โจทย์ใหญ่ 5 ข้อต้องรีบตอบในครึ่งปีแรก | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
ท่ามกลางสัญญาณบวกนี้ ก็ยังมีโจทย์อีกหลายข้อที่เราต้องคิดให้ตก สำหรับช่วงครึ่งแรกของปีนี้มี โจทย์ใหญ่ 5 ข้อ ที่จำเป็นต้องมีคำตอบ
แม้ว่าตอนนี้เรายังต้องยกการ์ดสูงไม่ให้เสียท่าโควิด แต่ดูเหมือนว่าคนไทยสามารถกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับชีวิตปกติได้มากขึ้นกว่าปีก่อน ซึ่งเป็นสัญญาณบวกระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามยังมีโจทย์อีกหลายข้อที่เราต้องคิดให้ตก
โจทย์แรก เรารู้หรือยังว่ากลุ่มเสี่ยงใหม่เป็นใคร กลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มที่มีความเปราะบางในบางมิติ สามารถระบุได้ด้วยปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ เช่น เด็ก ผู้ยากไร้ สตรี หรือผู้สูงวัย
สำหรับกลุ่มเสี่ยงใหม่ ความเปราะบางมีความซับซ้อนมากกว่านั้นเพราะเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุพร้อมกัน จึงไม่สามารถกำหนดให้เข้ากลุ่มตามแนวคิดเดิมของกลุ่มเสี่ยงได้
เช่น พ่อที่ตกงานตอนโควิด เลยต้องไปทำงานรับจ้างไกลจากบ้าน หากบ้านอยู่ในทำเลแออัดโอกาสจะเกิดอาชญากรรมก็มีสูง การออกไปทำงานแต่ละวันไม่มีหลักประกันว่าวันต่อไปจะมีงานอีกหรือไม่ จึงมีความเสี่ยงด้านรายได้และการมีงานทำ การเดินทางไกลย่อมมีความเสี่ยงประสบอุบัติเหตุ
การที่พ่อออกไปทำงานแต่เช้า เด็กและผู้สูงวัยในบ้านก็ต้องเจอกับความเสี่ยงจากการโจรกรรม การล่วงละเมิดทางเพศ หรือเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่มีใครคอยดูแลช่วยเหลือได้ทันท่วงที นี่คือตัวอย่างของหนึ่งในหลายรูปแบบของกลุ่มเสี่ยงใหม่ ถ้าเราไม่สามารถระบุกลุ่มเสี่ยงใหม่ได้ครอบคลุมมากพอ ก็มีโอกาสสูงที่คนเหล่านี้จะไม่ได้รับการดูแลคุ้มครองเท่าที่ควร
โจทย์ที่สอง การสร้างความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ในโลกที่ไม่มีการจ้างงานถาวรจะเกิดขึ้นได้อย่างไร โควิดทำให้ธุรกิจปรับรูปแบบในการทำธุรกิจด้วยการลดต้นทุนคงที่ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับกำลังซื้อที่ผันผวนกว่าเดิม
จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจบางแห่งเริ่มมองว่าการจ้างพนักงานประจำเป็นภาระ เลยเปลี่ยนการจ้างงานรายครั้ง นั่นหมายความว่า คนทำงานส่วนหนึ่งจะไม่มีงานทำเป็นประจำ และเนื้องานที่ทำในแต่ละช่วงเวลาอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นมีงานอะไร
ในสถานการณ์เช่นนี้ ความมั่นคงทางอาชีพจึงไม่ใช่การมีงานประจำทำ แต่เป็นการมีงานไม่ประจำทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีรายได้มากพอในการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสมตามอัตภาพ จำนวนผู้มีงานทำจึงไม่สำคัญเท่ากับจำนวนครั้งที่มีงานทำของแรงงาน เมื่อโมเดลการจ้างงานเปลี่ยนไป โมเดลการพัฒนากำลังคนทั้งที่อยู่ในตลาดแรงงานและที่กำลังอยู่ในระบบการศึกษาก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย
โจทย์ที่สาม ทำอย่างไรถึงจะป้องกันไม่ให้บาดแผลด้านการเรียนรู้กลายเป็นความเสียหายถาวรของเด็กด้อยโอกาส เรารู้กันแล้วว่าการเรียนออนไลน์ทำร้ายเด็กด้อยโอกาสที่ขาดความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และความรู้พื้นฐาน การเปลี่ยนกลับไปเรียนออนไซต์ทันที กลับเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้นไปอีก เพราะการกลับไปเรียนโดยไม่มีการเยียวยาด้านความรู้ เพื่อให้นักเรียนพร้อมกับการเรียน ยิ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียความรู้สะสม
ความรู้ที่หายไปช่วงโควิด ทำให้การเรียนหลังจากนี้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เราควรทำอย่างไรถึงจะป้องกันไม่ได้เรื่องนี้เกิดขึ้นนานจนเกินไป ไม่ให้กลายเป็นความเสียหายถาวรของเด็ก
โจทย์ที่สี่ จะช่วยให้ธุรกิจที่บอบช้ำลุกขึ้นยืนขึ้นมาให้เร็วและยั่งยืนได้อย่างไร ธุรกิจของคนตัวเล็กตัวน้อยคือกลุ่มที่เจ็บหนักที่สุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หากไม่ช่วยธุรกิจเหล่านี้ให้แข็งแรงพอ ปล่อยให้สู้ไปตามบุญตามกรรม แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว พวกเขาก็ไม่มีทางกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ไม่ต่างอะไรกับการเอาคนป่วยไปวิ่งแข่งกับคนแข็งแรง ต่อให้เริ่มต้นพร้อมกัน ออกตัวไปแค่นิดเดียวก็จะโดนทิ้งห่างไปหลายช่วงตัว เศรษฐกิจที่เข้มแข็งจากเนื้อใน คือ เศรษฐกิจที่คนตัวเล็กตัวน้อยมีที่ยืน มีความมั่นคง และมีโอกาสได้เติบโต ช่วง 5 เดือนหลังจากนี้เราจะทำแบบนี้ได้ยังไง
โจทย์ที่ห้า เมื่อเบรกค่าครองชีพไม่ได้ ทำยังไงรายได้ของคนไทยจึงจะเพิ่มเท่ากับหรือเร็วกว่าค่าครองชีพ ค่าครองชีพขึ้นแล้วไม่ค่อยอยากจะลง ส่วนรายได้นั้นชอบลงไม่ค่อยจะขึ้น การสร้างกลไกที่ช่วยให้รายได้วิ่งเท่ากับหรือเร็วกว่าค่าครองชีพจึงเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับประเทศไทย กลไกที่ว่าควรมีหน้าตาแบบไหน นี่เป็นคำตอบที่ควรจะออกมาให้เร็วที่สุด
จริงๆ แล้วมีอีกหลายเรื่องที่ต้องแก้ แต่โจทย์พวกนั้นยังพอรอได้ ช่วง 5 เดือนข้างหน้าหากจัดการกับ 5 ข้อนี้ได้ โจทย์อื่นที่เหลือก็แก้ได้ไม่ยากแล้ว.
คอลัมน์ : หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์