เส้นทางเติบโต “The Corporate Startup” | ต้องหทัย กุวานนท์
เดือนธันวาคมที่ผ่านมา สภาหอการค้านานาชาติ (ICC) ที่มีสมาชิกเป็นองค์กรธุรกิจทั่วโลกในกว่า 100 ประเทศ ได้ประกาศรางวัล “Corporate Startup Stars” ประจำปี 2021 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบแก่องค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมแบบเปิด
งานนี้ที่จัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีองค์กรธุรกิจจากทั่วโลกที่ได้รับรางวัลทั้งหมดกว่า 50 องค์กร บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนนวัตกรรมร่วมกับพันธมิตรภายนอก คือ Pfizer โดยอีกสองบริษัทที่ได้รับคะแนนรองลงมาคือ AXA และ Xiaomi
สำหรับองค์กรที่ถือว่าเป็นดาวเด่นของการสร้างนวัตกรรมแบบเปิดอย่าง Pfizer, AXA, และ Xiaomi ต่างมีจุดเริ่มต้นที่เหมือนกันนั่นคือ 1) วางกลยุทธนวัตกรรมองค์กรในรูปแบบของ Open Innovation ที่เปิดกว้างและปลดล็อคข้อจำกัดด้านการแข่งขัน
2) สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจควบคู่ไปกับแผนการลงทุนร่วมกับบริษัทพันธมิตร 3) สร้างผู้ประกอบการภายในองค์กรและมีหน่วยงานที่เป็น “Venture Builder” ที่พร้อมจะจับคู่นวัตกรรมภายในองค์กรกับพันธมิตรภายนอกไม่ว่าจะเป็นกับสตาร์ทอัพหรือนักลงทุน
Pfizer ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Corporate Startup
การขับเคลื่อนนวัตกรรมของ Pfizer ในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับบริษัทสตาร์ทอัพอย่าง BioNTech เพื่อนำเอาเทคโนโลยี mRNA ไปใช้พัฒนาวัคซีน Covid-19 จนประสบความสำเร็จ
หรือการ spin-off หน่วยงานวิจัยและพัฒนายา อย่าง Springworks Therapeutics และ Cerevel Therapeutics ที่เป็นเหมือนสตาร์ทอัพภายในองค์กร ออกไประดมทุนจากนักลงทุนและร่วมมือกับพันธมิตรนอกองค์กร จนธุรกิจเติบโตและสามารถเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq กลายเป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าการก้าวออกจากกรอบการเติบโตแบบเดิมๆ คือการปลดล็อคองค์กรสู่โอกาสใหม่ที่ไร้ขีดจำกัด
ในทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นความสำเร็จของการปั้นสตาร์ทอัพภายในองค์กรให้เดินไปสู่ IPO หรือระดมทุนในสเกลใหญ่ เกิดขึ้นได้จริง และได้กลายเป็นวิถีของการขับเคลื่อนนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation)
หลายองค์กรตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า “Venture Builder” ขึ้นมาเพื่อบ่มเพาะไอเดียนวัตกรรมจากภายในองค์กรและแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรภายนอก ไม่ว่าจะเป็น จากสตาร์ทอัพหรือบริษัทร่วมทุน
เส้นทางการเติบโตขององค์กรในรูปแบบนี้กำลังเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ในกลุ่ม Fintech เราได้เห็น OVO ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นหน่วยธุรกิจ ที่พัฒนาระบบ Payment Services ภายใต้เครือ Lippo Group ในอินโดนีเซีย ก้าวไปสู่การเป็นยูนิคอร์น เป็นผู้นำในธุรกิจ Payment และ e-Wallet ด้วยเส้นทางการระดมทุนและร่วมเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพยักษ์ใหญ่ทั้งในกลุ่ม Delivery และ E-commerce ไม่ว่าจะเป็น Grabม, Tokopedia, Lazada
ล่าสุดถูกซื้อกิจการและกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Grab ในการบุกตลาด Fintech ในอินโดนีเซีย หรือกระทั่งในบ้านเราเอง บริษัทในเครือของแบงค์ยักษ์ใหญ่อย่าง SCB Abacus ผู้ให้บริการแอพพลิเคชันสินเชื่อออนไลน์ ก็ปิดดีลระดมทุนในรอบ Series A ไปกว่า 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 400 ล้านบาท จาก VC ต่างชาติ
ในมุมมองของนักลงทุนการปลดล็อคข้อจำกัดของ “Corporate Startup” ที่เคยมีในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างธุรกิจ โครงสร้างผู้ถือหุ้นและการระดมทุนจากภายนอก กำลังจะทำให้ “Corporate Startup” เป็นเป้าหมายการลงทุนที่น่าดึงดูดใจ
ข้อได้เปรียบเรื่องความเข้าใจในอุตสาหกรรม เครือข่ายทางธุรกิจ และ ความมั่นคงเชิงโครงสร้างและการจัดสรรทรัพยากร ไม่เพียงแค่ลดความเสี่ยงในการลงทุนแต่จะเป็นตัวเร่งที่จะช่วยทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด.
คอลัมน์ : Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม