หน้าที่ที่เพิ่มขึ้นใหม่ของหอการค้า | สกล หาญสุทธิวารินทร์
ตามพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509 ได้ให้ความหมายของหอการค้าไว้คือ สถาบันที่บุคคลหลายคนจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้า การบริการ การประกอบวิชาชีพอิสระ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงินหรือเศรษฐกิจ อันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้แบ่งปันกัน
ประเภทของหอการค้า หอการค้ามี 4ประเภท คือ หอการค้าจังหวัด หอการค้าไทย หอการค้าต่างประเทศ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
หอการค้าจังหวัดจะจัดตั้งขึ้นได้จังหวัดละหนึ่งหอการค้า โดยหอการค้าจังหวัดในกรุงเทพมหานครให้เรียกว่าหอการค้าไทย ส่วนหอการค้าต่างประเทศจะจัดตั้งขึ้นได้เพียงประเทศละหนึ่งหอการค้า
หน้าที่ของหอการค้า
หน้าที่ของหอการค้าตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา38 คือ
1 ส่งเสริมการค้า การบริการ การประกอบวิชาชีพอิสระ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงินหรือ เศรษฐกิจโดยทั่วไป เช่น รวบรวมสถิติ เผยแพร่ข่าวสารการค้า วิจัยเกี่ยวกับการค้าและการเศรษฐกิจ ส่งเสริม การท่องเที่ยว การออกใบรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้า การวางมาตรฐานแห่งคุณภาพของสินค้า การตรวจสอบ มาตรฐานสินค้า จัดตั้งและดำเนินการสถานการศึกษาที่เกี่ยวกับการค้าและเศรษฐกิจ พิพิธภัณฑ์สินค้า การจัดงาน แสดงสินค้า การเป็นอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาททางการค้า
2 รับปรึกษาและให้ข้อแนะนำแก่สมาชิกเกี่ยวกับการค้า การบริการ การประกอบวิชาชีพอิสระ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงินหรือเศรษฐกิจ และช่วยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจของสมาชิก
3 ให้คำปรึกษาและเสนอข้อแนะนำแก่รัฐบาลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
4 ประสานงานในทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการค้ากับทางราชการ
5 ปฏิบัติกิจการอื่น ๆ ตามแต่จะมีกฎหมายระบุให้เป็นหน้าที่ของหอการค้า หรือตามที่ทางราชการมอบหมาย
ข้อห้ามมิให้หอการค้ากระทำตามที่กำหนดในมาตรา29คือ
(1) ประกอบวิสาหกิจโดยหอการค้านั้นเอง หรือเข้าดำเนินการในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิก หรือเข้ามีส่วน ถือหุ้น เป็นหุ้นส่วน หรือร่วมทุนในการประกอบวิสาหกิจกับบุคคลใด ๆ เว้นแต่ เป็นการถือตราสารหนี้ หรือเข้าถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่หอการค้า
(2) ดำเนินการด้วยประการใด ๆ ในอันที่จะกดราคาสินค้าหรือค่าบริการให้ตกต่ำเกินสมควร หรือทำให้ สูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดปั่นป่วนเกี่ยวกับราคาสินค้าหรือค่าบริการ
(3) ให้เงิน หรือให้กู้ยืมเงินแก่สมาชิกหรือบุคคลอื่นใด เว้นแต่เป็นการให้เพื่อการกุศลสาธารณะ หรือ ตามหน้าที่ศีลธรรม หรือตามควรแก่อัธยาศัยในสังคม หรือเพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงานของหอการค้า
(4) ดำเนินการด้วยประการใด ๆ เพื่อเพิ่ม ลด หรือจำกัดปริมาณการผลิต ปริมาณสินค้าที่จำหน่ายหรือ บริการอื่น และการดำเนินการดังกล่าวนั้นเป็นผลเสียหายแก่ตลาดการค้า การเงิน ภายในหรือภายนอกประเทศ หรือ เศรษฐกิจของประเทศ
(5) ดำเนินการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายการแข่งขันอันพึงมีตามปกติวิสัยของการประกอบ วิสาหกิจ เว้นแต่จะเป็นการปฏิบัติตามนโยบายหรือระเบียบของทางราชการ
(6) ดำเนินการด้วยประการใด ๆ อันอาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือต่อความ สงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(7) กีดกันหรือขัดขวางมิให้ผู้ใดซึ่งมีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกได้ตามข้อบังคับของหอการค้าเข้าเป็น สมาชิก หรือบังคับด้วยประการใด ๆ ให้เข้าเป็นสมาชิกโดยผู้นั้นไม่สมัครใจ หรือให้สมาชิกออกจากหอการค้าโดย เจตนาอันไม่สุจริต หรือขัดต่อข้อบังคับของหอการค้า
(8) เปิดเผยสถิติ เอกสาร หรือข้อความอันเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนได้เสีย โดยเฉพาะของสมาชิกผู้ใด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสมาชิกผู้นั้น
(9) ให้ หรือยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการดำเนินกิจการในหน้าที่ของกรรมการ เว้นแต่ผู้ซึ่ง คณะกรรมการมอบหมายตามมาตรา25
ตาม มาตรา 30 ห้ามมิให้หอการค้าแบ่งปันผลกำไรหรือรายได้ให้แก่สมาชิก หรือดำเนินการในทางการเมือง
การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหอการค้าพ.ศ.2509
ในปีพ.ศ.2563 กระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติหอการค้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ.....แก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติ หอการค้า พ.ศ.2509 มีหลักการคือ แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของหอการค้า (มาตรา28) แก้ไขบทบัญญัติข้อห้ามในการดำเนินงานของหอการค้า(มาตรา29) เพิ่มข้อยกเว้นให้หอการค้าสามารถประกอบการเพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ของหอการค้าได้ แก้ไขบทบัญญัติในการลงมติเลิกหอการค้า และปรับปรุงค่าธรรมเนียม
บัดนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย เป็นพระราชบัญญัติหอการค้า (ฉบับที่3) พ.ศ.2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564เป็นต้นไป สาระที่สำคัญคือ
แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา28 แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ.2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหอการค้า(ฉบับที่2) พ.ศ.2550 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของหอการค้า ที่ส่วนใหญ่เป็นไปตามมาตรา28เดิม แต่ได้จัดหัวข้อให้ชัดเจนขึ้น และเพิ่มหน้าที่ขึ้นใหม่บางประการ
หน้าที่ของหอการค้าที่เพิ่มขึ้นใหม่ คือ
หน้าที่ในการจัดทำและรับรองเอกสารที่ใช้ในทางการค้าระหว่างประเทศ การรับรองลายมือชื่อบุคคลในเอกสารตาม (3)
การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางการค้า ตาม( 6)
การทำความตกลงหรือความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ตาม(11)
การให้คำปรึกษาและให้ข้อแนะนำแก่สมาชิก ได้เพิ่มหัวข้อด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สตาร์อัพ และวิสาหกิจสมัยใหม่ด้วย ตาม(8)
ข้อห้ามมิให้หอการค้ากระทำการ
บทบัญญัติในมาตรา29 อันเป็นข้อห้ามมิให้หอการค้ากระทำการใดฯซึ่งมี9ข้อตั้งแต่(1)-(9) กระทรวงพาณิชย์เสนอแก้ไขเพิ่มเติม(1) อันเป็นข้อห้ามประกอบวิสาหกิจ โดยเพิ่มข้อยกเว้นให้ประกอบวิสาหกิจเพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ของหอการค้าได้ ตามร่างที่เสนอแก้ไขคือ
“ ( 1) ประกอบวิสาหกิจโดยหอการค้านั้นเอง หรือเข้าดำเนินการในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิกหรือเข้ามีส่วนถือหุ้นเป็นหุ้นส่วนร่วมทุนในการประกอบวิสาหกิจกับบุคคลใดใดทั้งนี้ไม่รวมถึง การถือตราสารหนี้หรือเข้าถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่หอการค้าหรือการดำเนินการเพื่อให้เป็นตามหน้าที่ของหอการค้าตามมาตรา 28”
แต่ข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรแก้ไขเป็น “(1)ประกอบวิสาหกิจโดยหอการค้านั้นเอง หรือเข้าดำเนินการในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิกหรือเข้ามีส่วนถือหุ้นเป็นหุ้นส่วนร่วมทุนในการประกอบวิสาหกิจกับบุคคลใดใดทั้งนี้ไม่รวมถึงการถือหุ้นที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่หอการค้า”
ตามบทบัญญัติของมาตรา29 (1) ดังกล่าว เป็นอันว่าหอการค้าไม่สามารถประกอบวิสาหกิจได้ แม้จะเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ตามมาตรา28 ยกเว้นการถือหุ้นที่มีผู้บริจาคหรือยกให้หอการค้าเท่านั้น.