จุดกระแส "ส่งออก" ภาพยนตร์ไทยไปตลาดโลก ด้วย "Soft Power"

จุดกระแส "ส่งออก" ภาพยนตร์ไทยไปตลาดโลก ด้วย "Soft Power"

จับประเด็นร้อน จุดกระแส "ส่งออก" ภาพยนตร์ไทยไปตลาดโลก ด้วย "Soft Power"

เคยบอกเล่าเก้าสิบ ให้ท่านผู้อ่านทราบมาหลายครั้งแล้ว เกี่ยวกับการใช้ "ซอฟท์ พาวเวอร์" Soft Power ผลักดัน "ภาพยนตร์ไทย" ไปสู่ตลาดโลก เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่เห็นแอคชั่นจากรัฐบาลมากนัก

วันนี้ "น่าสนใจยิ่ง" กรณีเปิดโครงการ “คอนเทนต์ พิทชิ่ง” (Content Pitching) ธุรกิจภาพยนตร์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ที่มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน พร้อมด้วย มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เอกฉัตร ศีตวรรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นปริญญ์ พานิชภักดิ์ และจาฤก กัลย์จาฤก จากค่ายกันตนา

รมว.พาณิชย์ บอกว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว มีโอกาสไปร่วมงานภาพยนตร์ที่ลอสแองเจลิส และดูการผลิตงาน digital content ภาพยนตร์ Walt Disney Nickelodeon ซึ่งมีคนไทยทำงานอยู่ เกิดความรู้สึกเสียดายว่า จะสามารถช่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ digital content ของประเทศไทยได้ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ไปพิจารณา​การใช้ประโยชน์จากศักยภาพ เช่น การเชิญเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่เป็นครั้งๆ อันนี้คือสิ่งที่ได้ดำเนินการมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีการดำเนินการด้วยแผนที่ชัดเจนต่อเนื่อง 

"นโยบายสำคัญที่มอบหมายเป็นพิเศษนอกจากงานประกันรายได้เกษตรกรการส่งเสริม SME Micro SME ส่งเสริมการส่งออก จนทำตัวเลขสูงสุดในประวัติการณ์ท่ามกลางสถานการณ์ covid ทำให้ตัวเลขนำเงินเข้าประเทศ 8.5 ล้านล้านบาทเป็นบวกถึง+ 17.1 % เป็นเพราะทำงานร่วมกับเอกชนอย่างใกล้ชิดด้วยหลักรัฐหนุนเอกชนนำ โดยให้เอกชนเป็นพระเอกตัวจริงในการนำเอาธุรกิจภาพยนตร์และธุรกิจอื่นๆจากตลาดไทยไปสู่ตลาด" จุรินทร์ ระบุ

รองนายกฯย้ำว่า นโยบายสำคัญ คือ soft power กระทรวงพาณิชย์จะต้องเป็นผู้ที่ช่วยส่งเสริม soft power เพื่อที่จะทำให้ soft power ของไทยไปผงาดในตลาดโลกต่อไป ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งไม่ว่าจะเป็นเรื่องศิลปะวัฒนธรรมวิถีชีวิต โดยเฉพาะอาหารไทยเป็นที่เลื่องลือและยอมรับไปทั่วโลก และสิ่งที่มีความคุณค่ามากที่สุด คือ ความเป็นไทย ที่ไม่มีใครแย่งไปจากเราได้ ซึ่งนำไปขายได้ในทุกเรื่อง ทั้งในด้านการผลิตที่ละเอียดลออ งดงามและมีความรับผิดชอบ ในภาคบริการการท่องเที่ยวที่ไม่มีใครสู้เราได้ในโลก ซึ่งทั้งหมดนี้จะไปสู่โลกได้อย่างไร เราก็ทำมาเป็นลำดับและทำเป็นระบบชัดเจน มีกลไกรับผิดชอบยิ่งขึ้นที่ผ่านมา

"ต่อไปนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเป็นตัวหลักในการเป็น call center ในขณะที่กลไกรัฐไม่ได้ตั้งใครเป็นทางการ แต่ผมสั่งการให้เข้ามาเพราะกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบธุรกิจบริการ ดิจิตอลคอนเทนต์ ภาพยนตร์ และเราก็สนับสนุนการจัดภาพยนตร์นานาชาติมาหลายปีซึ่งก็ต่อเนื่อง" จุรินทร์ กล่าว (อ้างอิงจากพรรคประชาธิปัตย์)

ปี 2565 ซึ่งได้มอบหมายให้ดำเนินยุทธศาสตร์ soft power และในปีนี้จะทำกิจกรรม  ตั้งแต่มกราคมถึงธันวาคมเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องมีภาพที่ชัดเจนว่าไทยเราเดินหน้าไปได้อย่างไร ซึ่งกิจกรรมวันนี้เป็นกิจกรรมแรกของปี 65 ซึ่งเรามีผู้สร้างภาพยนตร์หรือเจ้าของภาพยนตร์หรือเจ้าของผลงานดิจิตอลคอนเทนต์ 15 ราย มาจับคู่เจรจาธุรกิจกับผู้ให้บริการสตรีมมิ่งความบันเทิงจำนวน 4 บริษัท คือ โอทีที ทีวี, เน็ทฟลิกซ์, วีทีวี, อ้ายฉีอี้ และวิว และหวังว่าภาพยนตร์ไทยจะมีโอกาสเข้าไปสู่ตลาดโลกผ่านช่องทางนี้

ส่วนของผู้สร้างภาพยนตร์นั้นก็ฝากการทำ content ทําเกม และทํา animation อย่าลืมใส่ Soft Power ขอให้ใส่ลงไปด้วยเพราะเป็นช่องทางที่นอกจากจะขายงานของผู้ผลิตแล้ว ยังเอาจุดแข็งของประเทศไปขาย เพื่อเราและเพื่อนคนไทยทั้งประเทศ และชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศในความเป็นคนไทยของเราต่อไปได้ ซึ่งเป็นนโยบายและขอฝากให้ช่วยเข้าไปดูด้วย

ทั้งนี้ จากการสำรวจภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนท์ไทยที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่ารวม 209,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นภาพยนตร์และทีวีกว่า 153,300 ล้านบาท ที่เหลือเป็นธุรกิจชมภาพยนตร์ออนไลน์ 36,000 ล้านบาท เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจของไทย และปีต่อไปจะทำให้บวกไปเรื่อยๆโดยเฉพาะการจับคู่ซื้อขายธุรกิจภาพยนตร์ digital content เกม อนิเมชั่น ที่ทดลองขายได้ไป 9,000 ล้านบาท และหวังว่าต่อไปอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% น่าจะทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 

กล่าวสำหรับ ผู้เขียนเอง ได้ฟังประกาศนโยบายของ "รองนายกฯจุรินทร์" ในวันนี้แล้ว รู้สึกเหมือนเป็นการ "จุดกระแส" ปลุกเร้าคนทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับผิดชอบหรือทำงานด้านนี้ เสมือนได้รับฟังทิศทางนโยบายของพรรคการเมืองใหญ่ อย่าง ประชาธิปัตย์ ไปในคราวเดียวกัน 

แน่นอนว่า การจะขับเคลื่อน "ซอฟท์ พาวเวอร์ ไทย" ให้เดินหน้านั้น ย่อมต้องแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เช่น กฎระเบียบต่างๆ ที่ทำให้งานโปรดักชั่นทั้งในและต่างประเทศที่เข้าไทยแล้ว ทำงานเกิดความล่าช้าหรือไม่สะดวกไว้ ต้องได้รับการสะสางเป็นภารกิจเบื้องแรก

อีกทั้ง การประสาน "นายทุน" โดยเฉพาะเจ้าของแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ระดับโลก มาพบแลกเปลี่ยนเจรจา สร้างโอกาส เปิดมุมมองเพื่อให้ภาพยนตร์ไทยถูกผลักดันเข้าสู่ตลาดโลก ย่อมสร้างบรรยากาศโอกาสธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เบื้องแรกเหมือนนโบายสร้างฝันแก่คนในวงการภาพยนตร์ก็ตามที แต่ถ้า "ลงมือทำ" ทุกฝ่าย เช่นตัวอย่างเกาหลีใต้มีให้ศึกษา ซึ่งไม่มากก็น้อย น่าจะมาถูกทาง น่าได้มากกว่าเสียแน่นอน.

 

บทความที่เกี่ยวข้อง