เปิดแผน “ออสเตรเลีย” ใช้ Green Hydrogen เป็นพลังงานทดแทน
“รัฐบาลออสเตรเลีย” มีนโยบายในการมุ่งลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (NET Zero) ภายในปี 2050 นับเป็นความท้ายทายยิ่งใหญ่
แน่นอนแผนการนี้ สอดรับกับแนวทางที่ได้หารือในที่ประชุมCOP26 ในปีที่ผ่านมา การนำกรีนไฮโดรเจนมาใช้เป็นพลังงานทดแทนถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสาขาสำคัญที่รัฐบาลออสเตรเลียให้ความสำคัญในลำดับต้น ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน
ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่จัดทำยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนระดับชาติขึ้นในปี 2019 ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้ออสเตรเลียเป็นประเทศผู้ส่งออกไฮโดรเจนชั้นนำของโลกในปี 2030
ในส่วนของรัฐบาล New South Wales ได้ถ่ายทอดยุทธศาสตร์มาจัดทำแผนการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนของรัฐ ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้เป็นผู้ผลิตไฮโดรเจนระดับนำของโลก และได้จัดทำโรดแมพที่ครอบคลุมทั้งวงจรเพื่อให้กรีนไฮโดรเจนสามารถเป็นทางเลือกด้านพลังงานสะอาด ตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยการสร้าง supply chain พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาบุคลากรและอุตสาหกรรมที่รองรับ รวมทั้งสร้างความต้องการในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หัวใจสำคัญที่จะทำให้แผนงานบรรลุเป้าหมายคือจะต้องสามารถผลิตไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานทางเลือกที่มีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลง และสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมหันมาใช้พลังงานปล่อยคาร์บอนต่ำแทนการใช้พลังงานรูปแบบเดิม เพื่อให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนลง 50% ในปี 2050
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มุขมนตรีแห่งรัฐฯ ได้แถลงนโยบายการผลิตกรีนไฮโดรเจนในรัฐ ซึ่งจะมีศูนย์กลางการผลิตอยู่ที่เขตฮันเตอร์และเขตอิลลาวาร์ร่า รัฐบาลได้อนุมัติงบกระตุ้นโครงการ 3,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยกำหนดเป้าหมายสำหรับปี 2030 เพื่อผลิต Green Hydrogen ได้ 110,000 ตันต่อปี สร้างยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน 10,000 คัน และให้ 20% ของยานพาหนะขนส่งขนาดใหญ่ของรัฐบาลเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฮโดรเจน
รัฐ New South Wales ใช้กลยุทธ์ 3 เสาในการพัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจน คือ เสาที่ 1 สร้างปัจจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นขั้นตอน เตรียมความพร้อม ศึกษาค้นคว้า วางแผนด้านการผลิต การจัดเก็บ การขนส่งของไฮโดรเจน พัฒนาแรงงาน ให้ทุนวิจัยนวัตกรรมใหม่ ๆ กำหนดกฎระเบียบและมาตรฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฮโดรเจน เสาที่ 2 วางรากฐานอุตสาหกรรม รัฐบาลจะให้เงิน สนับสนุนโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาปัจจัยสนับสนุนพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมไฮโดรเจนเพื่อรองรับการขยายตัว ในอนาคต เพื่อสร้างศูนย์กลางไฮโดรเจนที่เขตฮันเตอร์และอิลลาวาร์ร่า (Hydrogen hub initiative) สร้างสาธารณูปโภคด้านการผลิตไฮโดรเจน (Hydrogen production infrastructure) สร้างเครือข่ายสถานีเติมไฮโดรเจนและการขนส่งไฮโดรเจน (Hydrogen refueling corridor) และเสาที่ 3 มีโครงการสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมไฮโดรเจน โดยลดต้นทุนห่วงโซ่การผลิต เช่น ยกเว้นค่าไฟฟ้าให้ทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ปรับรูปแบบเพื่อรองรับ Net Zero โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดราคาไฮโดรเจน
รัฐบาลระดับรัฐได้จัดทำแผนเพื่อสร้างศูนย์กลางเทคโนโลยีพลังงานสะอาดของตนเองรองรับ เพื่อสร้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใน โดยมุ่งดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานสะอาดทดแทน ตามเป้าหมายของรัฐบาลกลาง ที่จะเป็นผู้ผลิตไฮโดรเจนและผู้ส่งออกพลังงานสะอาดชั้นนำในระดับโลกแทนอุตสาหกรรมถ่านหิน โดยในชั้นนี้ รัฐ New South Wales ได้เริ่มหารือกับญี่ปุ่นในเรื่องการร่วมลงทุนด้วยแล้ว
ในส่วนของไทย จะเป็นโอกาสให้พิจารณายุทธศาสตร์และแผนงานด้านการผลิตไฮโดรเจนของออสเตรเลียและรัฐบาล New South Wales ซึ่งอาจมีประเด็นที่ไทยสามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากออสเตรเลียได้ ซึ่งรัฐ New South Wales มีการวางแผนงาน ที่ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนให้สามารถทดแทนการใช้พลังงานรูปแบบเดิมได้ในต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งไทยอาจพิจารณาร่วมมือได้ในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์