การใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19

การใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19

จากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่เริ่มในต้นปี2563 ซึ่งเป็นการระบาดรอบแรก บริษัทประกันภัยก็ได้ออกแคมเปญเชิญชวนให้ประชาชนทำ ประกันภัยโควิด -19

ปรากฏว่าประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลางปี 2563 ก็ไม่มีผู้ป่วยแล้ว บริษัทประกันภัยได้ประโยชน์ได้กำไรจากเบี้ยประกันเป็นกอบเป็นกำ เพราะจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่มาก                     
    ต่อมาในปี 2564  บริษัทประกันภัยก็ยังแข่งกันทำแคมเปญเชิญชวนให้ประชาชน ทำประกันภัยโควิด -19 ในรูปแบต่างๆ เช่น เจอ จ่ายจบ  แต่กลับปรากฏว่าการระบาดของโควิด -19 ระลอกใหม่ ที่ไวรัสกลายพันธุ์ มีความรุนแรง มีประชาชนป่วยติดโควิด-19 และถึงแก่ความตายมากกว่าการระบาดในปี 2563 

ทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวนมาก มีบริษัทประกันภัยสองรายประสบปัญหาไม่มีเงินจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ทำประกันภัยโควิด-19 จนถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการประกันภัย


 การบอกเลิกกรมธรรม์
ในการรับประกันภัยโควิด-19 มีบริษัทประกันภัยหลายแห่งได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทมีสิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ได้ เมื่อบริษัทมีภาระต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ป่วยหรือถึงแก่กรรมจากโควิด-19 จำนวนมากเป็นเงินหลายร้อยหลายพันล้านบาท ก็มีบริษัทประกันภัยบางแห่งแสดงท่าทีที่จะบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ที่ยังมีผลบังคับอยู่

โดยอาศัยเงื่อนไขในกรมธรรม์ที่ให้สิทธิบริษัทบริษัทประกันภัย บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด -19 เพื่อลดภาระในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกัน
จากการที่บริษัทประกันภัยบางแห่งแสดงท่าทีจะใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19ทำให้ประชาชนที่ทำประกันภัยโควิด-19 ไว้จำนวนมากเกิดความสับสนต่อความคุ้มครองที่จะได้รับและมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัทประกันภัย และเห็นว่าบริษัทประกันภัยเอาเปรียบ สร้างความเครียดความวิตกกังวลซ้ำเติมแก่ผู้เอาประกันภัยที่มีความวิตกและความเครียดจากการระบาดของโรคร้ายที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว 
    แต่อย่างไรก็ตามก็มีบริษัทประกันภัยหลายแห่งออกประกาศยืนยันว่า บริษัทของตน จะไม่บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ที่ได้รับประกันไว้ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนผู้ทำประกันภัยไว้ได้อย่างน่าชมเชย

 การดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้เอาประกันภัย

เพื่อความเป็นธรรมและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้เอาประกันภัยจากสถานการณ์การระบาดดังกล่าว และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและประชาชน รวมถึงเพื่อเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบธุรกิจประกันภัยโดยรวม  

การใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19

นายทะเบียนได้อาศัยอำนาจตามมาตรา29วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยพ.ศ.2435 ออกคำสั่งที่38/2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท ในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ลงวันที่16 กรกฎาคม พ.ศ.2564

สาระสำคัญของคำส่งดังกล่าว อยู่ที่ความในข้อ3 ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทสำหรับกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน และกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่บริษัทได้ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยก่อนวันที่มีคำสั่งนี้และยังคงมีผลใช้บังคับ เว้นแต่ปรากฏหลักฐานชัดเจนต่อบริษัทว่า ผู้เอาประกันภัยได้กระทำการทุจริต
                การออกคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าว มีผลให้ข้อความที่เป็นเงื่อนไขให้บริษัทประกันภัยมีสิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ถูกยกเลิกไป  บริษัทประกันภัยภัยจึงไม่อาจอาศัยข้อความนี้ บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด- 19

