เทียบชัด รร.สาธิตธรรมศาสตร์ VS รร.กรุงเทพคริสเตียน
ข่าวการตรวจสอบหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ว่าแท้จริงแล้วมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์นั้นทำให้สังคมกลับมาสนใจประเด็นหลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาไทยอีกครั้ง
โควิด-19 นั้นเสมอเสมือนตัวกระตุ้นให้หลายปัญหาและประเด็นในสังคมที่เคยถูกมองข้ามหรือซุกไว้ใต้พรมกลับขึ้นมาโดดเด่นขึ้น และหนึ่งในนั้นก็คือประเด็นเรื่องของการศึกษาไทย เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองจำต้องใช้เวลากับลูกหลานมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ปิดเมือง การเข้ามามีส่วนร่วมในกับการเรียนของบุตรหลานจึงทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยเนื้อหาหลักสูตรและคุณภาพการสอน
มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักสูตรกลางของกระทรวงศึกษาธิการมาอย่างยาวนานในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการปรับหลักสูตรวิชาสามัญ วิชาเลือกให้เท่าทันโลกสะท้อนรับกับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน หรือประเด็นที่ใหญ่ขึ้นในเชิงโครงสร้าง อาทิ การให้ความสำคัญและการปรับทัศนคติต่อหลักสูตรสายวิชาชีพที่เน้นการพัฒนาแรงงานมีฝีมือเข้าสู่ตลาดแรงงานสะท้อนกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่หลักสูตรของสายสามัญที่เราเห็นในโรงเรียนทั่วไปนั้นพูดได้ว่าแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากอดีตเลย จะมีช่องว่างให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สนับสนุนความหลากหลายหน่อยก็ตรงวิชาเลือกหรือชมรมต่างๆ ซึ่งสะท้อนความต้องการและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก
ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรหรือการนำแนวคิดใหม่เข้ามาปรับใช้กับหลักสูตรเดิมนั้นๆ มีความท้าทายอย่างมากและส่วนใหญ่ก็จะได้รับแรงเสียดทานจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น กรณีของโรงเรียนสาธิต มธ. หรือในอดีตอย่างโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นต้น
สิ่งที่น่าสนใจของสองโรงเรียนนี้ นอกจากหลักสูตรที่น่าสนใจทันสมัยเท่าทันโลกตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนและตลาดแรงงานแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ อาทิ ประเด็นการแต่งกายแบบฟรีสไตล์ซึ่งก็เคยตกเป็นประเด็นที่สังคมจับตามองมาแล้ว
หาก รร.สาธิตมธ. มีวิชาอยู่รอดปลอดภัย วิชาวัยรุ่นศาสตร์ วิชารู้ทันการเงิน วิชาเสพย์ศิลป์และกลิ่นเสียง วิชารู้เท่าทันสื่อ วิชาผู้ประกอบการ รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ ก็มีวิชาออกแบบตกแต่งภายใน วิชากราฟิกดีไซน์ วิชาภาษาอังกฤษจากภาพยนตร์ Netflix วิชาการเขียนบทภาพยนตร์เบื้องต้น วิชาการแสดงพื้นฐาน วิชา Artificial Intelligence (เอไอ)
ต้นน้ำที่ทำให้โรงเรียนอายุร้อยกว่าปีอย่างกรุงเทพคริสเตียนกับโรงเรียนเกิดใหม่อย่างสาธิตมธ. มีความคล้ายคลึงกันคือวิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้าทันโลกของผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครองและนักเรียนที่พร้อมจะเรียนรู้ลงเล่นในสนามทดลองวิชา sandbox เหล่านี้ และที่สำคัญที่สุดคือทรัพยากร เพราะหากสาธิตมธ. มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หนุนหลังแล้ว กรุงเทพคริสเตียนก็มีทุนทรัพย์และศิษย์เก่าที่มีเครือข่ายอันกว้างขวางสนับสนุน
ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมการเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านชมรมหรือชุมนุมต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นการบ่มเพราะอัจฉริยะในด้านต่างๆ ชมรมเป็นที่รวมกันของกลุ่มนักเรียนที่มีความสนใจตรงกัน ดังนั้นทักษะความรู้จึงไม่เพียงพอกพูนเพิ่มเติมเสมือนน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเท่านั้น และหากถูกเสริมศักยภาพโดยโรงเรียนด้วย นั่นคือกุญแจในการผลิตอัจฉริยะ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดที่สุด ก็เช่น ชมรมหุ่นยนต์ในโรงเรียนเอกชนชั้นนำหลายแห่งที่ปัจจุบันเป็นที่รวมตัวกันของแชมป์ประกอบควบคุมหุ่นยนต์ระดับเอเชีย
การเปลี่ยนแปลงนั้นมีความท้าทายในตัวมันเองและย่อมนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ วิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มองการณ์ไกล และความแน่วแน่ตั้งใจทำผลงานออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดี ได้ทั้งผลงานและอาจจะได้ใจคนที่เคยเห็นต่างเสียด้วยซ้ำ