อย่าปล่อยให้เป็น Nowhere Generation | บวร ปภัสราทร
มีข้อคิดสำคัญ สำหรับการหาที่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยจากบ้านอื่นเมืองอื่น ที่พ่อแม่ควรใส่ใจกันให้มากในวันนี้
มีหนุ่มสาวที่เรียนจบมหาวิทยาลัยที่อินเดียจำนวนมากทีเดียว ที่ผิดหวังกับอนาคตของตนเองที่เล่าเรียนจนจบ แต่กลับหาการงานทำตามระดับคุณวุฒิของตนเองไม่ได้ งานในภาครัฐเองก็แข่งขันกันสูงมาก ส่วนใหญ่เลยต้องยอมทำงานในระดับที่ต่ำกว่าคุณวุฒิ จะหันไปเริ่มกิจการของตนเองก็ไม่มีทุน เส้นสายการตลาดก็น้อยนิด
หนุ่มสาวกลุ่มนี้เลยเรียกตนเองว่า Nowhere Generation คือไม่รู้จะไปทางไหน ตกงานนานวันเข้าไม่ใช่แค่เรื่องเงินทองมากินมาใช้ แต่ลามไปถึงความเชื่อมั่นในตนเอง และความสิ้นหวังของครอบครัว Nowhere Generation จึงเป็นความเสียหายที่จะอยู่ยาวนานไปในอนาคต
ถ้าเกิดขึ้นในบ้านเราคงไม่ดีแน่ ๆ ซึ่งไม่แน่ใจว่าวันนี้ต่างไปจากอินเดียมากน้อยแค่ไหน ถ้าดูจากการแข่งขันสอบเข้ารับราชการที่มีไม่กี่อัตรา แต่คนมาสมัครกันเป็นร้อย ดังนั้นจะให้ลูกเล่าเรียนในวันนี้ คนเป็นพ่อแม่ต้องช่วยคิดมากกว่าวันก่อนที่บ้านเมืองยังโชติช่วงชัชวาล เรียนอะไรไปก็มีงานทำ
ในบ้านเรามีหลักสูตรปริญญามากมายที่เปิดสอนทั้ง ๆที่ไม่แน่ชัดว่าจะมีตลาดแรงงานรองรับ คนสอนก็สอนกันไปทั้ง ๆที่รู้ดีว่าไม่มีงานให้ทำ หรือมีงานเพียงน้อยนิด ผู้บริหารก็ยังทำการตลาดเชิญชวนให้มาเรียนกันเยอะ ๆ โดยไม่ได้หาหนทางช่วยเรื่องการงานในระดับความรู้ที่เรียนมา จ่ายแพงแต่ไม่รับรองว่าจะได้งานทำ
บางทีก็มีหลักสูตรที่ชื่อดูดี แต่สาระไม่ได้เป็นไปตามชื่อที่บอกไว้ หลักสูตรที่มีคำว่า นวัตกรรม มีเปิดสอนกันมานานนับสิบปี แต่จนถึงวันนี้ก็แทบไม่เห็นอะไรที่เป็นนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริงจังแต่ประการใด บางทีก็บอกว่าเล่าเรียนในสถานประกอบการเพื่อให้ได้ประสบการณ์ทำงานจริง แต่พอจบแล้วสถานประกอบการนั้นก็ไม่ได้รับเข้าทำงาน
หางานจริงที่อื่นก็ไม่ง่ายเพราะระบบงานไม่เหมือนกัน ดังนั้นก่อนจะส่งเสียให้ลูกเรียนอะไร พ่อแม่ต้องหาข้อมูลให้ถ่องแท้ ให้แน่ใจว่าที่บอกไว้นั้นเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ความฝันของคนสอน ถามผู้รู้ในวงการให้มั่นใจก่อนว่าลูกหลานเราเรียนจบแล้วจะไม่กลายเป็น Nowhere Generation
สังคมบ้านเรา นกไม่ขน คนไม่มีเพื่อนไปไหนได้ไม่ไกล จะให้ลูกเรียนอะไรให้คิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถ้าไม่ถึงขั้นอุดมคติสุดขั้ว คงยอมรับว่าเพื่อนและสถาบันที่ได้เพื่อน ได้รุ่นพี่รุ่นน้องยังมีผลกับความสำเร็จของการงานในบ้านเรา ปริญญาจะสำคัญหรือไม่สำคัญไม่รู้ แต่เพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ยังสำคัญกับการงานแน่ ๆ ขนาดอยู่คนละขั้วการเมืองยังมาไล่รุ่นกันว่าคนไหนจบรุ่นไหน
ความรู้ที่เรียนกันไปอาจช่วยให้ประสบความสำเร็จในการงานได้ในระดับหนึ่ง แต่ทัศนคติและพฤติกรรมที่ดีในการทำงานร่วมกับคนอื่น เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ถ้าลูกอยากเข้าไปเรียนที่ไหน ให้ช่วยดูด้วยว่ามีโอกาสร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์กับเพื่อน กับรุ่นพี่รุ่นน้อง มีกิจกรรมนานาชาติกว้างไกลแค่ไหน เครือข่ายยิ่งกว้าง โอกาสได้งานการที่ประสบความสำเร็จในอนาคตก็มากตามไปด้วย มียอดฝีมือในห้องแลปตอนเรียน ตกกระป๋องตอนทำงานเยอะแยะ
โลกกำลังเดินหน้าไปสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้นขอให้พยายามเก่งดิจิทัลอะไรสักอย่างในวงการนั้นให้ได้ ไม่ได้บอกว่าต้องไปเป็นโปรแกรมเมอร์กันทุกคน แต่ให้รู้จักดิจิทัลในเรื่องที่เรียนนั้นจนใช้งานได้จริง ๆ เรียนการตลาดอย่างน้อยก็ใช้ SaleForces ให้เป็นก่อนเรียนจบ ที่ไหนไม่มีคนสอนที่เก่งดิจิทัลในวงการนั้นจริง ๆ อย่าเสียเงินทองไปเรียนดีกว่า
โลกมีความท้าทายใหม่ ๆเกิดขึ้นตลอด ผู้บริหารก็มีทั้งที่เก่งจริง ๆ และที่ทำเป็นเก่ง หลักการก็มีทั้งที่ใช้จริงและแกล้งใช้ ดังนั้นจะเรียนที่ไหน ต้องมั่นใจว่าเมื่อเรียนจบแล้วต้องมีความสามารถในการทนสู้กับสารพัดเรื่องย่ำแย่ให้ได้ ล้มแล้วต้องลุกขึ้นมาสู้ใหม่ได้เองเสมอ ไม่งั้นความรู้ท่วมหัวก็ยังเป็น Nowhere Generation อยู่ดี
คอลัมน์ : ก้าวไกล วิสัยทัศน์
รศ.ดร.บวร ปภัสราทร
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี