DJSI กับ ความยั่งยืน | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
ปัจจุบัน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของ “ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์” (Dow Jones Sustainability Indices : DJSI) สูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 8 แล้ว
เมื่อ 26 ปีที่แล้ว ได้มีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญาสหประชาชาติว่าด้วย “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate Change) สมัยที่ 1 เกิดขึ้นครั้งแรก (ซึ่งเป็นที่มาของการประชุม “COP26” เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่เมืองกลาสโกว์) และเป็นที่มาของแนวความคิดเรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
การประชุม COP26 ครั้งนี้ ทำให้ประเทศต่างๆ ตื่นตัวมากในเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความอยู่รอดของโลก
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ถือว่าเป็นยุคของ การบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG (Environment, Social and Governance) ตลอดจนการลงทุนและการดำเนินการด้าน “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (SD: Sustainable Development) ซึ่งมีความสำคัญมากขึ้นทุกที
หลายปีก่อน เราจึงได้เห็นกิจกรรมที่แต่ละองค์กรดำเนินการด้วยสำนึกของ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” (Corporate Social Responsibility : CSR) และทำกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การบริจาคเงินและสิ่งของ การพาพนักงานไปทำกิจกรรมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจนอกสถานที่ การประกาศนโยบายที่แสดงให้สังคมได้รับรู้ว่าองค์กรของตนมีส่วนร่วมกับชุมชนและสังคม โดยองค์กรต่างๆ ทำการวัดผลการลงทุนและกิจกรรมต่างๆ ด้วยการเปิดเผยข้อมูลใน “รายงานประจำปี” ขององค์กร
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ข้อมูลสถิติและงานวิจัยทั่วโลก รวมทั้งอุบัติการณ์ต่างๆ ได้ปรากฏข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลว ในการควบคุมอุณภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียล ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านชีวภูมิศาสตร์ การเสื่อมถอยของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ การเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่ การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์และพฤติกรรมประชากร และที่สำคัญก็คือ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ได้สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวางทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดมาตรฐานการรายงาน และดัชนีต่างๆ ที่เป็นเสมือนเครื่องมือตรวจวัดสุขภาพด้าน ESG ขององค์กร เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้องค์กรหันกลับมาดูแลรากฐานขององค์กรตนเองให้เข้มแข็ง เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด และเติบโตในระยะยาว ควบคู่ไปกับการตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคประชาสังคมไปพร้อมๆ กัน
แม้ “ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์” จะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 แต่เพิ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดทุนไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นหัวเรือใหญ่ในการดำเนินการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพเข้าสู่การประเมินของ DJSI ดังกล่าว
ในแต่ละปีจะมีบริษัทฯ จดทะเบียนทั่วโลกจาก “61 กลุ่มอุตสหากรรม” ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมินผลการดำเนินการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามมารตรฐาน DJSI อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้องค์กรที่ไม่ได้รับเชิญสามารถสมัครเข้าทำแบบประเมินได้โดยสมัครใจอีกด้วย
คำถามในแบบสอบถามแบ่งออกเป็น 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย (1) ผลการดำเนินการด้านเศรษฐกิจ และธรรมาภิบาล (2) ผลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม และ (3) ผลการดำเนินการด้านสังคม
อีกทั้งมีอีกหนึ่งหมวดคำถามที่กระตุ้นเตือนให้บริษัททำการประเมินผลกระทบว่า กิจกรรมลงทุนต่างๆ ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวบริษัทเอง รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคสาธารณะหรือไม่
โดยทุกๆ ปีจะมีการเปลี่ยนแปลงคำถามหรือชุดข้อมูลที่ใช้ตอบประมาณร้อยละ 10-15 ตามความสนใจของนักลงทุน ตลอดจนภาคสาธารณะ และสภาวะการณ์เร่งด่วนที่กำลังอยู่ในกระแสความสนใจของโลก
ดังนั้น คุณค่าที่แท้จริงของการผ่านการประเมินดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์นี้ จึงไม่ใช่เพียงแค่ชื่อเสียงของบริษัทฯ หรือการอยู่ในความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก แต่เป็นการค้นพบทุนด้าน ESG ที่แฝงอยู่ในกระบวนการธุรกิจ ตลอดจนโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถในการเติบโตในระยะยาวขององค์กรเมื่อเทียบเคียงกับคู่แข่งในตลาดในแต่ละภูมิภาคและคู่แข่งในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ
วันนี้ ผมต้องขอแสดงควมยินดีกับ 25 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยที่ได้รับคิดเลือกให้เป็นสมาชิก “DJSI Emerging Market” และ 13 บริษัท ในกลุ่ม “DJSI World” ประจำปี พ.ศ.2564
ในปีนี้เป็นปีแรกที่ “บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA)” ได้รับการจัดอันดับในกลุ่มดัชนี DJSI World และ DJSI Emerging Markets โดยมี “บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)” และ “บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS)” ได้รับการจัดอันดับในกลุ่มดัชนี DISI Emerging Markets เป็นปีแรกเช่นกันด้วย
ทุกวันนี้ เราจึงพูดอย่างเต็มปากเต็มคำได้เลยว่า “ความสามารถของบริษัทไทยในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” ไม่แพ้ชาติใดๆ ในโลก ครับผม !