แต่ไม่ถูกตัดสิทธิกรณีที่ปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยกระทำการทุจริตหรือฉ้อฉลประกันภัยเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันภัยนี้ เช่นเจตนาให้ตนติดโควิด-19เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทน


ข้อพิจารณา
 มีข้อน่าศึกษาพิจารณาว่า นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ เป็นไปตามกฎหมายใด คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นการออกคำสั่งย้อนหลังเป็นโทษหรือเป็นผลร้ายต่อผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งนั้นหรือไม่
เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของมาตรา29 วรรคหนึ่งและวรรคสองของพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย ที่บัญญัติว่า 
กรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทออกให้ผู้เอาประกันภัย ต้องเป็นตามแบบและข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ รวมทั้งเอกสารประกอบหรือแนบท้ายกรมธรรม์ด้วย

แบบและข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบแล้วตามวรรคหนึ่ง เมื่อนายทะเบียนเห็นสมควรหรือเมื่อบริษัทร้องขอ นายทะเบียนจะสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหรือยกเลิกแบบ หรือข้อความนั้นบาง ส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ “               
จากบทบัญญัติของวรรคสอง นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ยกเลิกข้อความในแบบกรมธรรม์ที่ให้ความเห็นชอบแล้วทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้เมื่อเห็นสมควร
                     การเห็นสมควรของนายทะเบียนเป็นการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจออกคำสั่งทางปกครอง จึงมีข้อพิจารณาว่าอยู่ในขอบเขตที่มีเหตุสมควรด้วยความเที่ยงธรรมหรือไม่ 
                เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงการระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง 
    ประชาชนหวั่นเกรงว่าเมื่อติดโควิด-19 แล้วต้องเข้ารับการรักษา ที่แม้รัฐจะรับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษา แต่ก็ต้องหยุดการทำมาหากิน ขาดรายได้ และหากถึง แก่ชีวิตก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ จึงยอมจ่ายค่าเบี้ยประกันฝากความหวังไว้กับการทำประกันภัยโควิด-19 ที่บริษัทประกันภัยโฆษณาชักชวนไว้
 เมื่อการระบาดของโควิด-19 รุนแรงมีผู้ป่วยและเสียชีวิตมาก ทำให้บริษัทประกันภัยมีภาระต้องจ่ายค่าสินไหมมากขึ้น  การที่บริษัทประกันภัยจะอาศัยสิทธิตามเงื่อนไข ยกเลิกกรมธรรม์ เพื่อลดภาระของตนเอง จึงไม่เป็นธรรมกับประชาชนผู้เอาประกันภัย เข้าลักษณะเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้บริษัทประกันภัยได้เปรียบคู่สัญญา 
    คือประชาชนผู้เอาประกันภัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่ความผิดของประชาชนผู้เอาประกันภัย แต่เป็นความผิดพลาดในการประมินความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยเอง
การใช้ดุลพินิจของนายทะเบียนจึงเป็นไปโดยสมควรและเป็นธรรมแก่ประชาชน ผู้เอาประกันภัยโควิด-19 จำนวนหลายล้านคนอันถือได้ว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ


 เป็นการออกคำสั่งให้มีผลย้อนหลังหรือไม่
                  เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำของมาตรา29 วรรคหนึ่ง กรมธรรม์ที่บริษัทออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งก็คือกรมธรรม์ที่ออกไปแล้ว  อำนาจของนายทะเบียนที่จะสั่งให้แก้ไขหรือยกเลิกข้อความในกรมธรรม์ตามวรรคสอง ก็คือกรมธรรม์ตามวรรคหนึ่งที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย โควิด-19แล้ว  และคำสั่งดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่วันออกคำสั่ง มิได้ให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันก่อนวันออกคำสั่งแต่อย่างใด จึงไม่อาจถือว่าเป็นการออกคำสั่งให้มีผลย้อนหลัง