วัคซีนโควิด-19 ยังจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจไทย | ดอน นาครทรรพ

วัคซีนโควิด-19 ยังจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจไทย | ดอน นาครทรรพ

มีคนถามผมว่า ไหนปีที่แล้วผมบอกว่าวัคซีน-19 เป็นความหวังของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ตอนนี้ประเทศไทยก็ฉีดวัคซีนไปเยอะมากแล้ว ไม่เห็นเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีตรงไหน

ปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1 ขณะที่เกือบทุกสำนักให้คาดการณ์การขยายตัวของปีนี้ไม่ถึงร้อยละ 4 ต่ำกว่าคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยไอเอ็มเอฟล่าสุด ที่ร้อยละ 4.4 อีก เท่ากับว่าตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าเศรษฐกิจโลกมาโดยตลอด
    ผมยังยืนยันคำพูดเดิม ว่าวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ถ้าปีที่แล้วเราไม่ได้รับวัคซีนเลย เศรษฐกิจไทยคงไม่พ้นหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่สอง และมีความเสี่ยงที่จะเห็นธุรกิจปิดตัวจำนวนมาก รวมถึงสถาบันการเงินล้มกันระเนระนาด

ที่สำคัญ ผมไม่เคยบอกว่าเศรษฐกิจไทยหลังมีวัคซีนในระดับหนึ่งแล้ว จะพุ่งทะยานทันตาเห็น แม้เราจะเห็นอย่างนั้นในหลายประเทศก็ตาม

ในภาษาเศรษฐศาสตร์ วัคซีนเป็นปัจจัยที่จำเป็น (necessary) แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่เพียงพอ (sufficient) ในการที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ความหมายก็คือ ต่อให้ปัจจัยสนับสนุนอื่นดีแค่ไหน ถ้าไม่มีวัคซีน เศรษฐกิจไทยก็ไปต่อไม่ได้ 

แต่การจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจ นอกจากวัคซีนแล้วต้องมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ซึ่งปัจจัยอื่นที่สำคัญในกรณีของไทย ได้แก่ นโยบายการเงินการคลังและระบบการเงินที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการกลับมาอย่างมีนัยของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

นับถึงวันนี้ การฉีดวัคซีนต่อเนื่องก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงว่าวัคซีนที่ประชากรไทยส่วนใหญ่ได้รับในช่วงแรกเป็น Sinovac ซึ่งถือว่าเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น เพราะเราไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก แต่ด้วยภูมิคุ้มกันจากการกระตุ้นของวัคซีนที่ขึ้นไม่สูงมากและถึงตอนนี้น่าจะแทบไม่เหลือแล้ว 

วัคซีนโควิด-19 ยังจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจไทย | ดอน นาครทรรพ

เท่ากับว่าคนที่ได้รับ Sinovac สองเข็ม มีความเสี่ยงไม่ต่างจากคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเลย (วัคซีนอื่นภูมิก็ลงเช่นกัน แต่ด้วยภูมิตั้งต้นที่สูงกว่า จึงยังมีภูมิเหลือมากกว่าบ้าง) จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่รัฐบาลรณรงค์ให้คนไทยฉีดเข็มที่สามกันถ้วนหน้า
 

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนติดต่อกันได้ง่ายมาก ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนใดมาก็ตามก็ยังติดเชื้อได้ ทำให้หลายคนไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นได้จริงหรือ ถ้ายังมีจำนวนคนติดเชื้อสูงต่อเนื่อง ในประเด็นนี้ ผมคิดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นตัวแปรที่มีความสำคัญน้อยกว่าความรุนแรงหลังการติดเชื้อ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว

ล่าสุด จะเห็นได้ว่าหลายประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดลงมาก ทั้งๆ ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงมาก บางประเทศมากกว่าช่วงปี 2563 ด้วยซ้ำ

เนื่องจากเขาประเมินแล้วว่ารอบนี้จำนวนผู้ป่วยหนักจะมีไม่มาก เพราะประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ซึ่งอาการไม่รุนแรงสามารถพักรักษาตัวที่บ้าน ระบบสาธารณสุขของเขาจึงสามารถรองรับได้

วัคซีนโควิด-19 ยังจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจไทย | ดอน นาครทรรพ

ข้อมูลจากเว็บ Our World in Data ชี้ชัดเจนว่าอัตราการตายจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐและประเทศอังกฤษในปัจจุบันนั้นต่ำมาก แม้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะสูงกว่าช่วงพีคสองปีที่แล้วกว่าสองเท่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยลงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การได้รับวัคซีนลดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อได้มาก

หากแนวโน้มผู้ป่วยหนักในหลายประเทศอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ผมคิดว่าในที่สุดแล้วคนส่วนใหญ่ในโลก (ที่ได้รับวัคซีนแล้ว) รวมถึงภาครัฐ จะคลายความกังวลกับโควิด-19 ลง เช่น รัฐบาลอังกฤษ ที่ล่าสุดยกเลิกข้อบังคับการสวมหน้ากาก และการกำหนดให้ผู้เดินทางเข้าประเทศต้องตรวจโควิดก่อน ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เศรษฐกิจไทยรอคอย

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกประเทศที่คิดแบบเดียวกัน จีนเป็นข้อยกเว้นที่สำคัญที่ยังคงคุมเข้ม ซึ่งหมายความว่าอาจจะเป็นเวลาอีกปีสองปีกว่านักท่องเที่ยวจีนจะได้รับไฟเขียวให้ออกมาเที่ยวนอกประเทศได้ แต่ด้วยความที่ปีที่แล้ว เราแทบไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเลย การที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวดีจากฐานที่ต่ำ เราไม่ได้ต้องการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่สูงมาก

ผมเคยคำนวณคร่าวๆ ว่า ถ้าปีนี้เราโชคดีมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 10 ล้านคน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ หากกฎเกณฑ์การเดินทางระหว่างประเทศผ่อนคลายลง และนักท่องเที่ยวมีความมั่นใจมากขึ้น แม้ในปีนี้จะไม่มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเลยก็ตาม เศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ถึงร้อยละ 5

ดังนั้น การรักษาโมเมนตัมของการฉีดเข็มสามให้ต่อเนื่อง รวมถึงการเก็บตกผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย ต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และอาจจะเป็นมาตรการที่มีต้นทุนน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับมาตรการอื่นๆ

ในระยะยาว ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือ วัคซีนโควิด-19 ไม่ใช่ฉีดเข็มสามแล้วจบ ในกรณีที่ดีที่สุดที่โควิด-19 สุดท้ายกลายเป็นโรคประจำถิ่น เราคงยังต้องฉีดวัคซีนกันทุกปีแบบเดียวกับไข้หวัดใหญ่ การจัดหาวัคซีนในปริมาณที่เพียงพอในระยะยาว และหลากหลายประเภททางเลือก จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย.
ผู้เขียน :
ดร.ดอน นาครทรรพ นักเศรษฐศาสตร์
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค 
ธนาคารแห่งประเทศไทย