขอแค่เพียง เรารู้ว่าเรากำลังจะเดินไปที่ไหน    เราต้องใช้ความกล้า และลงมือทำ  ถ้าอยากจะเปลี่ยนก็ต้องทำ และต้องเลือกที่จะทำ เราทำทุกอย่างไม่ได้ เราต้องโฟกัส    เราต้องแก้ปัญหาเก่า พร้อมๆกับสร้างรากฐานใหม่ ปัญหาเดิมก็ต้องสะสาง  เราต้องค่อย ๆ สางทีละปมค่อย ๆ คลายทีละจุด ลงทุนศึกษาเรียนรู้ ทดลอง  ขณะเดียวกันเราก็ต้องเริ่มมองหาการลงทุน พันธมิตร เครื่องมือเทคโนโลยีตัวช่วยต่าง ๆ ทำคู่ขนานกันไป 

อนาคตตัวเรา  อนาคตสังคมเรา เราจะหวังให้ใครมาเปลี่ยนให้  หรือเราจะรอแรงกดดันเข้ามาเพราะเราชอบความท้าทายเช่นนั้นหรือ  ถ้าถึงจุดนั้นเราอาจทำได้ก็ได้นั่นก็อาจจะโชคดีผ่านไปได้สบายๆ  แต่เราก็อาจไม่โชคดีเช่นนั้นก็ได้ เราอาจตกที่นั่งลำบาก รุนแรงเหมือนตกหลุมอากาศ หรืออาจตกเหวลึกแบบหาทางขึ้นไม่ได้อีกเลย   

เวลาเป็นสิ่งมหัศจรรย์  เวลาหมุนไปแต่ละวินาทีด้วยเวลาที่คงที่ หากแต่บางครั้งคนเราก็รู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างแสนจะเชื่องช้า บางคราวกลับรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วแสนเร็ว  และที่แน่นอนก็คือ เราไม่สามารถหยุดเวลาได้ ทุกอย่างยังคงดำเนินต่อไป ฉะนั้นแล้วถ้าอยากเปลี่ยน ถ้ารู้ว่าต้องเปลี่ยน อย่าคิดรอ อนาคตไทย อนาคตเรา เราก็ต้องสร้างขึ้นมา และเราเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้ เพราะการซื้อเวลา บางทีก็อาจสายไป.
คอลัมน์ : คิดอนาคต 
ประกาย ธีระวัฒนากุล
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
Facebook.com/thailandfuturefoundation